นานกว่า 2 ปีแล้ว ที่ “แตงโม” ภัทรธิดา พัชระวีรพงษ์ อดีตนักแสดงชื่อดัง พลัดตกเรือเสียชีวิตกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางปมปริศนาต่างๆ แม้ในปี 2566 ศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินจำคุกผู้เกี่ยวข้องในคดี 2 คน และได้มีการเยียวยาชดเชยค่าสินไหมทดแทนให้กับมารดาผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจแล้ว แต่ยังมีปริศนาคาใจ จากภาคสังคมที่หวังดี จนนำไปสู่เหตุการณ์จำลองอีกครั้ง เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.2558)
แม้ว่าการจำลองเหตุการณ์ในครั้งนี้ จะไม่มีผลต่อรูปคดี เนื่องจากศาลจังหวัดนนทบุรี จะนัดสืบพยานนัดสุดท้าย 29 ม.ค.2568 นี้ ก่อนจะพิพากษาชี้ชะตา 4 จำเลย คือ "แซน" วิศาพัช มโนมัยรัตน์, "กระติก"หรือ อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ , "จ๊อบ" นิทัศน์ กีรติสุทธิสาธร และ "เอ็มศรี" หรือ ภีม ธรรมธีร

อัจฉริยะ ร้องดีเอสไอ คลายปมพิรุธ “แตงโม”ตกเรือ
อาสาสมัครหญิง 6 คน ร่วมจำลองเหตุการณ์ อดีตดาราสาวพลัดตกเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา คัดเลือกจากผู้ที่มีรูปร่าง ส่วนสูงและน้ำหนัก ใกล้เคียงกับ “แตงโม” หรือ น.ส.ภัทรธิดา ซึ่งสถานการณ์จำลองทำขึ้นในขณะที่เรือสปีดโบต แล่นอยู่ในแม่น้ำ ด้วยความเร็ว 8 น็อต หรือประมาณ 14.816 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามความเร็วที่ปรากฏในเหตุการณ์จริง

นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานมูลนิธิชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยว่า การจำลองเหตุการณ์ขึ้นมา เพื่อให้สังคมได้เห็นว่า การตกจากเรือ บริเวณส่วนท้ายเรือ ตามคำให้การของเพื่อนร่วมโดยสารบนเรือทั้ง 5 คน จะไม่ถูกดูดเข้าใต้ท้องเรือและยากต่อการเกิดบาดแผลฉกรรจ์ เพราะถูกใบพัดเรือบาด
ซึ่งข้อมูลที่ได้เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2558 จะมอบให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ประกอบ การพิจารณาในข้อร้องเรียนที่ได้ร้องขอต่อกระทรวงยุติธรรม ก่อนหน้านี้ เพื่อให้ตรวจสอบข้อ เท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะทำงานในคดีการเสียชีวิตของน.ส.ภัทรธิดา หรือ แตงโม
โดยวันนี้ (17 ม.ค.68) จะร้องทุกข์กล่าวโทษคณะทำงาน ตั้งแต่อดีต ผบ.ตร. ตำรวจภูธรภาค 1 ตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี และผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดี ในข้อหาร่วม กันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือร่วมกันทุจริต และร่วมกันช่วยเหลือคนบนเรือทั้ง 5 คนให้พ้นผิดหรือรับโทษน้อยลง อีกทั้งยังมีคนบนเรืออีก 5 คนให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมระบุว่า ตามคำร้องทุกข์กล่าวในคดีนี้ ต้องส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อ
“แซน วิศาพัช” จำเลยคดีประมาทฯ แย้งไม่เหมือนจริง
สำหรับคดีการเสียชีวิตของ “แตงโม” ขณะนี้มีจำเลยในคดีกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 4 คน และ วิศาพัช หรือ แซน เป็น 1 ในนั้น หลังรับรู้ว่า นายอัจฉริยะ จัดจำลองเหตุการณ์ แตงโม ตกเรือ ได้ให้ความเห็นว่า
“เหตุการณ์ที่จำลองขึ้นมา ไม่ตรงกับลักษณะการตกเรือของแตงโม ตามที่ได้ให้การไว้ในชั้นศาล แซน ให้การชัดเจนว่า ทันทีที่ตกจากเรือแตงโม ได้เกาะท้ายเรือไว้ประมาณ 10 วินาที ก่อนมือจะหลุดออกจากเรือไป ไม่ใช่การตกเรือในลักษณะดีดออกจากเรือตามที่จำลองเหตุการณ์กัน”

ขณะที่ นายพรศักดิ์ วิภาสอาภานนท์ ทนายความของ แซน วิศาพัช ให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า หากทำเพื่อต้องการนำพยานหลักฐานใหม่ เข้ามาใช้เพื่อนำไปรื้อฟื้นคดีนั้น ต้องเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่มีอยู่ในสำนวนคดีเดิม และต้องเป็นหลักฐานที่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ใช่การสร้างหลักฐานขึ้นมา ส่วนการรื้อฟื้นคดีจะต้องมีการรับรองการแจ้งข้อกล่าวหาและจำเลยไม่ลงข้อต่อสู้คดีในชั้นศาล
ทนายเดชา ฝ่ายผู้เสียหาย ชี้ไม่มีผล- รื้อคดีไม่ได้
นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความฝ่ายผู้เสียหาย ให้ความเห็นว่า สถาน การณ์จำลองเป็นการทำขึ้นโดยส่วนตัว ไม่ได้มีหน้าที่ตามกฎหมาย
“การจำลองเหตุการณ์ไม่มีผลต่อรูปคดี และ การทดสอบตกเรือก็ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ แต่เป็นการสร้างพยานหลักฐานใหม่ขึ้นมาตามความเชื่อหรือความเห็น ความเข้าใจส่วนตัว ของนายอัจฉริยะกับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หวังดีต่อแตงโม”
นอกจากนี้ ทนายเดชา ยังระบุถึง หลักการพิจารณาพยานหลักฐานใหม่ ที่จะใช้ในการรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ว่า ต้องพิจารณาว่าพยานหลักฐานใหม่มีความสำคัญต่อคดีหรือไม่ และสามารถพิสูจน์เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาได้หรือไม่

ตามกฎหมาย พยานหลักฐานใหม่ คือ พยานหลักฐานที่มีอยู่แล้ว มีอยู่เดิมในวันเกิดเหตุ อันไม่เคยถูกนำเข้าในสำนวนคดี ไม่เคยอยู่ในการพิจารณาของอัยการ ไม่เคยถูกนำขึ้นพิจารณามาก่อน แต่มาปรากฏในภายหลัง
“และในกรณีนี้ พยานหลักฐานใหม่ที่จะสามารถรื้อฟื้นคดีได้นั้นจะต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า ใครคือผู้ฆาตกรรมแตงโม”
รวมทั้งข้อพิรุธไม่ว่า จะเป็นพิรุธบาดแผลที่ขาของแตงโม , ทิศทางการตกเรือหรือพิรุธอื่น ๆ ไม่ใช่พยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ความจริง สุดท้ายแล้วคดีนี้ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งวันที่ 29 ม.ค.นี้ เป็นการนัดสืบพยานครั้งสุดท้าย จากนั้นศาลจังหวัดนนทุบรี ก็จะพิจารณานัดฟังคำพิพากษา ซึ่งผู้แพ้คดีก็สามารถยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อตามหลักการขั้นตอนทางกฎหมาย
ฟื้นคดีอาญา เจอพยานหลักฐานเท็จ “พบหลักฐานใหม่”
ด้านนายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ให้ข้อมูลว่า ตามหลักกฎหมายการรื้อคดีอาญา ขึ้นพิจารณาใหม่ กรณีที่พนักงานสอบสวน ได้สอบสวนจนเสร็จสิ้นกระแสความและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณา เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งในสำนวนนั้นแล้ว จะถูกแยกพิจารณาออกเป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องตามความเห็นของพนักงานสอบสวน ในทุกข้อหา คดีก็จะดำเนินไปถึงชั้นศาล กระบวนการก็จะต้องสืบพยานโจทก์ – จำเลย จน กว่าศาลจะตัดสิน และเมื่อศาลตัดสินแล้ว คดีต้องถึงที่สุด กรณีนี้หากมีจำเลยติดคุก หรือ ไม่มีใครติดคุกก็ตาม แต่มีผู้ได้ รับผลกระทบ คือ จำเลย จึงจะมีสิทธิ์ร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ได้

แต่มีเงื่อนไข ต้องพบพยานหลักฐานที่นำมาใช้ลงโทษจำเลยเป็นพยานเท็จ หรือมีพยาน หลักฐานใหม่อื่น ซึ่งสามารถพิสูจน์ ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้ที่ไม่เคยถูกใช้มาก่อน
หรือกรณี หากพนักงานอัยการเห็นต่างจากพนักงานสอบสวน ก็อาจจะมีการสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งการสั่งไม่ฟ้อง อาจจะสั่งไม่ฟ้องในบางข้อหา หรือทุกข้อหา ที่พนักงานสอบสวนตั้งมาก็ได้ หากจะมีการรื้อคดีขึ้นมาใหม่
ตามกรณีแรก ที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง โดยแย้งความเห็นของพนักงานสอบสวน หากคดีเสร็จเด็ดขาดทุกข้อหาไปแล้วจะรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาใหม่ ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ เช่น
“ขณะเกิดเหตุ สำนวนปรากฏมีประจักษ์พยานอยู่ประมาณ 4-5 คน แต่ในชั้นสอบสวนตามตัวได้ 2-3 คน ที่เหลือไม่สามารถตามตัวได้ แต่หลังจากพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้วตำรวจสามารถติดตามตัวบุคคลที่เหลือมาได้ และบุคคลที่เหลือให้การต่างจากคนที่ได้ให้การไว้แล้วเดิม ส่วนนี้ถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ ที่สามารถจะยื่นคำร้องเข้ามาให้รื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้”
อย่างไรก็ตาม นายกายสิทธิ์ ให้ความเห็นต่อการจำลองสถานการณ์คดี “แตงโม” ว่า เป็นการกระทำของภาคเอกชน ที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงอะไรบางอย่าง ว่า ทฤษฎีหรือการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสมบูรณ์ครบถ้วนมากน้อยเพียงใด ก็เป็นส่วนหนึ่ง หากจะร้องเอาผิดคณะสอบสวน ตาม ป.วิอาญา ม.157 ก็ต้องเริ่มกระบวนการตรวจสอบขึ้นใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับคดีหลัก
รื้อคดีอาญา “พิจารณาใหม่” ยากกว่าเข็นครกขึ้นเขา
ประเทศไทย มี พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 คดีแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 จากเหตุ นายพัสกร สิงคิ อายุ 27 ปี (ขณะนั้น) ผู้บกพร่องทางการได้ยิน ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่น ฯ ในงานบวช จ.สิงห์บุรี เมื่อปี พ.ศ.2551 ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 20 ปี
หลังถูกคุมขังได้ประมาณ 5 ปี มีการยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดี สุดท้ายศาลฎีกา ยกคำร้อง โดยระบุว่า ผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใหม่เพียงพอที่จะแสดงว่า ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง

และคดี “ครูจอมทรัพย์” หรือ นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อดีตข้าราชการครู จ.สกลนคร ยื่นร้องขอรื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ในคดีขับรถชนคนตาย หลังศาลฎีกา พิพากษา จำคุก 1 ปี 6 เดือน ครูจอมทรัพย์ ยื่นคำร้องขอรื้อคดีหลังได้รับการอภัยโทษ เมื่อปี 2558 แต่สุดท้ายศาลฎีกา ก็ ยกคำร้อง ในปี 2560
พลิกปูมพ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ 2526
ในการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาพิจารณาใหม่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ 2526 ระบุว่า
“คดีใดที่ตัดสินให้บุคคลรับโทษไปแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่” เมื่อมีเหตุดังต่อไปนี้
- เมื่อพยานในคดีเบิกความเท็จ
- เมื่อพยานเอกสารหรือวัตถุพยานที่ใช้ในคดีเป็นของปลอมหรือเป็นเท็จ
- เมื่อมีพยานหลักฐานใหม่
สำหรับผู้มีสิทธิและมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ได้แก่
- บุคคลที่ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
- ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือ ผู้อนุบาลของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น
- ผู้จัดการ หรือ ผู้แทนอื่นของนิติบุคคลกรณีผู้ต้องรับโทษอาญา
- ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาใน กรณีที่บุคคลนั้นถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง
- พนักงานอัยการ ในกรณีที่พนักงานอัยการมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม
และให้ยื่นได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีเหตุให้รื้อฟื้นในคดีตามที่พ.ร.บ.กำหนดไว้หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด เว้นแต่เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ศาลจะรับคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นนั้น ไว้พิจารณาก็ได้ตาม (มาตรา 20) และคำร้องเกี่ยวกับผู้ต้องรับโทษอาญาคนหนึ่งในคดีหนึ่งสามารถยื่นได้เพียงครั้งเดียว
ที่มา : พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526
รายงานโดย: กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม
อ่านข่าว
"อัจฉริยะ" ร้องดีเอสไอตรวจสอบ จนท.รัฐ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบคดีแตงโม
อดีตอธิบดีอัยการ เผยแนวทางรื้อคดีอาญา หลังจำลองเหตุ "แตงโม" ตกเรือ
ตร.ไซเบอร์ ชี้แก๊งคอลเซนเตอร์ หลอกนายกฯ ฐานอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน