ภารกิจค้นหา "ผู้สูญหาย" และ "ผู้รอดชีวิต" ยังคงดำเนินต่อเนื่อง หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 8.2 ที่ประเทศเมียนมา เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ความรุนแรงสร้างแรงสั่นสะเทือนหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึง กรุงเทพมหานคร
แม้แรงสั่นสะเทือนจะจางหายไป แต่ร่องรอยแห่งความเสียหายและความสูญเสียยังคงอยู่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือ ทั้งการเยียวยาผู้ประสบภัยและการสนับสนุนซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
อ่านข่าว : คืบหน้า เหตุอาคาร สตง.ถล่ม สอบปากคำญาติ-พยานแล้ว 50 ปาก

วันนี้ (3 เม.ย.2568) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึง การช่วยเหลือ เยียวยาผู้ประสบภัย เหตุแผ่นดินไหว โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ จ่ายตามจริงหลังละไม่เกิน 49,500 บาท
- ค่าที่พักอาศัยชั่วคราว หรือ ค่าเช่าบ้าน จ่ายเฉพาะอาคารที่ กทม.ประกาศระงับการใช้ และไม่ได้เข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงที่ กทม. จัดสรร เป็นเงินค่าเช่าบ้านเดือนละ 3,000 บาท ไม่เกิน 2 เดือน เป็นเงินไม่เกิน 6,000 บาท
- ค่าจัดงานศพผู้เสียชีวิตรายละ 29,700 บาท และกรณีผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือผู้หารายได้หลักของครอบครัว ได้เพิ่มครอบครัวละไม่เกิน 29,700 บาท
- ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ (ตามใบรับรองแพทย์) กรณีบาดเจ็บสาหัส ช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 4,000 บาท ส่วนกรณีบาดเจ็บถึงขั้นพิการ ช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 13,300 บาท
- เงินปลอบขวัญ (ตามใบรับรองแพทย์) กรณีรับบาดเจ็บจากเหตุสาธารณภัยรายละ 2,300 บาท
- เงินทุนประกอบอาชีพ ครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท
ทั้งนี้ เป็นไปตามการประเมินของคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายโดยรายงานไปยัง ปภ. กทม. เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือมายัง ปภ. ต่อไป
ขั้นตอนขอรับเงินช่วยเหลือ แผ่นดินไหว
ส่วนขั้นตอนการขอรับเงินช่วยเหลือกรณีการเกิดแผ่นดินไหว มีดังนี้
1.ดาวน์โหลดแบบคำร้องขอรับความช่วยเหลือได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานเขต หรือเ ว็บไซต์ของ กทม.
2.ผู้ร้องต้องยื่นเอกสารคำร้องและหลักฐานที่ฝ่ายปกครองสำนักงานเขตพร้อมให้ข้อเท็จจริง เอกสารหลักฐาน ประกอบด้วย
- แบบสอบข้อเท็จจริงผู้ประสบภัย
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- กรณีผู้ไม่มีสัญชาติไทยใช้สำเนาพาสปอร์ต
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาโฉนดที่ดิน (ต้องระบุชื่อเจ้าบ้าน/เจ้าของบ้าน) หรือ แบบคำรับรอง (แทนโฉนดที่ดิน)
- สำเนาใบ อช.2 (โฉนดคอนโด)
- สำเนาบันทึกประจำวัน จากสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ
- หนังสือรับรองผู้ประสบภัยและบัญชีความเสียหายแนบท้ายฯ (แบบ บ.ส. 3)
- บันทึก (ป.ค.14) ใช้ในกรณีที่เอกสารที่ยื่นยังไม่ชัดเจน หรือเพียงพอว่าเป็นผู้ประสบภัย และได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว
- เอกสารประกอบการขอรับความช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซมที่พักอาศัยฯ
- รูปภาพความเสียหาย
ทั้งนี้ ผู้ประสบภัย สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ทุกแห่งภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันเกิดเหตุ
อ่านข่าว : เช็กรอยร้าว อาคาร-บ้าน-คอนโด หลังแผ่นดินไหว แบบไหนอันตราย
สภาฯประท้วงวุ่น ก่อนถกญัตติด่วน วาระแผ่นดินไหว
"กัณวีร์" เตือนรัฐบาล เตรียมรับแรงกระแทก ผู้นำเมียนมาเยือนไทย