ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ย้อนรอย "คุรุทายาท" โครงการผลิตครูแห่งยุคพัฒนาประเทศไทย

สังคม
14 ม.ค. 68
15:44
134
Logo Thai PBS
ย้อนรอย "คุรุทายาท" โครงการผลิตครูแห่งยุคพัฒนาประเทศไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"คุรุทายาท" โครงการที่เริ่มต้นในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติครั้งที่ 6 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในไทย ปัจจุบันพัฒนาเป็น "โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น" เปิดโอกาสให้หลากหลายกลุ่มเข้าร่วม พร้อมบรรจุเป็นครูในพื้นที่ใกล้บ้าน

โครงการ "คุรุทายาท" เริ่มต้นในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530–2534) โดยมีเป้าหมายในการคัดเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียนดีและมีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพครูให้เข้าศึกษาในสถาบันผลิตครู โครงการนี้มุ่งผลิตครูที่มีคุณภาพเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยรับนักศึกษาไม่เกินร้อยละ 15 ของอัตราว่างในแต่ละปี และมีการสนับสนุนในด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา และกิจกรรมพัฒนาประสบการณ์

ทั้งนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาตามโครงการจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครูในโรงเรียนที่มีอัตราว่างในภูมิภาคเดียวกับสถาบันที่นักศึกษาเรียนอยู่ โดยเริ่มบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตร 2 ปี ในปี 2532 และหลักสูตร 4 ปี ในปี 2534

ต่อมาในวันที่ 29 มี.ค.2559 คณะรัฐมนตรีมีมติปรับปรุงโครงการ "คุรุทายาท" ให้เป็น "โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น" (พ.ศ. 2559–2572) เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสามารถเข้าร่วมโครงการได้หลากหลายมากขึ้น โดยไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มที่เป็นบุตรหลานของครู

โครงการใหม่นี้มีเป้าหมายเพื่อผลิตครูที่มีคุณธรรมและความรู้ความสามารถเพื่อตอบสนองความต้องการในหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงาน กศน.

ในปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกของโครงการ มีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมจำนวน 4,079 คน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาอื่นที่มีวุฒิวิชาชีพครูหรือได้รับการรับรองจากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สมัครเข้าร่วมโครงการได้ คุณสมบัติของผู้สมัครต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงครูอัตราจ้างและพนักงานราชการในสาขาต่าง ๆ ที่มีสิทธิ์สมัครเข้าร่วมได้ โครงการนี้มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรครูที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน

ในปีแรกของการดำเนินโครงการ "ผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น" มีการจัดตั้งรุ่นพิเศษเพื่อเร่งรัดการผลิตครู เนื่องจากกระบวนการปกติที่รับนักเรียนจบชั้น ม.6 และใช้เวลา 5 ปีในการสำเร็จการศึกษายังไม่ทันตอบสนองความต้องการในทันที โดยในปีแรกนี้ได้เปิดรับผู้สมัครจาก 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

กลุ่มที่ 1 นิสิตนักศึกษาครูในหลักสูตรปริญญาตรี (5 ปี) ที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2558 โดยต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ในภาพรวมทุกวิชา วิชาเอก และวิชาชีพครู ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ของชั้นปีที่ 1 ถึงภาคเรียนที่ 1 ของชั้นปีที่ 5 ไม่ต่ำกว่า 3.00

กลุ่มที่ 2 ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรการผลิตครู 5 ปี ที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) ในภาพรวมทุกวิชา วิชาเอก และวิชาชีพครู ไม่ต่ำกว่า 3.00

กลุ่มที่ 3 ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู โดยต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ตลอดหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ไม่ต่ำกว่า 3.00

กลุ่มที่ 4 ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาอื่นที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) โดยต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ตลอดหลักสูตร ในภาพรวมทุกวิชาและวิชาเอก ไม่ต่ำกว่า 3.00

ผู้สมัครสามารถระบุเลือกพื้นที่การบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ 3 อันดับ โดยต้องเลือกให้สอดคล้องกับภูมิลำเนาของตนเอง โดยมีหน่วยงานที่รับบรรจุดังนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.), สถานศึกษาอาชีวศึกษา (สอศ.), และสำนักงาน กศน.จังหวัด ทั้งนี้ในปีถัดไป กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเข้าร่วมโครงการด้วย

สำหรับขั้นตอนการคัดเลือก ผู้สมัครทุกกลุ่มต้องสอบใน 3 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) โดยต้องได้คะแนนขั้นต่ำร้อยละ 50 ในแต่ละวิชา และได้คะแนนรวมทั้ง 3 วิชา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 คะแนนดังกล่าวจะถูกนำมาพิจารณาร่วมกับอันดับที่ผู้สมัครเลือกไว้ เพื่อคัดเลือกและบรรจุเข้ารับราชการต่อไป

อ่านข่าวอื่น :

อาลัย "พ่อ-ลูก" ครู ตชด.เสียชีวิตเหตุลอบวางระเบิด จ.นราธิวาส

ยกย่อง "ครูวิทย์" ผู้ปิดทองหลังพระปลายด้ามขวาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง