วันนี้ (13 ม.ค.2568) การประชุมวุฒิสภาที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธานในที่ประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมงปี 2558 โดยนายอัครา พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมประมง เข้าร่วมประชุมชี้แจงว่า ในร่างกฎหมายฉบับนี้มีแก้ไข 71 มาตรา 24 ประเด็น
ต่อมาที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติเห็นด้วย 165 ต่อ 11 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เห็นชอบร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมงปี 2558 โดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา 21 คน
ค้านใช้ "อวนมุ้ง" จับสัตว์น้ำตอนกลางคืน
ขณะที่สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และเครือข่ายกว่า 100 คน ได้เดินทางมาทำกิจกรรม และยื่นหนังสือต่อ สว. เรียกร้องให้ทบทวนการแก้ไขมาตรา 69 ที่จะเปิดช่องให้ใช้อวนตาถี่ทำการประมงในเวลากลางคืน
โดยตัวแทนได้นำอวนมุ้งยาวกว่า 2 กิโลเมตร มาประกอบการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ก่อนเข้ายื่นหนังสือต่อ สว. เพื่อให้ทบทวนการแก้ไขกฎหมายประมง
สาระสำคัญคือ ให้ทบทวนโดยเฉพาะ มาตรา 69 ที่มีความกังวลว่า จะเป็นการเปิดช่อง ให้สามารถทำการประมงอวนตาถี่ด้วยวิธีล้อมจับในเวลากลางคืนได้เฉพาะกลุ่ม
สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และเครือข่ายกว่า 100 คน ทำกิจกรรม และยื่นหนังสือต่อ สว. เรียกร้องให้ทบทวนการแก้ไข ม. 69
นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน เดินทางมาเป็นตัวแทนมอบหนังสือถึงประธานวุฒิสภาในวันนี้ แสดงความกังวลว่า หากมาตรามีผลบังคับใช้ “อวนตามุ้ง” จะจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนจำนวนมากไปด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณแสนล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งข้อเรียกร้องหลัก คือ การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา ขอให้มีตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน ตัวแทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และตัวแทนนักวิชาการด้านทรัพยากรทะเลชายฝั่งและการประมง เข้าไปร่วมพิจารณาด้วย
โดยในวันนี้ สว.จะมีการพิจารณาพ.ร.บ.ประมง วาระแรก และอาจมีการตั้งกมธ. พิจารณาร่างกฎหมายด้วย ซึ่งคาดว่าอาจจะใช้เวลาประมาณ 30 วันในการพิจารณา
นอกจากนี้ ยังมีมาตราอื่น ๆ ที่ชาวประมงพื้นบ้านมีความกังวล เช่น ยกเลิกการคุ้มครองแรงงานในภาคการแปรรูปอาหารทะเล และอนุญาตการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลระหว่างเรือประมงได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การทำประมงผิดกฎหมายได้
หลังจากเสร็จสิ้นการยื่นหนังสือในวันนี้ ชาวประมงพื้นบ้านก็ยังมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องค่ะ โดยในเวลาประมาณบ่ายโมง จะมีการทำกิจกรรมที่พรรคเพื่อไทย จากนั้นสี่โมงเย็น จะไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หอศิลปวัฒนธรรม เพื่อเดินหน้าคัดค้านมาตรานี้ต่อไป
กรมประมง แจงปม ม.69
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ชี้แจงประเด็นปลากะตักเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กที่มีอายุขัย 1 ปี ซึ่งสัตว์น้ำจะเกิดใหม่อย่างรวดเร็วหากมีการบริหารจัดการที่ดีทุกปี โดยกรมประมงเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อประมวลจำนวนสัตว์น้ำในท้องทะเล แบ่งสัตว์น้ำเป็น 3 กลุ่ม สัตว์หน้าดิน ปลาผิวน้ำ ปลากะตัก ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการพบว่า 1 ปีจับได้ 2.1 แสนตัน จึงมีการนำไปพิจารณาออกใบอนุญาตจับสัตว์น้ำ
โดยพบว่า 1 ปีจับได้กว่า 90,000 ตัน ทรัพยากรที่เหลือว่าเป็นการตายไปตามวัย และเป็นไปตามวัฏจักรห่วงโซ่อาหาร
ไทยมีการนำเข้าปลากะตัก จากต่างประเทศปีละ 20,000 ตัน แทนที่จะเป็นผู้ผลิต และเหตุผลที่ต้องเปิดการจับนอก 12 ไมล์ทะเล ตามหลักเกณฑ์วิธีการ ซึ่งปลากะตักในรอบ 12 เดือน หากจับในอวนล้อมจับที่ปนสัตว์อื่นน้อยที่สุด ฝั่งอ่าวไทยจะอยู่ในช่วงเดือนม.ค.-ถึงมี.ค. ส่วนทะเลฝั่งอันดามันอยู่ในช่วงเดือน พ.ค.-ถึง ก.ค.
อ่านข่าว จับตา! ชาวประมงร้องหยุด ม.69 สภาจ่อเคาะกม.อวนตาเล็ก
ยังต้องออกกฎหมายลูกรองรับ
ขณะนี้กรมประมงกำลังพิจารณาวิธีการ เพื่อออกกฏหมายลูกมารองรับ หลังกฏหมายฉบับนี้ผ่าน เช่นการติดตั้ง VMS ในเรือทุกลำ และส่งสัญญาณทุก 15 นาที เพื่อติดตามการทำประมง และต้องกำหนดโควตาการจับ ไม่ต้องมีการนำเข้าเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไม่กระทบ และเรือ ที่ใช้ต้องไม่ใช่เป็นการต่อเรือใหม่ต้องให้เรือที่ต่อในปัจจุบันที่มีอยู่จำนวนไม่มาก
กรมประมง จะต้องนำข้อมูลทั้งหมดไปขอความเห็นชอบ และกลับมาสู่กระบวนการตามกฏหมาย หากผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอ จำเป็นต้องต้องใช้การทดลองทางวิชาการหรืออิงจากสถาบันใดเข้ามาช่วยก็ต้องมีการช่วยกันเพื่อนำทรัพยากรอันมีค่ามาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด
และชี้แจงว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะ เป็นการเสนอจากพรรคการเมืองและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านกลไกของรัฐสภา เป็นการสร้างบริบทในการยอมรับ บริบทของประเทศไทยในการใช้ทรัพยากร และไม่ได้ขัดต่อพันธะกรณีระหว่างประเทศ และมีการชี้แจงสหภาพยุโรปตลอดระยะเวลา และมั่นใจว่าการบังคับใช้กฎหมายสามารถดำเนินการได้ตามที่มีการแก้ไขปรับปรุง