วันเด็กแห่งชาติปี 2568 วันที่ 11 ม.ค.ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์พิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการงานวิจัย ด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์สมพงษ์สะท้อนมุมมอง โดยแยกออกเป็น 10 สถานการณ์ ท้าทายสำหรับ “อนาคตของเด็กไทย”
ประเด็นที่ 1 : เด็กเกิดน้อย
เป็นสถานการณ์ที่สังคมไทยต้องตระหนัก และคิดถึงคุณภาพของเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เป็นเสมือนระเบิดเวลาในอนาคต เพราะเด็ก 1 คน ทำให้ครอบครัวต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ทั้งระบบชีวิต ความเป็นอยู่ ระบบภาษี เรื่องงาน ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนเป็นเรื่องใหญ่มาก
ประเด็นที่ 2 : เด็กเล่นโทรศัพท์มือถือ
เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะสังคมไทยจะเห็นชัด คือสถานการณ์เด็กเล่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีผลทำให้ เด็กเกิดอาการติดจอ วันละมากกว่า 4 ชั่วโมง และเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียนรู้เพียง 20 % เท่านั้น เรื่องนี้เราจะช่วยกันระมัดระวังอย่างไร
ประเด็นที่ 3 : เด็กไทยไอคิวสูงขึ้น
นับว่าเป็นความท้าทายและเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้น โดย ศ.สมพงษ์ ระบุว่า เด็กไทยมีระดับไอคิวสูงขึ้นจาก 96 เป็น 98 และเป็น 102 แต่เราจะทำอย่างไร ให้เด็กไทยมีไอคิวได้ถึงระดับ 105 ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ที่เราต้องทุ่มเทกับเรื่องงบประมาณอาหารกลางวันและอาหารเช้า ให้กับเด็ก เมื่อต้องอยู่ที่โรงเรียนด้วย
เรื่องทุพโภชนาการ เป็นเรื่องสำคัญมาก เด็กแคระ เด็กแกรน เด็กอ้วน เด็กเตี้ย ประเด็นเหล่านี้ เราจะแก้ปัญหากันอย่างไร อยากให้รัฐบาลให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้ให้มากกว่านี้
ประเด็นที่ 4 : สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม
ไม่ใช่แค่สภาพอากาศหรือความเสี่ยงภัยพิบัติ หรือสภาพอากาศแปรปรวนเท่านั้น แต่หมายถึงกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทั้งเรื่องยาเสพติด, กัญชา, บุหรี่ไฟฟ้า, กระท่อม โดยเฉพาะปัจจุบันปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องใหญ่ อยากให้รัฐทุ่มเทในการแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้
อ่านข่าว : วันเด็ก 2568 เที่ยวปลอดภัย แชร์ไอเดียเก็บความทรงจำสุดสนุก
ประเด็นที่ 5 : ไทยมีเด็กนอกระบบการศึกษามากเกินไป
ที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดสถานการณ์เด็กนอกระบบการศึกษามากเกินไป โดยปี 2567 เรามีเด็กนอกระบบ 1,255,014 คน และอยู่นอกระบบที่เป็นวัยผู้ใหญ่อีก 20 ล้านคน จากข้อมูลยังพบว่า เด็กออกนอกระบบในช่วงรอยต่อ ช่วงชั้น ป.6 และ ช่วง ม.1 ,ม.3 และ ม.4 โดยที่ระบบการศึกษาไม่ยืดหยุ่น
ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษามองเห็นเด็กทุกกลุ่ม ทุกคน โดยให้การเรียนรู้ เดินทางไปหาเด็กได้มากขึ้น ไม่ใช่ให้เด็กเดินทางไปหาการเรียนรู้หรือศึกษาเอาเอง
ที่ผ่านมามีเด็กนอกระบบเป็นล้านคน แต่เราดึงกลับเข้าระบบได้เพียง 30 % เท่านั้น ซึ่งถ้าเราจะทำให้ครบ 100 % จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะหากเราแก้ปัญหาเด็ก 1 ล้านคน ให้กลับมามีโอกาส และเรียนรู้ต่อเติม เติมต่อชีวิตในการศึกษาภาคบังคับได้
พวกเขาก็จะไปต่อได้ในชีวิตที่ดีกว่าได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเราพบว่า เด็กที่อยู่ในสถานพินิจ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ ที่อยู่ในกรมราชทัณฑ์ มีเพียง 30 % เท่านั้นที่จบการศึกษาภาคบังคับ หรือจบน้อยกว่าการศึกษาภาคบังคับ
ประเด็นที่ 6 : สิทธิเด็กน้อยเกินไป
เราเคารพสิทธิเด็กน้อยเกินไป เด็กจำนวนมากยังถูกมองข้าม เรามีเด็กหลากหลาย แตกต่างกันทั้งชาติพันธุ์, เด็กข้ามชาติ, เด็กประเทศเพื่อนบ้าน แต่เรายังมองเรื่องสิทธิเด็กไม่ตรงตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ต้องการ เรายังเลือกปฏิบัติต่อเด็กกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
ประเด็นที่ 7 : เด็กไทยมีชั่วโมงเรียนสูงที่สุดในโลก
ปัจจุบันเด็กไทยยังมีชั่วโมงการเรียนรู้สูงที่สุดในโลก ที่เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง สูงสุด 9.5 ชั่วโมงต่อวัน หรือคิดเฉลี่ยเป็น 1,200 ชั่วโมงต่อปี เรื่องนี้พูดกันมานานแต่ไม่แก้ไข อยากให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องหลักสูตรจากเรียนให้เกิดความพอดี ๆ เช่น เรียน แล้วทำกิจกรรมอีกครึ่งวัน หรือลงมือปฏิบัติให้มากขึ้น
ประเด็นที่ 8 : โรงเรียนยังไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย
ศ.สมพงษ์ สะท้อนว่า พื้นที่โรงเรียนยังไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร เพราะเรายังเห็นกรณีเด็กถูกกร้อนผม, การตีเด็ก, การละเมิดทางเพศเด็ก หรือความเสี่ยงอันตรายที่เกิดกับเด็กภายในโรงเรียน เป็นเรื่องที่ผมคิดว่า เราต้องช่วยกันระวัง เพื่อทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย
ประเด็นที่ 9 : เด็กกับครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์
เราปล่อยให้เกิดสถานการณ์ที่เด็กอยู่ในวังวน ของครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ครอบครัวที่แหว่งกลาง ครอบครัวที่พ่อแม่ต้องทิ้งลูกไปทำงานในเมืองใหญ่ แล้วพบว่า ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ จนพ่อแม่หย่าร้างมีสูงเกือบ 40 %
ดังนั้นชีวิตเด็กจะได้รับความไม่สมบูรณ์ในชีวิต ทั้งเรื่องการดูแล, อาหารการกิน, การอบรมสั่งสอน, ครอบครัวเราต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งในโรงเรียน ในครอบครัว ในชุมชน
ประเด็นที่ 10 : คำขวัญวันเด็ก ของนายกฯ แพทองธาร
คำขวัญวันเด็กที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมอบให้เป็นคำขวัญวันเด็ก ปี 2568 (ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัว สู่อนาคตที่เลือกเอง) ซึ่งถือเป็นคำขวัญ ที่ริเริ่มสร้างสรรค์และสร้างความแปลกใหม่ ออกจากกรอบเดิม ๆ จากนายกฯ ที่เป็นคนรุ่นใหม่
ซึ่งแตกต่างจากคำขวัญวันเด็ก ที่เป็นนายกฯ จากรุ่น Baby Boomer ที่ผ่านมา เป็นแนวคำขวัญในลักษณะกึ่งบังคับว่า ต้องทำตามจริยธรรม คุณธรรม ค่านิยมต่าง ๆ ซึ่งบอกได้เลยว่า เด็กปฏิเสธ หรือไม่เชื่อถือมากที่สุด
ดังนั้นคำขวัญวันเด็กปีนี้ รู้สึกว่าเหมาะสม และเป็นเรื่องที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ของการให้คำขวัญวันเด็ก มีลักษณะเกี่ยวกับการเรียนรู้ การให้โอกาส การปรับตัว และการให้อนาคตเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ ไม่มีช่องว่างกับเด็กที่รับคำขวัญ นำไปปฏิบัติได้ง่าย เข้าใจ รวดเร็ว
สุดท้ายนอกจากคำขวัญแล้ว อยากให้รัฐบาลมีนโยบายที่ดีกับเด็ก ได้มีความรู้สึกว่า เขามีความหวัง และทำนโยบายนั้น ๆ ให้สำเร็จ และอยากให้นายกรัฐมนตรี เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้ด้วย
เรียบเรียง : ภัทราพร ตั๊นงาม
ภาพ : บำรุง ปานเรือง
อ่านข่าว : น่าห่วง! ปี 67 มูลนิธิกระจกเงาได้รับแจ้ง "เด็กหาย" 314 คน
เตือนภัย "เด็ก" สถิติ 1 ปี ถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ 346 คดี