ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ตั๋วผี" จาก พอใจซื้อ-ขาย พัฒนาสู่ "เก็งกำไร" แบบธุรกิจ

กีฬา
5 ม.ค. 68
15:42
328
Logo Thai PBS
"ตั๋วผี" จาก พอใจซื้อ-ขาย พัฒนาสู่ "เก็งกำไร" แบบธุรกิจ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การแข่งขันของ "ทีมชาติไทย" ไม่ว่าจะรายการใด หากได้เข้าชิงชนะเลิศ หรือปะทะกับทีมชาติยักษ์ใหญ่ จะพบเห็น "ตั๋วผี" หรือ บัตรเข้าชมที่ "ราคาสูงมากกว่าการขายจริง" ออกมาเร่ขายกันเต็มไปหมด ทั้งในรูปแบบออนไลน์ หรือเดินขายหน้าสนามในวันแข่งขัน

ล่าสุดในการแข่งขัน "AFF Cup 2024" รอบชิงแชมป์ แมทช์ที่ 2 ระหว่าง ไทย ปะทะ เวียดนาม ราคาบัตรพุ่งสูงทะลุ "2,000 บาท" จากราคาเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 200-400 บาท เรียกได้ว่า ราคาทะลุเพดานไปมากกว่า 5-10 เท่า เลยทีเดียว และเชื่อได้เลยว่า จากการที่พลพรรคช้างศึก แพ้มาในแมทช์แรก 1-2 ยิ่งทำให้แฟนบอลอยากเข้ามาให้กำลังใจอย่างล้นหลาม เพื่อให้ไทยชูถ้วยสมัยที่ 8 ในราชมังคลากีฬาสถาน ให้จงได้

แม้จะมีเสียงโอดครวญถึงการขายตั๋วผี เช่น ความไม่เป็นธรรมในการตั้งราคาตามใจชอบ, การกว้านซื้อตั๋วจำนวนมาก ๆ ของนายหน้ารายเดียวเพื่ออัพราคา หรือ การขูดรีดแฟนบอล ขาดความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

แต่ในความเป็นจริง เมื่อพิจารณาตาม "หลักเศรษฐศาสตร์ (Economics)" จะพบว่า ประวัติศาสตร์กว่า 2,200 ปีของ ตั๋วผี เป็นเรื่อง "ของความพอใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย" ล้วน ๆ

เศรษฐศาสตร์ "ตั๋วผี" ตามตำรา พอใจซื้อ-ขาย ปิดจบทุกอย่าง

"ตั๋วผี" หรือ "Ticket Scalping / Ticket Tout / Ticket Resale" เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยโรมัน (Roman Empire) จากความต้องการเข้าชมนาฏกรรมในโรงละครที่มีมากขึ้น ซึ่งการชมละครหรือการแสดงในยุคโรมันนั้นต้องเสียเงิน แตกต่างจากการเข้าชมกีฬาที่ฟรีตลอดงาน ทำให้เกิดคนหัวหมอ กว้านซื้อตั๋วเข้าชมมาปล่อยขายต่อในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง

เมื่อมีคนยอมควักกระเป๋าจ่ายค่าตั๋วในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้มหกรรมการแสดงที่เคยเข้าชมฟรีหันมาเก็บเงินมากขึ้น ทำให้การขายตั๋วผีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่การขายสมัยนั้น เป็นการขายเพราะมีผู้ต้องการเข้าชมการแสดงจาก "หน้างาน" มากกว่าเจ้าของตั๋วหมายความว่า เมื่อมีผู้เรียกร้องอยากได้ตั๋ว และเจ้าของตั๋วเล็งเห็นว่า เงินที่ได้คุ้มค่ากว่าการเข้าชมเอง จึงจะปล่อยตั๋วนั้นไป ไม่ได้ตั้งใจจะขายตั้งแต่แรก

ในยุคแรกของตั๋วผี ส่วนใหญ่ดีลซื้อขายจะเกิดขึ้นในวันงานทั้งสิ้น เป็นการซื้อขายระหว่างคนไม่มีตั๋วและเจ้าของตั๋ว ไม่ผ่านคนกลางหรือนายหน้า ต่อมาเมื่อพบว่ามีช่องทางหากิน หากำไรจากส่วนต่างของตั๋ว กลุ่มคนกลางจึงเกิดขึ้นในเวลาต่อมา

ตรงนี้ เรียกได้ว่าเป็นพฤติกรรมตามตำราเศรษฐศาสตร์อย่างมาก ที่เสนอว่า การซื้อ-ขายจะเกิดขึ้นใน "จุดดุลยภาพ (Equilibrium)" หมายถึง จุดที่พอใจจะขายในราคานี้ และผู้ซื้อยินดีจะจ่ายให้โดยไม่ต่อรอง แต่หากความต้องการซื้อ มีมากกว่าความต้องการขาย จุดที่ว่าจะไม่เกิดขึ้น ในทรัพยากร (ตั๋ว) ที่มีจำกัด เพราะสถานที่จุคนได้จำนวนหนึ่ง และการแย่งชิงตั๋วในราคาปกติ ต้องแก่งแย่งกัน เพื่อให้ได้มา จึงไม่แปลกที่ "ราคาขายต่อ (Resale)" จะพุ่งสูงขึ้นเป็นธรรมดา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ "อุปรากร (Opera)" ในอังกฤษยุคคลาสสิค หากคณะใดทำการแสดงบทประพันธ์ของเชคสเปียร์ (Shakespears) เช่น โรมิโอ แอนด์ จูเลียต (Romeo and Juliet) หรือ แม็คเบ็ธ (The Tragedie of Macbeth) จะทำให้ตั๋วขายดีมาก และการแสดงลักษณะนี้ ไม่สามารถเล่นกลางแจ้งได้ สถานที่ปิดจุคนได้น้อย (ประมาณ 1,000-2,000 ที่นั่ง) ยิ่งเป็นเงื่อนไขให้ตั๋วผีแพงยับ

แต่ที่สหรัฐอเมริกา ตั๋วผี ไม่ได้ขายเพื่อ "ฟันหัว" ผู้ซื้อที่มีความต้องการสูง แต่เป็นการ "หาทางลัด" เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถได้ตั๋วก่อนผู้อื่น และเรียกกิน "ค่าคอมมิชชัน" เป็นส่วนต่างในภายหลัง ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับวงการ "ขนส่ง" โดยเฉพาะ "รถไฟ (Railways)" ในช่วงเทศกาล ที่ผู้คนจากเมืองใหญ่มักเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเรื่องระบบโลจิสติกส์ ที่ต้องส่งทางรถไฟสถานเดียวในสมัยก่อน ศัพท์แสลงเรียกกลุ่มเหล่านี้ว่า "Digger" หรือ "นักขุด" ที่ทำนาบนหลังคน หากินง่าย ๆ โดยอาศัยความใกล้ชิดกับผู้ขายเป็นทุน

"American Game" เป็นวงการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะ เบสบอล และ อเมริกันฟุตบอล ซึ่งถือเป็นกีฬาประจำชาติของสหรัฐฯ เพราะส่วนใหญ่แล้ว แฟนกีฬาจริง ๆ แทบไม่ได้ซื้อผ่านเคาน์เตอร์หรือฝ่ายจัดการแข่งขันโดยตรง แต่ซื้อผ่าน "Sidewalk Men" หมายถึง นายหน้าที่ถือตัวขายอยู่ข้างสนาม ซึ่งเป็นผู้กำหนดราคาตามใจชอบ และส่วนใหญ่แพงทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้มีการขาย "ตั๋วปลอม" ขึ้นมาเพื่อทำกำไรแทนตั๋วจริงที่หายาก นับเป็นการฉ้อโกงแบบซึ่ง ๆ หน้าเลยทีเดียว

ซื้อตั๋วเพื่อ "เก็งกำไร" แพล็ตฟอร์ม "ออนไลน์" ขายสะดวก

แม้ตั๋วผีจะมีราคาแพง แต่ไม่ใช่ของปลอม หากผู้ซื้อยอมจ่ายตามราคาที่ผู้ขายตั้งไว้ ถือว่าดีลนี้ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญ การขายตั๋วผีในยุคแรกเริ่ม เป็นแบบ "Customer to Customer (C2C)" หมายถึง คนซื้อขายกันเอง ซื้อมาขายไป ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ตั๋วผีได้เข้าสู่โลก "ธุรกิจ" มากยิ่งขึ้น

โลกธุรกิจมีแก่นง่าย ๆ ว่า "แสวงหากำไรสูงสุด" ซื้อของถูก ต้องขายของแพง ดังนั้น วงการนี้ไม่มีจริยธรรม คิดตามหลัก "Rational Choice" เป็นที่ตั้ง ไม่มีคำว่าปราณี ซึ่งไม่เหมือนกับผู้คนซื้อ-ขายกันเอง ที่ส่วนใหญ่แล้ว หากคุยถูกคอ หรือสร้างสายสัมพันธ์กันได้ดี ราคาขายสามารถปรับลดลงได้

บทความวิจัย Digital Resellers: The Case for Secondary Ticket Markets เขียนโดย สตีฟ เดวีส์ (Steve Davies) นักวิจัย Institute of Economic Affairs (IEA) เสนอว่า การขายตั๋วผีแบบบุคคล สุ่มเสี่ยงที่รัฐบาลจะดำเนินคดีได้ง่าย ดังจะเห็นได้จาก การออกมาตรการ "จำกัดการซื้อ (Limited Purchasing)" ตั๋วเข้าชม ซื้อได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนด เกินกว่านี้ ออกหมายเรียก หรือ "การยืนยันตัวตนก่อนซื้อบัตร (Ticket Verification)" หากพบความน่าสงสัยในจำนวนการซื้อหรือขายต่อ หมายเรียกส่งถึงหน้าบ้านทันที ดังนั้น การซื้อตั๋วจึงต้องทำในรูปแบบ "บริษัท" เพื่อให้ซื้อได้ในจำนวนมาก ๆ เพื่อไป "เก็งกำไร" ขายโก่งราคาต่อ แบบที่รัฐบาลไม่สงสัย

การเกิดขึ้นของแพล็ตฟอร์ม "ออนไลน์" ยิ่งทำให้ธุรกิจตั๋วผีแพร่สะพัด เพราะนายหน้าสามารถ "ปิดบังตนเอง (Anonymous)" ในการขายได้ และไม่จำเป็นต้องออกหน้าธุรกิจเอง โดยอาจจะเปิดเป็น "พื้นที่ให้ขายตั๋วผี" แทน เช่น บรรดาเว็บไซต์ตั๋วผี Ace Ticket Worldwide, Alliance Tickets, Coast to Coast Tickets, gotickets.com, RazorGator, StubHub, TicketCity, tickets.com, Ticketmaster Entertainment, TickPick, Tiqiq, Viagogo หรือ Vividseats ซึ่งไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

สอดคล้องกับ ปาสคาล คอร์ที (Pascal Courty) ที่เสนอไว้ในบทความวิจัย Ticket resale, bots, and the fair price ticketing curse ความว่า การขายตั๋วผีคือ "ภาพสะท้อนราคาที่แท้จริง" ของการจัดงานนั้น ๆ หมายความว่า การตั้งราคาด้วยตนเองของผู้จัดงาน ไม่สะท้อนจุดดุลยภาพของตลาดและความต้องการจริง ๆ ซึ่งผู้จัดมักตั้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ตรงนี้ คอร์ทีเรียกว่าเป็น "คำสาป (Curse)" เพราะผู้จัดขายแพงไปก็จะเกิดเสียงก่นด่าไม่พอใจ กลับกัน หากมีตั๋วผีเกิดขึ้น ก็ยังคงโดนด่าอีกเช่นเดียวกัน ในเรื่องการบริหารจัดการและมาตรการควบคุม เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง

การเข้ามาของโลกออนไลน์ ยิ่งเป็นเงื่อนไขบีบให้ผู้จัดงานต้องขึ้นราคาค่าตั๋วเข้าชมให้สอดคล้องกับความต้องการจริง ๆ แม้จะมีราคาอภิมหาโหด แทบไม่แตกต่างจากตั๋วผีก็ตาม หมายความว่า บางที ต้องปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างที่ควรจะเป็น เพื่อทำให้ทราบถึงเม็ดเงินที่ฝ่ายจัดงานควรจะได้รับอย่างแท้จริงเสียเล็กน้อย

ฟิลลิป เลสลีย์ (Phillip Leslie) และ อลัน โซเรนเซน (Alan Sorensen) เสนอในบทความวิจัย Resale and Rent-Seeking: An Application to Ticket Markets ความว่า ตั๋วผีนั้นเป็นประเด็น "Rent-seeking" หมายถึง การแสวงหากำไรจากความฉลาดกว่าของตนเอง ไม่ได้เป็นการทำผิดมาตรการหรือกฎหมายใด ๆ แน่นอน หากเป็นเรื่องของการเสพสุนทรีย์ อย่างการชมคอนเสิร์ต กีฬา และการแสดง ผู้ซื้อรู้ทั้งรู้ว่าเสียเปรียบ แต่บางทีก็ "ยอมเพิกเฉย" เพื่อสนองความต้องการที่ขัดกับ Rational Choice ของตนเองได้เสมอ

หรือกล่าวง่าย ๆ ผู้ขายตั้งอยู่บนหลักแสวงหากำไรบนฐานของการชั่งน้ำนักความได้เปรียบ-เสียเปรียบ แต่ผู้ซื้อนั้นอยู่บนหลักของความอยากได้แบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ดังนั้น การกล่าวโทษตั๋วผีกว่าขูดเลือดขูดเนื้อ อาจจะกล่าวได้ไม่เต็มปากเสียเท่าไร

ออกกฎหมายป้องกัน แก้ไขที่ "อุปสงค์" ง่ายกว่า "อุปทาน"

เมื่อการขายตั๋วผีมีเพิ่มมากขึ้น จากแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่สามารถเปิดโหมดไม่ระบุตัวตนได้ ทำให้ซื้อง่ายขายคล่อง รัฐบาลตามตัวยากมากขึ้น และในการประกอบธุรกิจลักษณะนี้ กล่าวโทษลำบาก เพราะเป็นการปล่อยให้ราคาไหลไปตามกลไกตลาด มากกว่ากำหนดตายตัวจากฝั่งผู้จัด และผู้ซื้อพร้อมทุ่มไม่อั้น ดังนั้น ไม่ว่าจะออกกฎหมายกำกับความคุมมากมายเพียงใด ก็ไม่สามารถกำจัดวงจรนี้ไปได้

เช่นนั้น พอจะมีวิธีการใดที่จะช่วยบรรเทาหรือลดตั๋วผีลงได้สักเพียวเล็กน้อยก็ยังดี ประเด็นนี้ สตีฟ เดวีส์ เสนอว่า ในเมื่ออุปทาน (Supply) แก้ไขยาก อยู่ ๆ จะไปสั่งให้นายหน้าห้ามขายตั๋วผี หรือลดราคาลง เป็นไปไม่ได้ ก็ควรแก้ไขที่ "อุปสงค์ (Demand)" แทน

ซึ่งจริง ๆ ทำได้หลายวิธี แต่ที่เดวีส์แนะนนำมากที่สุด คือ "การเพิ่มมูลค่าให้ตั๋ว (Value-added Ticket)" ให้เป็นมากกว่าตั๋ว เช่น การทำตั๋วให้เป็นสินทรัพย์ (Asset) อย่างหนึ่ง อาจจะเป็นตั๋วชุบทองคำ 18K, ฝังชิปพิเศษเพื่อรับสิทธิต่าง ๆ ก่อนวันงานจะมาถึง หรือทำเป็นของสะสม (Accumulation) ลิมิเต็ด เพื่อนำไปปล่อยในตลาดค้าของเก่าต่อในอนาคต ไม่เพียงแต่ยื่นให้เจ้าหน้าที่เจาะรู และทิ้งขว้างตอนมหกรรมจบลง

แต่ต้องไม่ลืมว่า ตั๋วที่มีความพิเศษมากมายขนาดนั้น อาจจะมีมูลค่ามากกว่าตั๋วผี หลายเท่าตัว นับว่าเป็นเรื่องที่เกินกว่าความเข้าใจทางนิติศาสตร์ หรือตัวบทกฎหมายไปมากเลยทีเดียว

บทความโดย: วิศรุต หล่าสกุล

แหล่งอ้างอิง

อ่านข่าว

ดูบอลสด ไทย ดวล เวียดนาม ศึกอาเซียนคัพ 2024 รอบชิงฯ นัดสอง 20.00 น.

จับตา คุมตั๋วผี ฟุตบอล "ไทย-เกาหลีใต้" หลังราคาพุ่ง

รู้จัก “ตั๋วผี” วิถีการเก็งกำไรที่ส่งผลต่อวงการกีฬาไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง