แต่ลังใส่กระต่ายผ่านการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ขณะเปลี่ยนเครื่องที่ท่าอากาศยานอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2567 ขณะที่ลังใส่ “กอริลลา” ผ่านมาไม่ได้
เจ้าหน้าที่เปิดลังไม้ออกมา พบลูกกอริลลาหน้าตางงๆ เป็น ลูกกอริลลาที่ราบลุ่มตะวันตก (the western lowland gorilla) สัตว์ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) ที่ห้ามซื้อขายเด็ดขาด
เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ของไทยระบุว่า “ถ้าเป็นภาวะปกติ การตรวจค้นแบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่ช่วงนี้แถบนั้นมีสงคราม ความเข้มงวดของลังสินค้า หรือลักษณะการขนย้ายที่ผิดปกติ มักถูกตรวจค้น และได้พบกับการขนย้ายลูกลิงกอริลลา”
การออกใบ Invoice เพื่อกำกับสินค้า เริ่มมาจากต้นทางคือ ประเทศไนจีเรีย ระบุชัดว่า “ส่งไปที่ไหนของประเทศไทย” ซึ่งทั้งสองลังมีเอกสารกำกับ ว่าเป็นกระต่ายและกอริลลา
หากเป็นภาวะปกติและลังขนส่งสัตว์ดังกล่าว หลุดมาถึงประเทศไทย ลังทั้งหมดจะผ่านด่านออกมาได้ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม ก่อนจะถูกส่งไปยังผู้สั่งซื้อทันที หรือพบเห็นจากการขายทั่วไปทั้งในตลาดค้าสัตว์ ทั้งแบบเปิด-แบบปิด และออนไลน์
แต่เมื่อ “ผิดแผน” ถูกตรวจค้น จับกุม
“ลังกระต่าย” ที่บรรจุมา 50 ตัว ที่มีใบ Invoice กำกับถูกต้อง ถูกส่งมาถึงประเทศไทย แบบปกติ มีผู้สั่งซื้อที่มีชื่อตรงกับใบ Invoice มารับตามปกติ เพราะไม่ใช่สัตว์ต้องห้าม
ส่วน “กอริลลา” แม้จะมีใบ Invoice กำกับมาด้วย มีชื่อผู้สั่งซื้อ มีที่อยู่ส่งสินค้าปลายทางถูกต้อง (แต่เป็นสัตว์ที่ห้ามซื้อขาย เพราะผิดกฎหมาย) ก็จะถูกผู้ที่มีชื่อระบุปลายทางปฏิเสธทันทีว่า “ไม่เกี่ยวข้องด้วย” “ไม่รู้เห็นใด ๆ” “ส่งของมาผิดหรือเปล่า”
และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการตรวจสอบชัดเจนว่า ใบ Invoice ใบนั้น ถูกต้องหรือไม่ หรือเป็นเพียงใบที่ Copy เพื่อมาตบตาเจ้าหน้าที่
ผู้บริหารฟาร์มปฏิเสธไม่รู้เรื่อง “กอริลลา”
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารฟาร์มแห่งหนึ่ง ใน จ.นครปฐม ที่ถูกระบุว่า มีชื่ออยู่ใน Invoice ของกอริลลา ปฏิเสธกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส. และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่เข้าตรวจค้น เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 ว่า “ไม่เคยรู้ว่ามีกอริลลา อยู่ในใบรายการที่ถูกจับกุม”
เขาบอกว่า เป็นผู้รับจ้างสั่งซื้อเฉพาะกระต่าย 50 ตัวเท่านั้น ส่วนกอริลลาที่ถูกจับกุมไม่ได้รับรู้ด้วย
ผู้บริหารฟาร์มอธิบายต่อว่า “ก่อนหน้านี้ มีชายต่างชาติ เป็นคนผิวสี ชื่อเดวิด มาสั่งซื้อกระต่าย 3 ครั้งแล้ว ไม่ใช่สั่งซื้อกอริลลา แต่ครั้งนี้การทำธุรกรรมไม่มีเอกสารหลักฐาน แต่เขาใช้เงินสดวางมัดจำการสั่งกระต่าย 50 ตัว จำนวน 50,000 บาท”
เจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจค้นระบุว่า จากการตรวจค้นฟาร์มดังกล่าว พบสัตว์ประเภทไก่, นก, กระรอก, กระต่าย และสัตว์สวยงามจำนวนมาก นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบการขนย้ายสิ่งของบางอย่างออกจากพื้นที่ไปก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจค้นในวันนี้ด้วย
ขณะที่ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ที่ต้องหาให้ชัดว่า เป็นการนำลูกกอริลลามาปนกับกระต่าย หรือใช้เอกสารปลอม สำแดงเป็นกระต่าย เพื่อลักลอบขนกอริลลา เพราะบริษัทต้นทางที่ไนจีเรีย และปลายทางที่ฟาร์มแห่งนี้ ต่างก็ทำธุรกิจนำเข้าสัตว์เหมือนกัน
อย่างไรก็ตามยังมีข้อสงสัยบางเรื่อง เช่น กล่องบรรจุกระต่าย เขาอ้างว่าทำลายไปแล้ว รวมถึงคนต่างชาติที่เขาอ้างว่า มาติดต่อให้ซื้อกระต่ายที่ไม่มีคอนแทคแล้ว จึงต้องหาหลักฐานต่าง ๆ เพิ่ม แม้การนำลูกกอริลลายังไม่มาถึงไทย
การเชื่อมโยงการทำผิด และข้อมูลที่ต้องประสานกับไนจีเรียต้องหาให้มากขึ้น ซึ่งตำรวจจะสืบสวนเพิ่มเติม เพราะไม่มีข้อมูลหลักฐาน จะพาดพิงและเอาผิดได้ยาก
การนำลูกกอริลลาส่งมาไทย น่าจะส่งไปประเทศที่ 3 มากกว่าที่จะเลี้ยงในไทย ซึ่งถ้าจะเลี้ยงต้องเลี้ยงในที่ลับ เพราะเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ ดังนั้นเชื่อว่าจะส่งไปขายประเทศอื่นมากกว่า
จับพิรุธใบ Invoice “กระต่าย-กอริลลา” ทำไมตรงกัน
ขณะที่ พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส. ระบุว่า ใบ Invoice ที่กำกับการนำเข้ากระต่าย 50 ตัว นำเข้ามาอย่างถูกต้อง แต่สิ่งที่น่าสงสัยก็คือ ใบ Invoice ของกระต่าย กลับไปตรงกับใบ Invoice ของกอริลลา ที่ยึดได้ที่สนามบินอิสตันบูล
ยังมีพิรุธที่ต้องตรวจสอบเพิ่มอีกคือ การนำเข้าสัตว์ในบัญชีไซเตส ต้องแจ้งกรมอุทยานฯ การนำเข้ากระต่ายไม่ต้องแจ้ง แต่ทำไมจึงมีลูกกอริลลาเข้ามาแทนกระต่าย
เชื่อว่าถึงที่สุดก็คงไม่มีใครรับเป็นเจ้าของ “ลูกกอริลลา” ผู้น่าสงสาร และการ “ระวังตัว” ที่จะถูกจับตามองของธุรกิจนี้ ก็กลับมาอีกครั้ง
อ่านข่าว :ไขปมพิรุธใบ Air Waybill "ลูกกอริลลา" ลังใส่กระต่ายคล้ายกัน