วันนี้ (27 ธ.ค.2567) นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุข ภาพ (สบส.) กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลมีมติขยายวันเฝ้าระวังความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เพิ่มเป็น 10 วัน ตั้งแต่ 27 ธ.ค.2567-5 ม.ค.2568 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเทศกาลปีใหม่ที่ประชาชนทั่วประเทศจะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยวกันอย่างคับคั่ง จึงอาจจะส่งผลให้มีอุบัติเหตุ หรือการเจ็บป่วยของผู้ที่มีโรคประจำตัวเพิ่มมากขึ้นจากช่วงเวลาปกติ
อ่านข่าว รถแน่น! ถนนมิตรภาพ เดินทางกลับบ้านฉลองปีใหม่ 2568
ดังนั้น เพื่อรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินและฉุกเฉินวิกฤต ให้ได้รับการดูแล รักษาจากสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ( UCEP) ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐ ในการสร้างความครอบคลุมลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างปลอดภัยจากสถานพยาบาลทุกแห่ง โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษา 72 ชั่วโมงแรก
นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า สบส.มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่จากกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมายดำเนินการในเชิงรุก ลงพื้นที่ตรวจสอบ คุมเข้ม และทำการแจ้งเวียนแก่สถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ให้มีการเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยในช่วง 10 วันอันตราย และปฏิบัติตามนโยบาย UCEP อย่างเคร่งครัด ไม่ปฏิเสธการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในทุกกรณี
อ่านข่าว ปีใหม่ 2568 ขยายเวลารถไฟฟ้ามหานคร 4 สาย เดินทางข้ามปีถึงตี 2
โดยจะต้องให้ความสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยเป็นอันดับแรก หากพบว่าสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธ การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติ ก็จะมีการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ เข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีสบส.กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยเพื่อรับบริการตามนโยบาย UCEP แก่ประชา ชน ขอให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย UCEP ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) หากผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) สถานพยาบาลต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ
โดยห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก แต่หากผู้ป่วยมิได้มีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) จะต้องมีการสื่อสารสอบถามสิทธิในการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยหรือญาติเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด
นอกจากนี้ หากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ผ่านสายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ หากประชาชนพบสถานพยาบาลแห่งใดไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถแจ้งที่ สบส.ที่ 02-193 7000 หรือหากอยู่ในส่วนภูมิภาคขอให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อ่านข่าว สุวรรณภูมิแน่น! ออกเดินทางปีใหม่2568 แนะเผื่อเวลา
เช็กเงื่อนไข-เกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่
สำหรับสิทธิ UCEP สิทธิ UCEP คือสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤตและสามารถคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง 6 อาการที่เข้าข่าย ภาวะฉุกเฉินวิกฤต
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
- หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
- ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
- เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
- แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
- อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย
อ่านข่าว วางแผนล่วงหน้า ปีใหม่ 2568 เช็กเส้นทางเลี่ยงรถติดครบทุกภาค
ขั้นตอนการใช้สิทธิ UCEP
- ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
- โรงพยาบาลประเมินอาการและคัดแยกระดับความฉุกเฉิน
- ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล
- กรณีเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ UCEP ทันทีแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
- กรณีไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตให้รีบประสานโรงพยาบาลตามสิทธิหากประสงค์รักษาต่อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
อ่านข่าวอื่นๆ
IDMB ขวัญใจมหาชน “ผู้การจ๋อ” นอนยังฝัน คนร้ายกำลังทำอะไร?