ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"โรงพยาบาลชายแดน" ความมั่นคงสุขภาพ-ความมั่นคงชายแดน

สังคม
21 ธ.ค. 67
12:28
64
Logo Thai PBS
"โรงพยาบาลชายแดน" ความมั่นคงสุขภาพ-ความมั่นคงชายแดน
กระแสดรามาโรงพยาบาลแถบชายแดน กรณีบุคลากรทางการแพทย์เรียกร้อง ให้ แก้ปัญหาคนต่างด้าวเข้ามารักษาจำนวนมาก สะท้อนภาพความเป็นจริงของระบบสาธารณสุขไทยที่ใช้งบประมาณปีละกว่าแสนล้านบาท ไม่ใช่แค่เพื่อคนไทยแต่ยังต้องบวกคนข้ามชาติ เข้าไปด้วย

วันนี้ (21 ธ.ค.2567) ประเด็นนี้เห็นได้ชัดตามโรงพยาบาลชายแดน ที่ต้องรองรับปัญหาสุขภาพของประชากรไทยและคนข้ามชาติ ท่ามกลางข้อจำกัดของทรัพยากร กำลังคน และมนุษยธรรมที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

ท่ามกลางภัยสู้รบฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังไม่มีท่าทียุติ โรคภัยที่ชุกชุมในพื้นที่ป่าเขา เดินทางยาก รพ.ท่าสองยาง จ.ตาก จึงเป็นเพียงที่เดียวจากแนวชายแดนเมียนมาราว 250 เมตร ที่ให้การตรวจรักษาผู้ป่วยปีละไม่ต่ำกว่าแสนคน นอกจากคนไทย คือ กลุ่มชาติพันธุ์ รอการพิสูจน์สิทธิ์ รวมทั้งคนจากฝั่งเมียนมา ซึ่งมีประมาณร้อยละ 40 แต่ภาระการรักษา กลับสวนทางกับการเงินของโรงพยาบาล

ข้อมูลจากกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ล่าสุด พบว่า "เงินบำรุงคงเหลือ" ของ รพ.ท่าสองยาง ติดลบกว่า 24 ล้านบาท ไม่ต่างจากโรงพยาบาลชายแดนใน จ.ตาก ทั้ง รพ.แม่ระมาด และ รพ.อุ้มผาง จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าอะไรทำให้โรงพยาบาลชายแดนแบกภาระเกินพอดี

ผอ.รพ.ท่าสองยาง อธิบายว่าแม้เงินที่ติดลบมาจากค่าใช้จ่ายหลายส่วน แต่ก็ยอมรับว่าแต่ละปี ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากการรับผู้ป่วยคนข้ามชาติ ที่ไม่มีสิทธิ์ในระบบประกันสุขภาพ - จ่ายค่าบริการไม่ได้ ปีละ 10-20 ล้านบาท มีทั้งโรคซับซ้อน เรื้อรัง คลอดบุตร ซึ่งโรงพยาบาลไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ทั้งตามหลักมนุษยธรรม และกฎหมาย จึงต้องช่วยเหลือแบบสงเคราะห์

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

แต่ท่ามกลางงบฯ และข้อจำกัดในพื้นที่ สิ่งท้าทายของโรงพยาบาลชายแดน คือ งานด่านหน้าในการป้องกัน และควบคุมโรคระบาดเพื่อความมั่นคงทางของระบบสุขภาพของประเทศ

ระบบสาธารณสุขบ้านเราที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ชวนมองอีกมุมของโรงพยาบาลชายแดน อย่างที่มุกดาหาร นครพนม คนประเทศเพื่อนบ้านก็มักข้ามมารักษา สร้างรายได้ให้โรงพยาบาลฝั่งไทย ถึงไม่ใช่ทุกคนที่มีกำลังจ่ายก็ตาม นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนและปัญหาสถานะบุคคล เสนอว่า บอกว่าการสร้างระบบประกันสุขภาพตามแนวชายแดนแบบร่วมจ่าย คือทางออกในระยะยาว

เมื่อโรคภัยไม่เลือกว่าจะเกิดกับเชื้อชาติไหน ไม่ต้องขอวีซาเข้าเมือง โรงพยาบาลชายแดนจึงเป็นด่านหน้าความมั่นคงด้านสุขภาพ และความมั่นคงชายแดน ที่คนชั้นในจะสุขภาพดีได้ การส่งเสริมป้องกันโรคตั้งแต่ชายแดนจะต้องแข็งแรงก่อน

อ่านข่าว : ปิดด่านไทย-เมียนมา อหิวาตกโรคระบาดเมียวดี ป่วย 300 ตาย 2 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง