19 ธ.ค.2567 พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท. พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 และ พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไทยประเสริฐ รอง ผบก.สอท.2 รรท.ผบก.สอท.3 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวคืบหน้าหนุ่มวัย 17 ปี และย่า ถูกหลอกโอนเงินเก็บทั้งชีวิต กว่า 3.4 ล้านบาท
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานขอออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการได้หลายราย โดยล่าสุด พ.ต.อ.อดิชาต อมรประดิษฐ ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3 ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ชุดสืบสวน นำหมายจับศาลอาญาที่ 6106/2567 เข้าจับกุมตัวนายภีมากร อายุ 32 ปี ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจด้วยการขู่เข็ญ, ร่วมกันโดยทุจริตหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และสมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ลีร่วมกันฟอกเงิน โดยควบคุมตัวได้ที่บ้านพักในพื้นที่ ม.6 ต.ถลุงเหล็ก อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
สอบถามเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อ้างว่าไม่เคยรับจ้างเปิดบัญชี แต่เคยไปลงข้อมูลไว้ในแอปพลิเคชันหางาน และมีการแจ้งข้อมูลส่วนตัว รวมทั้งเลขบัตรประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่พบข้อมูลหลักฐานสำคัญเส้นทางการเงิน และอยู่ระหว่างขยายผลจับกุมผู้ต้องหาอื่นที่ร่วมขบวนการรวมไปถึงตัวการใหญ่ คาดว่าจะมีความคืบหน้าเร็ว ๆ นี้
คดีนี้สืบเนื่องจากกรณีเยาวชนชาย อายุ 17 ปี อาศัยอยู่กับปู่และย่าในพื้นที่ จ.อุดรธานี ได้ถูกกลุ่มแก๊งคอลเซนเตอร์โทรศัพท์หลอกลวง อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จนสูญเงินกว่า 3.4 ล้านบาท โดยมีสายปริศนาโทรเข้ามา อ้างว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีฟอกเงิน โดยมิจฉาชีพที่โทรเข้ามานั้นทราบข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหาย และแจ้งว่าได้อายัดบัญชีและปิดการใช้งานแอป Mobile Banking ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายได้
เมื่อผู้เสียหายตรวจสอบ ปรากฏว่าบัญชีธนาคารถูกอายัดและไม่สามารถเข้าใช้งานแอป Mobile Banking ผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้จริง ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าผู้ที่ติดต่อเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ตัวจริง
จากนั้นมีคนแต่งกายเป็นตำรวจทั้งชายและหญิงมาพูดคุยด้วย แล้วแจ้งให้โอนเงินไปตรวจสอบจำนวน 50,000 บาท แต่เนื่องจากผู้เสียหายไม่มีเงินในบัญชี มิจฉาชีพจึงบอกให้ไปหาเงินจากบัญชีธนาคารของญาติหรือใครก็ได้ แล้วโอนไปให้ตรวจสอบผู้เสียหายและย่าของผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงนำโทรศัพท์ของย่าที่มีแอปพลิเคชันธนาคารและมียอดเงินในบัญชีจำนวน 2 บัญชี โอนเงินไปให้ผู้ก่อเหตุรวม 10 ครั้ง เป็นจำนวน 1,372,311 บาท
ต่อมาผู้เสียหายยังได้นำโทรศัพท์ของปู่ตนเองโอนเงินให้ผู้ก่อเหตุอีก 1 ครั้ง เป็นเงิน 46,163 บาท แล้วได้นำบัญชีธนาคารอีกบัญชีของย่า ซึ่งไม่สามารถโอนผ่านแอปพลิเคชันได้ไปปิดบัญชีที่ธนาคาร แล้วนำเงินเข้าบัญชีของผู้เสียหาย ก่อนโอนให้มิจฉาชีพอีก 1 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 1,998,004 บาท รวมความเสียหายที่โอนเงินทั้งสิ้น 3,412,642 บาท ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินเก็บของปู่และย่าของผู้เสียหายที่ได้เก็บมาทั้งชีวิต
อ่านข่าว : ร้อง สธ.ตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิต สงสัยลูกสะใภ้วางยาแม่-ยาย
รมว.กต.เมียนมา ยืนยันปล่อยตัว 4 ลูกเรือไทยเร็ว ๆ นี้