วันนี้ (18 ธ.ค.2567) กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และภาคีเครือข่ายประกาศเจตนารมณ์ ยกระดับ“สถานบริการสุขภาพไทย” โดยตั้งเป้าให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีประสบการณ์ถูกตีตราและเลือกปฏิบัติในสถานพยาบาลน้อยกว่าร้อยละ 10 ตามยุทธศาสตร์เอดส์โลกในปี 2030 ซึ่งประเทศไทยร่วมกับ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) เข้าร่วมการขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นประเทศแรก ๆ ร่วมกับนานาชาติอีก 40 ประเทศ
โดยระหว่างวันที่ 8 -12 ธ.ค.2567 ทีมผู้เชี่ยวชาญของไทยและนานาชาติได้ลงพื้นที่ไปยังสถานบริการสุขภาพทั้ง 4 ภาค นครสวรรค์ เชียงราย นครราชสีมา สงขลา และกรุงเทพมหานคร ภายใต้ภารกิจร่วมเพื่อทบทวนการดำเนินงานลดการตีตรา และการเลือกปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี ในสถานบริการสุขภาพของประเทศไทย
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญนานาชาติได้เห็นศักยภาพสถานบริการสุขภาพ ที่สามารถลดการตีตราและเลือกปฏิบัติได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น การทำงานแบบ Whole Provincial Apprach ใน จ.นครราชสีมา ที่สถานบริการสุขภาพทุกแห่งทั้งจังหวัด รวมพลังทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
โรงพยาบาลแม่ลาว จ.เชียงราย เป็นตัวอย่างการทำงาน Total Facility Approach ทุกคลีนิคในโรงพยาบาล ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี และประชากรหลัก ไม่เฉพาะคลีนิคยาต้านไวรัส
โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นตัวอย่างที่ดีที่มีการดำเนินแบบหุ้นส่วนบริการระหว่างโรงพยาบาลกับภาคชุมชน ภาคประชาสังคม
นพ.สุเมธ องค์วรรณดี ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค และหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายไทย ระบุว่า ที่ผ่านมา การลดการตีตราและเลือกปฏิบัติเป็น 1 ใน 3 ยุทธศาสตร์หลัก ที่กรมควบคุมโรค ดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 มีการอบรมแบบมีส่วนร่วมให้กับผู้รับบริการสุขภาพ พัฒนาและยกระดับสถานบริการสุขภาพด้วยหลักสูตรต่าง ๆ และขยายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2561
นพ.สุเมธ องค์วรรณดี ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค และหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายไทย
นอกจากขับเคลื่อนผ่านโรงพยาบาล คือการทำงานร่วมกัน ทั้งภาคประชาสังคม และทีมของเครือข่ายผู้ติดเชื้อในพื้นที่ เพราะการจะลดการตีตราเลือกปฏิบัติ ทำโดยภาครัฐส่วนเดียวไม่ได้ ต้องทำผ่านทางเครือข่ายทางชุมชนด้วย เนื่องจากกลุ่มคนที่ทำงานด้านนี้ ส่วนหนึ่ง ก็จะเป็นผู้ที่เคยได้รับผลกระทบ แล้วก็กลับมาอาสาสมัคร เป็นผู้ที่จะขับเคลื่อนเพื่อที่จะให้เพื่อนๆ ของเขา ได้ประสบการณ์ที่ดี
นพ.อนุวัตร ศุภชุติสกุล ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลสุขภาพ ระบุว่า เห็นความเป็นไปได้ จากการลงพื้นที่ในการขับเคลื่อนการลดการตีตราตามเป้าหมาย
“ที่โคราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ขับเคลื่อนทั้งจังหวัด ร่วมกับผู้ว่าฯ ประกาศเป็นนโยบายของจังหวัด ว่าจะสร้างวัฒนธรรมการไม่ตีตราขึ้นมา แล้วก็รณรงค์ให้ทุกโรงพยาบาลร่วมมือกัน ทางจังหวัด ก่อนหน้านี้ มีประสบการณ์ในเรื่องการทำงานพื้นที่นำร่อง ทำให้ไม่สามารถขยายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ได้ตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้น จังหวัดจึงเริ่มทุบหม้อข้าว คือ ไม่ทำนำร่อง แต่จะทำทั้งจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกโรงพยาบาลในจังหวัด จะทำร่วมกัน”
ด้าน นพ.ภานุมาศ ญาณเวทย์กุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันถึงความมุ่งมั่นลดการตีตราในสถานพยาบาล รวมถึง เรื่องงบประมาณที่เห็นสอดคล้องกับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ที่เห็นว่า ควรมีงบประมาณอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน
นพ.ภานุมาศ ญาณเวทย์กุล อธิบดีกรมควบคุมโรค
เรื่องตีตรา เราทำกันมาเยอะ เราอยากให้ทุกอย่างราบรื่นและดีหมด แต่เราก็ยังมีข้อที่เราต้องปรับในหลายๆ จุด เราต้องทำให้มากขึ้น ดีขึ้น
ข้อมูล ปี 2566 จากดัชนีการตีตรา พบว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 16 มีประสบการณ์ถูกตีตราและการเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับเอชไอวี หรือในสถานบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับสุขภาพอื่น ๆ
ขณะที่ประเทศไทยยึดหลักให้บริการ HIV ที่มีคุณภาพสูงและปราศจากจากการตีตรา เพื่อการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน และใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการยุติเอดส์ที่เป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขภายในปี พ.ศ.2573 และเกิดความยั่งยืนในระบบสาธารณสุขของประเทศ ภายใต้สโลแกน “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา”
สำหรับองค์กรที่ร่วมกันดำเนินภารกิจร่วม เพื่อทบทวนการดำเนินงานลดการตีตรา และการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีในสถานบริการสุขภาพของประเทศไทย ในครั้งนี้ ประกอบด้วย กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย (TNP+) คณะกรรมการองค์การพัฒนาด้านเอดส์
ผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ
และผู้เชี่ยวชาญของไทยและนานาชาติจาก RTI International, University of California San Francisco (UCSF), ศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (US.CDC), องค์การพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID), กองทุนโลก (GFATM) และโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS)
อ่านข่าว :