ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

20 ปีสึนามิ จุดเปลี่ยนรับมือ "ภัยพิบัติ"

ภัยพิบัติ
18 ธ.ค. 67
16:35
104
Logo Thai PBS
20 ปีสึนามิ จุดเปลี่ยนรับมือ "ภัยพิบัติ"

วันนี้ (18 ธ.ค.2567) จากเสวนา รำลึก "20 ปี สึนามิ จุดเปลี่ยน…ภัยพิบัติ" ชวนร่วมรำลึก "20 ปี สึนามิ จุดเปลี่ยน…ภัยพิบัติ" เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี เหตุคลื่นยักษ์สึนามิ ถล่ม 6 จังหวัดทางภาคใต้ของไทย เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 

นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และอดีตผู้ประสบเหตุสึนามิ จ.พังงา กล่าวว่า หลังเกิดเหตุสึนามิพัดถล่มชายฝั่งอันดามันของไทย ภาพคือมีเห็นศพจำนวนมากกองระเกะระกะ และมีซากปรักหักพังเหมือนโดนนิวเคลียร์ ที่ยังเหลือคือบ้าน 2 ชั้น ส่วนบ้านชั้นเดียวพังไปหมด และนึกว่าอาจจะเกิดคลื่นอีกหรือไม่

ตัดสินใจเก็บเศษขยะที่ลอยมาต่อแพ นำศพ และคนพิการขึ้นแพ โชคดีที่เจอศพของพ่ออยู่ในบ้าน จึงนำศพออกมาได้ เมื่อเจอคนเจ็บเริ่มคลานเข้ามา ก็รู้สึกว่าโชคดีคนไม่ตายหมด ยังมีคนที่มีชีวิตรอดอยู่ จึงหนีต่อ
นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และอดีตผู้ประสบเหตุสึนามิ

นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และอดีตผู้ประสบเหตุสึนามิ

นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และอดีตผู้ประสบเหตุสึนามิ

ไมตรี ยอมรับว่ายุ่งไปหมดจริง ๆ ต้องการหนีเข้าป่า ขึ้นเขา จากนั้นเมื่อไปถึงโรงพยาบาล มีข่าวว่าแก๊สจะระเบิดก็หนีไปที่ตะกั่วป่า มีคนตะโกนว่า น้ำมา ๆ ก็วิ่งหนี ซึ่งจริงๆ คือ น้ำดื่ม ซึ่งตอนนั้นสับสนไปหมด

ขณะนั้นผมเป็นสมาชิก อบต.ด้วย ก็นำไปศพพ่อไปที่วัด และโทรให้ญาติมารับศพพ่อไปบำเพ็ญกุศล ทุกคนไม่คิดว่าศพจะมาก รถกู้ภัยก็ไปแถวเขาหลัก ศพเข้ามาก็ช่วยเก็บ ปักไม้ไว้ที่ศพให้เขามาเก็บ เดินช่วยหาศพ 

จนมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือ เริ่มจากจัดตั้งห้องสุขา ซึ่งขณะนั้นชาวบ้านต้องการห้องน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากปัจจัย 4 ทั้งที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษ โรค และเมื่อจัดตั้งได้ก็ทำให้มีผู้มารวมกันมากขึ้น

ศ.กิตติคุณ ดร.ปัญญา จารุศิริ นักธรณีวิทยาแผ่นดินไหว

ศ.กิตติคุณ ดร.ปัญญา จารุศิริ นักธรณีวิทยาแผ่นดินไหว

ศ.กิตติคุณ ดร.ปัญญา จารุศิริ นักธรณีวิทยาแผ่นดินไหว

ฉีกตำราคลื่นสึนามิมหาสมุทรอินเดีย

ศ.กิตติคุณ ดร.ปัญญา จารุศิริ นักธรณีวิทยาแผ่นดินไหว กล่าวว่า วันแรกหลังเหตุการณ์เพียงหนึ่งวันคือ 28 ธ.ค.2547 ทีมนักธรณีวิทยาจากจุฬาลงกรณ์ลงพื้นที่ ภาพที่เห็นคือความเสียหายจากสึนามิที่กลืนทุกอย่างราบเป็นหน้ากลองรู้สึกน่ากลัว

ยอมรับว่าโอกาสเกิดสึนามิในมหาสมุทรอินเดียไม่ปรากฎในหนังสือและตำราเรียนที่เคยเป็นองค์ความรู้ ที่พบความเสี่ยงเพียงรอบมหาสมุทรแปซิฟิกไม่เลยลึก เข้ามาถึงมหาสุมทรอินเดีย

อดีตนักวิชาการแผ่นดินไหว ระบุว่า หากเทียบเคียงโอกาสคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่ในไทยคงมีเพียงเคสคลื่นแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราชเมื่อปี 2505 แต่ไม่ใช่อิทธิพลจากพายุ เพราะสึนามิเป็นอิทิพลภายใต้แผ่นเปลือกโลก

คำถามคือหากรู้ว่าถ้ามีโอกาสเกิดสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย จะมีคนตายมากมายหรือไม่ พร้อมคำถามว่าทำไมชาวเลถึงรอดตาย เพราเขาถูกสอนให้เห็นว่าหากมีคลื่นยักษ์ ต้องขึ้นไปที่ระดับน้ำทะเลสูงกว่า และนั่นคือสิ่งที่รับรู้เราปล่อยให้ซ้อมด้วยการให้คนวิ่งอย่างเดียวไม่ได้

ส่วนคำถามว่า จุฬาทำอะไรต่อในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสิ่งที่ตั้งโจทย์ คือตอนนั้นอยู่หน่วยวิจัยธรณีวิจัยแผ่นดินไหว จึงต้องหาคำตอบว่ามีโอกาสจะเกิดอีกหรือไม่ในอนาคต มันไม่ง่าย เพราะแม้แต่แผ่นดินจากรอยเลื่อนยังหา

เสวนา รำลึก

เสวนา รำลึก

เสวนา รำลึก "20 ปี สึนามิ จุดเปลี่ยน…ภัยพิบัติ"

นักวิชาการ บอกว่า หาคำตอบว่าสึนามิ พาตะกอนทราย ถ้าเคยเกิดในอดีตแสดงว่ามีตะกอนทรายแบบสึนามิอยู่ข้างใต้ และทำไมญี่ปุ่นต้องตั้งชื่อว่าสินามิ คลื่นท่าเรือ หมายถึงเกิดประจำ แต่ไม่ใช่ว่าทุกจุดจะมีความสามารถในการกักตะกอน แต่ไม่มีทุกจุดที่จะกักตะกอน

จากการวิจัยข้อมูลว่าที่เกาะพระทอง มีต้นแสม ต้นโกงกางที่เก็บตะกอน และสำรวจจนได้คำตอบว่าครั้งแรกเคยเกิดสึนามิ เมื่อ 600 ปี ขนาด 9 และมีการวิจัยต่อถึงโอกาสจะเกิดขึ้นในอนาคตในราว 400 ปี สอดคล้องหัวเกาะอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย 

มองว่าบทเรียนจากญี่ปุ่น พบว่ากำแพงยักษ์ไม่สามารถป้องกันได้หรือไม่ ถอดแบบฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ทำกำแพงไม้แบบป่าโกงกางจะช่วยแรงจากคลื่นจะลดลง
พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

"ภัยพิบัติ" ต้องบริหารแบบพิเศษ

"ขณะนั้นเป็นเวลา 1 ปีเศษที่ตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เมื่อทราบถึงเรื่องนี้ว่า มีผู้เสียชีวิต 500 คน และไม่มีหมอนิติเวชในพื้นที่ จึงขออนุญาตรัฐมนตรีในการลงพื้นที่ 8 คนไปที่ จ.ภูเก็ต ก่อนและเห็นถึงความยุ่งเหยิง ของพื้นที่ และได้ข้อมูลว่า จ.พังงา มีผู้เสียชีวิต 10 เท่าของ จ.ภูเก็ต รวมถึงการสื่อสารที่ล่ม จึงทำให้การสื่อสารยากลำบาก จากนั้นจึงเดินทางไปยัง จ.พังงา"

แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า กรณีสึนามิไม่ควรมองเป็น "ภัยพิบัติ" แต่ควรมองเป็น "สถานการณ์วิกฤต" จะช่วยให้เข้าใจปัญหามากขึ้น เพราะมีทั้งเรื่องคน เรื่องสัตว์ และสิ่งของ 

เพราะเวลานั้นระบบรัฐต้องรอคำสั่ง แต่ตนเองรู้ว่าคนในพื้นที่ต้องการอะไร และได้ขอลงพื้นที่ ซึ่งปัญหามีให้แก้ทุกวัน เช่น ปัญหาระบบการสื่อสาร และค่อย ๆ แก้ปัญหาไปทีละจุด

ขณะนั้นปัญหาคือรัฐมีความไม่พร้อม เช่น นายกรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีดูเป็นจังหวัด แต่พื้นที่ที่ต้องบริหารจัดการมีมาก หรือ ปภ.ก็ไม่รู้ยอดผู้เสียชีวิตได้ ตำรวจก็มองเป็นเรื่องอาชญากรรม

ทุกอย่าง จึงเป็นการแก้ไขปัญหารายวัน และค่อย ๆ แก้ปัญหาไป โดยต้องลดความเสี่ยง และอยากให้ถอดบทเรียน ซึ่งถ้าถอดบทเรียนดีจะได้ประโยชน์ 

แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ กล่าวว่า กรณีสึนามิผู้เสียชีวิตต้องจัดการภายหลังแต่ต้องเร็วในการวางระบบ ไม่ต้องรีบคืนศพ เห็นได้จากขณะนั้นมีอาสาสมัครจำนวนมาก และอาสาอาจมีความขัดแย้งกันบ้าง ทำให้การจัดการศพมีปัญหา เช่น จัดการศพครอบครัวเดียวกันอยู่คนละวัด สิ่งเหล่านี้ควรถอดบทเรียนอย่างยิ่ง

ดังนั้น ปัญหาการบริหารจัดการต้องเป็นการบริหารแบบพิเศษ ไม่ใช่การบริหารแบบโครงสร้างตามปกติ เช่น เรื่องการขอไฟฟ้าใช้ในพื้นที่ ขณะนั้น ต้องขอตามขั้นตอนซึ่งค่อนข้างล่าช้า แต่ที่ได้ไฟมาใช้ทันที คือ ได้ขอไปยัง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ก็ได้ทันที เพราะเป็นเพื่อนกัน ดังนั้น ควรมีการจัดการอบรมการบริหารสถานการณ์พิเศษ แก่ผู้นำในระดับต่าง ๆ

ปภ.ยัน 130 หอเตือนภัยสภาพพร้อมใช้งาน

นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า ปภ.มีข้อห่วงใยภัยสึนามิที่ไม่สามารถที่หยุดเหตุการณ์ได้ แต่จะอยู่ร่วมด้วยกันอย่างไร สำหรับ ปภ.ได้มีระบบการซักซ้อมแจ้งเตือนสม่ำเสมอ มีการอบรมแผนเผชิญเหตุ ระบบบัญชาการเหตุการณ์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่น และเน้นย้ำให้จังหวัดปรับปรุงพื้นที่เสี่ยงภัยและซักซ้อมกับการอพยพพี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ฝึกซ้อมกับประชาชนในพื้นที่ พร้อมกันทั้ง 6 จังหวัด ส่วนการออกแบบด้านสถาปัตย์ที่เอื้อต่อการอพยพก็มีความจำเป็นเช่นกัน

รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อการแจ้งเตือนภัยป้องกัน

ซึ่งในปัจจุบันมีทุ่นจำนวน 2 ทุ่น ที่ทำงานร่วมกันกับทางอินโดนีเซีย ที่เพียงพอต่อการแจ้งเตือน และหอสัญญาณ 130 แห่งในอันดามันจะดังพร้อมกันเมื่อมีเหตุ ซึ่งขณะนี้ก็ใช้การได้ทั้งหมด และมีการทดสอบทุก 08.00 น.ทุกวันพุธ เพื่อให้ประชาชนคุ้นเคยกับการแจ้งเตือน

สหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

สหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

สหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

สำหรับกระบวนงานแจ้งเตือนภัย ปภ. มี input ชุดข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา สทนช. กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ เก็บประมวลข้อมูล ก่อนจะวิเคราะห์กับพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบ ก่อนประกาศแจ้งเตือน เมื่อมั่นใจว่าเกิดเหตุในพื้นที่ก็จะกระจายข้อมูลเตือนภัยสาธารณภัย

ช่องทางการแจ้งเตือนช่องทางที่ 1 จะแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานราชการ เพื่อให้เตรียมกำลังพล เตรียมทรัพยากร เตรียมความพร้อม ในการช่วยเหลือ

อีกช่องทางหนึ่งจะแจ้งเตือนไปยังประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย SMS เป็นข้อความไม่เกิน 70 ตัวอักษร เป็นภาษาไทย หากเป็นภาษาอังกฤษเพิ่มเป็น 2 เท่า ระบบนี้จะแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 12-24 ชั่วโมง และการแจ้งเตือนภัยแบบฉุกเฉิน 6-12 ชั่วโมง หากเข้าหลักเกณฑ์แจ้งเตือนภัย 5 ระดับ รวมถึงทุกช่องทาง เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมในการเฝ้าระวัง

ปัจจุบันหน่วยพยากรณ์ค่อนข้างแม่นยำ และหลายหน่วยงานมีการพยากรณ์ที่ค่อนข้างตรงกัน 

"การแจ้งเตือนมี 2 มุม ถ้าแจ้งเตือนบ่อยจนเกินไปก็จะเกิดจากชินชา และถ้าแจ้งเตือนผิดแต่ประชาชนกลับขนย้ายสิ่งของไปแล้วโดยมีค่าใช่จ่ายก็จะหาคนรับผิดชอบไม่ได้ และการหวงของเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเยอะมาก"

กระจายอำนาจลงท้องถิ่น-แชร์ข้อมูลความเสี่ยง

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันที่เกิดสึนามิ ไทยไม่มีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติและคำเตือนของ ดร.สมิทธิ์ ธรรมสโรช ไม่ว่าจะเตือยด้วยเหตุผลใดก็ตามไม่ได้ถูกจัดการโดยรัฐบาลในการทำมาตรการเตรียมพร้อมไว้ อีกทั้ง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ออกมาหลังเกิดสึนามิ เพราะฉะนั้นในปีที่สึนามิเกิดไทยใช้ พ.ร.บ.ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ซึ่งเขียนขึ้นในปี 2522 และมีการปรับปรุงเรื่อยมา

ตาม พ.ร.บ.ที่มีอยู่ในขณะนั้น ผู้ที่ใหญ่ที่สุดไม่ใช่นายกรัฐมนตรี แต่เป็น รมว.มหาดไทย เหตุการณ์สึนามิในวันนั้นเป็นเหตุการณ์ใหญ่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้กระทรวงมหาดไทย อาจไม่เคยถูกทำให้รู้จักกับเรื่องนี้มาก่อน ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของ 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจะเอาเครื่องมือหรือคนมาจากที่ไหนและจะจัดการอย่างไร

แม้ขณะนั้นยังไม่มีระบบ แต่คนทำงานในพื้นที่ได้ปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ ทำให้ระบบหน้างานของแต่ละเรื่อง เช่น การจัดการผู้เสียชีวิต รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอาสาสมัครที่เริ่มเข้าไปก็จะเริ่มมีการจัดการเป็นกลุ่มๆ ขณะเดียวกันก็มีการทำงานที่เกิดความซ้ำซ้อน เพราะ 21 วันแรกหลังเกิดเหตุมีหน่วยงานเข้าไปร่วมจัดการมากกว่า 600 หน่วยงาน

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

รศ.ทวิดา กล่าวอีกว่า เหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมามีการถอดบทเรียนกันมามาก แต่ปัญหาคือบทเรียนที่ถอดมักได้รับการยกเว้นว่าเป็นเคส บทเรียนไหนก็เป็นของบทเรียนนั้น และจะมีคนพูดอยู่ตลอดเวลาว่ามันไม่เหมือนเดิม ดังนั้นจึงต้องหยุดเรื่องเหล่านี้ และประเด็นอยู่ที่ว่าข้อมูลอยู่ไหน อย่างระบบ ICS ระบบบัญชาการเหตุการณ์ ระบบการร้อยเรียงข้อมูล วันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ แต่ไม่ใช้ หากรู้แล้วใช้ให้เป็น คนที่ชอบสั่งทับต้องหยุดสั่งทับ ต้องเชื่อว่าท้องถิ่นทำได้ หากท้องถิ่นจะทำได้ต้องรู้ว่าตัวเองเสี่ยงกับอะไรอยู่

สิ่งที่ต้องทำคือกระจายอำนาจ กระจายศักยภาพ กระจายทรัพยากร แต่สิ่งที่ต้องเอามาแชร์และรวมกันคือข้อมูลความเสี่ยง พื้นที่ไหนเสี่ยงอะไร พื้นที่ที่ทำเองได้ปล่อยให้เขาทำ พื้นที่ไหนทำเองไม่ได้ รัฐต้องสนับสนุนและมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วย

ข้อมูลความเสี่ยงมี 2 ก้อน ก้อนแรกคือสถิติที่เคยเกิดและความเป็นไปได้ที่อาจจะดูเพ้อเจ้อ แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์บอกว่ามีความเป็นไปได้ ก็ควรจะพ่วงไว้ การที่สถานการณ์จะเกิดเหมือนเดิมไม่มีอยู่จริง ไม่เคยมีสถานการณ์ไหนเกิดซ้ำกัน เพราะฉะนั้นคำว่า "คาดไม่ถึง" ต้องใช้กับเรื่องที่มหัศจรรย์จริงๆ ต้องแยกให้ออกว่าความเสี่ยงที่วิเคราะห์ไว้ในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ให้ข้างล่างแข็งแรงที่สุดก่อน เมื่อเขาแข็งแรงที่สุดเขาก็จะอ่อนแอช้า เหนื่อยช้า หลังจากนั้นส่วนกลางที่มีทรัพยากรอยากจะลงไปจัดการก็สามารถไปได้ ซึ่งหากทำแบบนี้แล้วระบบจะร้อยเรียงกันได้

"เราต้องเชื่อมันกันมากพอ แต่ความเชื่อมั่นมันเสกไม่ได้ ต้องมาจากการที่เรายอมส่งอำนาจ ทรัพยากร กำลัง ความรู้และข้อมูลลงไปให้เขาด้วย โดยใช้ข้อมูลให้เป็นหน้าตักเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันจะไม่ยุ่ง เรื่องการสื่อสารหากทำระบบให้ตายยังไง แต่ข้อมูลที่อยู่ข้างในเป็นขยะ ก็คือการสื่อสารขยะอยู่ดี ซึ่งเราจะจัดการได้ดีขึ้นเรื่องๆ เมื่อเราไม่ปะปนกันแบบนี้" รศ.ทวิดา กล่าว

 อ่านข่าว :

ไทยควรรู้ ? ถอดบทเรียนมาตรการเยียวยาภัยพิบัติสึนามิ ญี่ปุ่น 2554

ปภ.เริ่มแล้ว ส่ง SMS แจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 24 ชม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง