สงครามการเมืองเมียนมา (Myanmar Civil War) กล่าวได้ว่า ยาวนานที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 1948 และไม่มีทีท่าจะจบง่าย ๆ มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มขัดแย้งทางการเมืองต่าง ๆ แยกย่อยออกมาเป็นกองกำลังต่าง ๆ เพื่อปลดแอกตนเองจากการปกครองแบบอำนาจนิยม กระนั้น กิจการภายในประเทศของเมียนมาก็ส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้านไม่น้อย
การแก้ไขปัญหาชายแดนไทย-เมียนมา ถือเป็นประเด็นด้านความมั่นคงลำดับต้น ๆ ที่ต้องหาทางออก มีการระดมสมอง และประสานพลังจากทุกภาคส่วนอยู่บ่อยครั้ง แต่ยังคงประสบกับปัญหาหลายประการ ทั้งปัญหาจากเมียนมา ที่กลุ่มต่อต้านต่าง ๆ ขาดความร่วมมือ หรือปัญหาจากไทยเอง ที่ยังไม่อาจสร้างฉันทามติได้ว่า ปัญหาชายแดนเมียนมาจะจัดการอย่างไร
มีการตั้งคำถามว่า ที่สุดแล้ว ไทยจะสถาปนาตนเองเป็นตัวกลาง สร้างสัมพันธภาพ และเชื่อมร้อยความแตกแยกของเมียนมาได้หรือไม่ ใช้กลวิธีใด ประสานพลังอย่างไร และท้ายที่สุด "สันติภาพอย่างถาวร (Perpretual Peace)" จะเกิดแก่เมียนมาหรือไม่
เปิดเปเปอร์ "ข้อเสนอเชิงนโยบาย" แก้ไขปัญหาเมียนมา
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี กรรมการศูนย์นโยบายยุทธศาสตร์ (Center for Strategic Policy หรือ CSP) หนึ่งในนักวิชาการคลังสมอง (Think Tank) สร้างข้อเสนอหลักเชิงนโยบายต่อรัฐบาลไทยเพื่อแก้ไขปัญหาเมียนมา โดยโครงร่างงานวิจัย Myanmar and Thailand at the Crossroads: Strategic Pathways to Regional Peace and Stability มีแนวทางปฏิบัติในกระบวนการกำหนดนโยบายต่อเมียนมาที่สำคัญ 3 เงื่อนไข คือ
การกำหนดนโยบายต่างประเทศและการทูต
- การเข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเมียนมา รวมไปถึงกลุ่มที่ไม่เป็นทางการต่าง ๆ
- ใช้ ASEAN เป็นองค์การผลักดันการแก้ไขปัญหา
- ยืมมือมหาอำนาจของโลก โดยเฉพาะ จีน เข้ามาให้ความช่วยเหลือในการสร้างสันติภาพในเมียนมาของไทย
การจัดการความมั่นคงชายแดน
- เสริมสร้างประสิทธิภาพการสอดส่องตรวจตรา ด้วยการนำโดรน หรือ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
- สร้างความร่วมมือเชิงปฏิบัติการกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชายแดนเมียนมา
สร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ
- สร้างความปลอดภัยตามการค้าชายแดน เช่น แม่สอด-เมียวดี-ย่างกุ้ง
- ให้การสนับสนุนแรงงานข้ามชาติ จัดหาให้มีใบอนุญาตทำงาน หรือ สร้างเสริมทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน
สนองตอบต่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
- สร้างความร่วมมือในหน่วยงานราชการท้องถิ่นเมียนมา ที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง
- สร้างกระบวนการทำให้ผู้อพยพเมียนมาถูกกฎหมาย ลดภาระในค่ายลี้ภัยลง
โดยกรรมการศูนย์นโยบายยุทธศาสตร์ แยกระยะเวลาปฏิบัตินโยบายออกเป็น 3 ช่วง คือ
ระยะแรก (ประมาณ 6 เดือน)
- เร่งสร้างความมั่นคงในการค้าชายแดนก่อน ด้วยการสร้างประสิทธิภาพเทคโนโลยีการสอดส่องตรวจตรา รวมถึงประสานพลังทางการทูตกับเมียนมา ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน
ระยะกลาง (6-18 เดือน)
- ใช้ ASEAN ดำเนินการประเด็นมนุษยธรรม ควบคู่ไปกับเพิ่มช่องทางการค้าชายแดน จากนั้นจึงเร่งประสานพลังกับหน่วยงานราชการในพื้นที่เสี่ยงปะทะของเมียนมา เพื่อเจรจาหยุดยิง
และระยะสุดท้าย (18-36 เดือน)
- ไทยต้องเป็นหัวเรือสร้างสันติภาพในเมียนมาให้ได้ สถาปนาความมั่นคงระยะยาวตามแนวชายแดน รวมถึงทำให้ผู้อพยพสามารถพึ่งพาตนเองได้
อาเซียน "ไร้น้ำยา" ชายแดนติดเมียนมา "รับภาระ"
โดยข้อเสนอดังกล่าว ได้เปิดเวทีวิพากษ์งานเสวนาโต๊ะกลม ที่มี พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมให้ข้อคิดเห็นเพื่อแก้ไขข้อเสนอดังกล่าว
พล.อ.นิพัทธ์ ชี้ว่า มีข้อครหาในประเด็นการใช้ ASEAN เพื่อเล่นบทบาทนำในเวทีสร้างสันติภาพเมียนมา ตรงนี้ เป็นไปได้ยากมาก เพราะ สถานะปัจจุบันของ ASEAN นั้น ไม่ได้เข้มแข็งมากพอที่จะเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือชาติสมาชิกอื่น ๆ ให้ร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา
ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีผลได้ผลเสียในเมียนมา หรือ ไม่ได้มีชายแดนติดกับเมียนมา เช่น อินโดนีเซีย ขาดความสนใจและผลักภาระเป็นประจำ ประเด็นนี้เป็นเรื่องของความมั่นคง ไทยแทบจะรับไปเต็ม ๆ เพียงผู้เดียว
ทั้งนี้ พล.อ.นิพัทธ์ ยังกล่าวอีกว่า สงครามในเมียนมาในตอนนี้ มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก ไม่เหมือนกับอดีตที่เป็นการต่อสู้เพื่อปลดแอกและต้องการอำนาจอธิปไตยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีลักษณะเป็น "สงครามตัวแทน (Proxy War)" อีกด้วย เนื่องจาก มีจีนเข้ามาเกี่ยวข้องในการสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อต่อต้าน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ "การแย่งชิงผลประโยชน์" ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเรื่องของการเก็บค่าผ่านด่าน ใครจะได้คุมด่านใด หรือพื้นที่ใดทำเงินค่าผ่านทางได้มากที่สุด ซึ่งพ้นไปจากประเด็นทางอุดมการณ์ทั้งนั้น
ด้าน ผศ.ดร.ลลิตา เสนอว่า แม้ไม่ต้องพึ่งพา ASEAN ที่แทบจะอ่อนพลังลง ไทยยังมี "ไพ่ตาย" อีกอย่างที่มีความเป็นไปได้ในการเจรจาสันติภาพกับเมียนมา คือ "High-level Committee" หรือ "HLC" ที่จะทำให้เราได้หารือกับ มิน อ่อง ลาย โดยตรง เสมือนกับทางลัดที่จะเร่งผลักดันยุทธศาสตร์และตำแหน่งแห่งที่ของไทยต่อประเด็นเมียนมา
เรียกว่าไม้ตายก็จริง แต่ไม่ได้พิเศษอะไร เพียงแต่เครื่องมือนี้ พอจะช่วยให้การขับเคลื่อนนโยบายของไทยเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น แต่ก็อยู่ที่ว่า เราจะมีการปฏิบัติงานแบบใด เพราะปัญหาของเมียนมาซับซ้อนมาก ต้อง Identify ให้ได้ก่อนว่าจะทำอะไร
ประสานพลัง "นักการทูตทุนต่ำ" ทางออกปัญหาแนวชายแดน
ผศ.ดร.ลลิตา กล่าวต่อว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งในเปเปอร์วิจัยของ สุภลักษณ์ คือ กล่าวกว้างเกินไป ไม่แตกต่างจากข้อเสนอเชิงนโยบายที่ผ่าน ๆ มาของไทย และไม่ทราบว่า "ควรคุยกับใคร" จึงจะทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงนโยบายอย่างแท้จริง
ชายแดนไทย-เมียนมาเป็นสีเทา ๆ เราต้องทราบก่อนว่า ควรไปคุยกับใคร ไม่อย่างนั้นแผนการออกมามากมายก็ทำไม่สำเร็จ … แต่ละกลุ่มมีผลประโยชน์ของตนเอง เช่น กะเหรี่ยง มีหลายกลุ่มย่อย คุยเป็นวันก็ไม่จบไม่สิ้น
พล.อ.นิพัทธ์ เสนอว่า ไทยควรให้ความสำคัญกับ "นักการทูตทุนต่ำ" หมายถึง ผู้คนที่ทราบความเคลื่อนไหว ความเป็นไป และดุลแห่งอำนาจของพื้นที่ชายแดน ทำให้ชี้ถูกจุดว่า ปัญหาจริง ๆ เป็นอย่างไร ควรแก้ไขแบบใด และควรเข้าหาใครที่มีอำนาจผลักดันในเมียนมาจริง ๆ
เปลี่ยนความคิดเสียก่อนว่า ไทยต้องดีลกับข้าราชการหรือหน่วยงานทางการเท่านั้น ตามแนวชายแดน ที่ช่วยเราได้คือบรรดานักการทูตทุนต่ำเหล่านี้ … หาหัวให้เจอ และพวกเขาจะพาไปรู้จักกับส่วนอื่น ๆ ที่เป็นร่างกายเอง … จึงจะทำให้ภาคปฏิบัติเป็นจริงได้
อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การมีการจัดตั้งคณะทำงาน หรือ Taskforce ที่มีความคล่องตัว พล.อ.นิพัทธ์ ยกตัวอย่างสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ มีการจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการชายแดน ที่สามารถทำงานข้ามกระทรวงได้ และดูแลเฉพาะเรื่องจริง ๆ ส่งผลให้เกิดการผลักดันอะไรได้ง่ายกว่าการทำงานแบบปกติได้
Taskforce ลองทำ Sandbox คิดว่าน่าสนใจ เจรจาสงบศึกเฉพาะเขต เมียวดี-แม่สอด สัก 15 วัน ไม่ทิ้งระเบิด ไม่เก็บค่าผ่านทาง หากไปได้ด้วยดี ค่อยนำไปใช้กับพื้นท่ชายแดนอื่น ๆ
ถอดบทเรียน "จีน โมเดล" ทำจริง ไม่มีโม้
ดังจะเห็นได้ว่า เปเปอร์เชิงนโยบายดังกล่าว มีข้อวิพากษ์มากมาย ทั้งในเรื่องของการให้ความสำคัญผิดจุด ไปเน้น ASEAN ที่พลังแทบไม่มี ความร่วมมือไม่เป็นเอกภาพ และ การขาดการระบุชัด (Identification) เรื่องคณะทำงาน ว่าควรนับรวมใครให้นโยบายมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
แต่มีหนทางหนึ่งที่เป็นประเด็นสืบเนื่องกัน คือ การประสานพลังกับมหาอำนาจ โดยเฉพาะ จีน ที่ทำสำเร็จในการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มต่อต้านต่าง ๆ และถึงขั้นจะยกระดับไปจัดการเลือกตั้งมาแล้ว ตรงนี้ ไทยสามารถที่จะถอดบทเรียนในภาคปฏิบัติอย่างไร ?
ผศ.ดร.ลลิตา เสนอว่า อุปสรรคขั้นพื้นฐานที่สุดที่ขัดขวางการดำเนินนโยบายของไทยต่อเมียนมา คือ "การทำงานซ้ำซ้อน" ของหน่วยงานข้าราชการไทย แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีพันธกิจแบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน แทนที่จะทำงานให้สอดประสานกัน กลับทำงานไปคนละแบบ คนละทิศทาง
ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ว่า เราจะดำเนินนโยบายอย่างไร แต่อยู่ที่ว่า เราจะออกแบบโครงสร้างอย่างไรให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำงานด้วยกันได้โดยไม่เหยียบเท้ากัน … ประเด็นด้านความมั่นคง ไม่ควรให้กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบเพียงผู้เดียว เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน แต่ต้องออกแบบให้ทำงานร่วมกันได้เสียก่อน
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ลลิตา ยังชี้ว่า หากจะถอดบทเรียนจากจีนมาใช้กับไทยนั้น อย่างแรก ไทยต้อง "เลิกบ่น" และหันมาลงมือทำอย่างจริงจังให้ได้เสียก่อน เพราะไทยกับจีนเองก็ "รำคาญ" ความขัดแย้งในเมียนมา ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในประเทศตนเองไม่แตกต่างกัน
เพียงแต่จีนนั้น รำคาญและให้การสนับสนุนโดยตรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อจะเร่งหาวิธีการยุติปัญหาชายแดนให้ได้ จนในที่สุด กำลังผลักดันไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นสูงทีเดียว
"คนไทยชอบ Woke ในเรื่องเมียนมา คือ สักแต่ว่าจะบอยคอต บ้าประชาธิปไตยอย่างมาก โดยหารู้ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเจ๊งกันหมด หากปล่อยปละละเลยเมียนมา ดังนั้น ควรหยุดบ่นอย่างเดียว ไทยต้องหาจุดยืนจะยุทธศาสตร์ให้ได้ว่า จะทำอย่างไร หน้างานขับเคลื่อนนโยบายแบบใด มีอะไรไปคุยกับเขา ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี" ผศ.ดร.ลลิตา กล่าวปิดท้าย
อ่านข่าว