ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เร่งหาสาเหตุ! 323 ตัวอย่างไวรัสมรณะหายปริศนาในออสเตรเลีย

ต่างประเทศ
11 ธ.ค. 67
15:17
8,736
Logo Thai PBS
เร่งหาสาเหตุ! 323 ตัวอย่างไวรัสมรณะหายปริศนาในออสเตรเลีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ออสเตรเลียประกาศตัวอย่างไวรัสอันตราย 323 หลอดสูญหายจากห้องปฏิบัติการในรัฐควีนส์แลนด์ ทางการยืนยันไม่มีความเสี่ยงต่อประชาชน แต่เร่งสอบสวนเพื่อป้องกันเหตุซ้ำ ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความล้มเหลวด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ

วันนี้ (11 ธ.ค.2567) สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน รัฐควีนส์แลนด์ประกาศว่าเกิดเหตุการณ์ตัวอย่างไวรัสอันตรายจำนวน 323 หลอดสูญหายจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาสาธารณสุขในเมืองบริสเบน โดยเชื้อไวรัสที่สูญหายได้แก่ Hendra Virus, Lyssavirus และ Hantavirus ซึ่งทั้งหมดเป็นไวรัสที่มีศักยภาพในการก่อโรคอันตรายถึงชีวิต

เหตุการณ์นี้ได้รับการอธิบายว่าเป็น "การละเมิดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์" ของรัฐ และได้นำไปสู่การเริ่มต้นการสอบสวนในระดับสูงที่เรียกว่า "Part 9 Investigation" โดยมีเป้าหมายเพื่อหาสาเหตุของการสูญหาย และกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

ทางการออสเตรเลียระบุไวรัสที่สูญหายไปล้วนเป็นเชื้อที่มีความร้ายแรงทั้งสิ้น

  • Hendra Virus พบเฉพาะในประเทศออสเตรเลีย สามารถแพร่จากสัตว์สู่คน ทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูง
  • Lyssavirus เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดอาการคล้ายไวรัสพิษสุนัขบ้า เป็นอันตรายถึงชีวิตในมนุษย์หากไม่ได้รับการรักษา
  • Hantavirus ไวรัสกลุ่มนี้บางสายพันธุ์มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 15 ซึ่งถือว่าอันตรายกว่าการติดเชื้อ COVID-19 หลายเท่า

ทิโมธี นิโคลส์ รมว.สาธารณสุข ของรัฐควีนส์แลนด์ ระบุว่าการสอบสวนจะพิจารณาทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มาตรฐานความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ไปจนถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบ เนื่องจากพบข้อมูลหลังการสืบสวนสอบสวนว่า ตัวอย่างไวรัสทั้งหมดหายไปจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาในปี 2564 แต่ถูกรายงานในเดือน ส.ค.2566 หรืออีก 2 ปีถัดมา และห้องปฏิบัติการไม่สามารถระบุได้ว่าตัวอย่างไวรัสดังกล่าวถูกกำจัดหรือทำลายไป ทั้งนี้ได้เสริมมาตรการเร่งด่วน เช่น การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ใหม่และการตรวจสอบความปลอดภัยในคลังเก็บตัวอย่างแล้ว

กรณีนี้แสดงให้เห็นว่ามาตรการป้องกันความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการยังมีช่องโหว่ และเราจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ดร.แซม สการ์ปิโน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางชีวภาพจากมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์นในสหรัฐฯ ชี้ว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนถึงความล้มเหลวอย่างร้ายแรงในระบบป้องกันความเสี่ยงทางชีวภาพ เพราะไวรัสที่หายไป ล้วนมีความอันตรายสูง แม้ว่าโอกาสที่เชื้อจะแพร่ระบาดในวงกว้างจะต่ำ เนื่องจากไม่สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ง่าย แต่ความเสี่ยงยังคงอยู่ โดยเฉพาะต่อสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์

สการ์ปิโนเน้นว่าความล่าช้าในการรายงานเหตุการณ์นี้ต่อสาธารณชน ซึ่งกินเวลานานกว่า 1 ปี เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และชี้ว่าจำเป็นต้องมีการลงทุนและความโปร่งใสมากขึ้นในด้านการป้องกันความปลอดภัยทางชีวภาพ

ออสเตรเลียยืนยันไม่เสี่ยงต่อประชาชน

ในแถลงการณ์ ดร.จอห์น เจอร์ราร์ด หัวหน้าสำนักงานสาธารณสุขรัฐควีนส์แลนด์ ย้ำว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อประชาชน เนื่องจากตัวอย่างไวรัสที่ถูกเก็บรักษาในช่องแช่แข็ง จะเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว หากอยู่นอกอุณหภูมิที่เหมาะสม พร้อมเสริมว่าไวรัสชนิดนี้ไม่สามารถคงอยู่ได้นานในสภาพแวดล้อมปกติ

ความเป็นไปได้ที่ตัวอย่างเหล่านี้จะถูกทิ้งในขยะทั่วไปนั้นแทบจะไม่มี เนื่องจากเป็นสิ่งที่ขัดต่อมาตรฐานปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ

แม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะไม่มีรายงานการติดเชื้อจาก Hendra Virus หรือ Lyssavirus ในรัฐควีนส์แลนด์ และไม่มีการพบ Hantavirus ในออสเตรเลียเลย แต่รัฐบาลยืนยันว่าการตรวจสอบยังคงดำเนินการอย่างจริงจัง

อ่านข่าวอื่น :

"ป่าไม้" เคลียร์ปม "ภูนับดาว" สอบปมใช้ที่ดิน ส.ป.ก.

ย้อน "เหตุการณ์สุดช็อก" โลกต้องจำ ปี 2567

ข่าวที่เกี่ยวข้อง