ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศึกชิงดำ "เฮกเซธ-เดอซานติส" ทรัมป์ ชี้ชะตา รมว.กลาโหมสหรัฐฯ

ต่างประเทศ
6 ธ.ค. 67
18:35
212
Logo Thai PBS
ศึกชิงดำ "เฮกเซธ-เดอซานติส" ทรัมป์ ชี้ชะตา รมว.กลาโหมสหรัฐฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่หน้าเดิมของสหรัฐอเมริกา ประกาศโผ ครม. แต่งตั้ง พีท เฮกเซธ (Pete Hegseth) นั่งแท่นรัฐมนตรีว่ากระกระทรวงกลาโหม (Secretary of Defense) คนใหม่ ทั้งที่เขามีเพียงประสบการณ์ด้านพิธีกรข่าว รายการ Fox and Friend ทางช่อง Fox News และเคยเป็นทหารประจำการในสงครามอ่าวกัวตานาโม อิรัก และอัฟกานิสถาน โดยไม่เคยผ่านงานบริหารใด ๆ มาก่อน

แม้จะมีโอกาสบุญพาวาสนาส่ง แต่ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งอย่างเต็มภาคภูมิ ปมฉาวที่เคยทำมาถูกขุดคุ้ยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการเมาอาละวาด ใช้อำนาจในทางมิชอบ หรือกรณีอื้อฉาวทางเพศ ที่ขนาดมารดาของเขายังเอือมระอา ออกมาแฉพฤติกรรมลูกชายตนเอง ทำให้สื่อหลายสำนักต่างฟันธงว่า "ไม่น่ารอด" ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งได้ เพราะยังมีแคนดิเดตสายแข็งอีกคน คือ รอน เดอซานติส (Ron DeSantis) อดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดา รอเสียบอยู่

มีคำถามว่า อดีตทหารผ่านศึก วัย 44 ปี ผู้นี้จะสามารถผ่านด่านอรหันต์จนสุดทางได้หรือไม่ หรือจะเพลี่ยงพล้ำ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมถือเป็น "กระทรวงเกรดเอ" ของสหรัฐฯ และตำแหน่งแคนดิเดตสั่นคลอนอย่างนี้ จะส่งผลอย่างไรตามมาทั้งในสหรัฐฯและทั่วโลก

"วุฒิสภา" ไม่สนปมฉาว "ด่านหน้าอุ้ม เฮกเซธ"

ThaiPBS Online สัมภาษณ์ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.สิเรมอร อัศวพรหมธาดา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นดังกล่าว

 รศ.ดร.ปณิธาน อธิบายว่า พีท เฮกเซธ นั้น มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างมาก อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "ผู้จงรักภักดี (Loyalist)" ของทรัมป์ก็ว่าได้ ซึ่งถือว่า ตรงคชลักษณ์การคัดเลือกบุคคลให้เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองในสมัยที่ 2 นี้ โดยไม่สนใจว่า เฮกเซธ จะไม่มีประสบการณ์บริหารงานการเมือง หรือมีความสามารถในเรื่อง "บารมีคุมกองทัพ" ได้มากน้อยเพียงใด

ทรัมป์มักจะแต่งตั้งคนนอกมาเป็นรัฐมนตรีเสมอ เพื่อให้เกิดการทำงานได้ดั่งใจ ไว้สู้รบกับข้าราชการประจำหรือฝ่ายค้านในคองเกรส หากไม่มีประสบการณ์ ทรัมป์จะช่วยเหลือโดยการตั้งคณะทำงานเก่ง ๆ คอยเป็นลูกหาบให้แทน

สอดคล้องกับ ดร.สิเรมอร ที่กล่าวว่า เฮกเซธนั้นเป็น "คนนอก (Outsider)" แม้จะไม่เคยผ่านงานการเมืองมาก่อน แต่การที่เขาไม่เคยข้องเกี่ยวกับกลาโหมใด ๆ เลย เท่ากับว่า จะไม่ถูกครอบงำโดยหน่วยงานต้นสังกัด ผลักดันให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าการนำคนใน (Insider) เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นไหน ๆ

สำหรับทรัมป์ อุดมการณ์เดียวกันก็คุยกันง่าย เฮกเซธเผยตัวตนชัดมากกว่าต้องการเพิ่มอิทธิพลทางทหารเพื่อการกลับมาเป็น เจ้าโลก ให้ได้อีกครั้ง แบบนี้ ทรัมป์ไม่มีทางตัดหางปล่อยวัดแน่นอน

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ด่านอรหันต์สำคัญของการแต่งตั้งคนสนิทของทรัมป์ที่ต้องผ่านไปให้ได้ คือ "วุฒิสภา (Senate)" เพราะอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ วางหลักไว้ว่า วุฒิสภาสามารถวินิจฉัยคณะรัฐมนตรีที่เสนอโดยประธานาธิบดี เพื่อเห็นชอบหรือยับยั้งได้

ที่มา: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มา: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มา: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ รศ.ดร.ปณิธาน ยังชี้อีกว่า ทรัมป์แทบจะไม่มีความกังวลใด ๆ เกี่ยวกับการยับยั้งของวุฒิสภา เพราะหากพิจารณาสัดส่วนวุฒิสภาในคองเกรส แม้ตัวแทนจากรีปับลิกันจะส่วนน้อยกว่า แต่การจะยับยั้งต้องใช้เสียงมากถึง 2 ใน 3 ของวุฒิสภา (67 จาก 100 เสียง) หมายความว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะยับยั้ง โผ ครม.1 ทรัมป์ 2.0 ได้เลย

วุฒิสภาเป็นหนึ่งเดียวกันกับทรัมป์ เรียกได้ว่าผ่านฉลุย หากจุดยืนทางการเมืองตรงกัน ทรัมป์พร้อมผลักดันเต็มที่ ทำให้ โผ ครม. ของทรัมป์ ตั้งแต่สมัยที่แล้วมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างมาก

สำหรับกระทรวงกลาโหม จุดยืนของทรัมป์ชัดเจน คือ ต้องการปรับลดงบประมาณด้านกลาโหมลง โดยการเร่งเจรจายุติ 2 สงครามใหญ่ คือ รัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-อาหรับ ลงให้สำเร็จ เพื่อเพิ่มจีดีพีให้แก่ประเทศ อย่างน้อยร้อยละ 4-5 ด้วยความสดใหม่ และการมีจุดยืนที่ตรงกัน

ทรัมป์จึงไม่คิดอะไรมากในการคัดเลือกแคนดิเดตรัฐมนตรี ขอเพียงแต่ไม่เป็นข้าราชการประจำที่ไม่ใช่พรรคพวกกัน คุยด้วยยาก และรู้เยอะ พร้อมผลักดันทุกเมื่อ ไม่สนเสียด้วยซ้ำว่าเรื่องส่วนตัวจะมีข่าวฉาว มีลับลมคมใน หรือสังคมรังเกียจเพียงใดก็ตาม

กรณี มาร์โก รูบิโอ ก็เช่นกัน ด้วยจุดยืนต่อต้านผู้อพยพ ปกป้องมาตุภูมิจากภัยต่างชาติ หรือเหยียดการผิดเพศ ถือว่าถูกอกถูกใจทรัมป์ จนต้องให้มานั่งแท่น รมว.กต. เฮกเซธ เองก็ทำนองนี้ เขาสนับสนุนการกวาดล้างพวกก้าวหน้าให้สิ้นซาก และเชิดชูคุณค่าแบบคริสเตียน พร้อมทั้งสนับสนุนให้สร้างกำแพงชายแดนกั้นเม็กซิโกอีกด้วย

"เด ซานติส" ตาอยู่ "หงิม ๆ หยิบชิ้นปลามัน"

แม้จะมีความวางใจต่อการเป็นแคนดิเดตของ เฮกเซธ ในเชิงสถาบันทางการเมืองสหรัฐฯ แต่ รศ.ดร.ปณิธาน เตือนว่า ยังวางใจไม่ได้ในประเด็น "ตัวแทนแคนดิเดต" ที่จะเข้ามาเสียบแทน ซึ่งมีข่าวหนาหูว่าจะเป็น รอน เดอซานติส อดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ซึ่งถือได้ว่ามีประสบการณ์ทางการบริหารงานการเมืองโชกโชน

ต้องไม่ลืมว่า ทรัมป์เองก็เป็นมนุษย์ "คาดเดายาก" เอาแน่เอานอนไม่ได้ วันนี้ตัดสินใจอย่าง พรุ่งนี้ตัดสินใจอย่าง สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าประเด็นใหญ่หรือเล็ก หมายความว่า ประเด็นจิ๊บจ๊อยอย่างการที่แคนดิเดต รมว.กลาโหม มีข่าวฉาว และต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเพื่อทำให้ "หน้าตา" ของโผ ครม. แรกของตนในสมัย 2 ดูดีขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเช่นกัน

สไตล์ทรัมป์ มีปัญหา พร้อมเปลี่ยน ไม่นานมานี้กรณี แมตท์ เกตซ์ (Matt Gaetz) แคนติเดตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีข่าวฉาวติดเซ็กส์อย่างหนัก ทรัมป์ก็ตัดสินใจว่าเขาหมดอนาคตทันที ซึ่งวุฒิสภาจากรีพับลิกันก็รับลูกทันที

ในกรณีของเฮกเซธ ก็ไม่แตกต่างกัน หากทรัมป์เล็งเห็นว่า อดีตพิธีกรชื่อดังผู้นี้เลวร้ายเกินกว่าที่จะสนับสนุนต่อไป อาจมีการปรับเปลี่ยนแคนดิเดตได้ทุกเมื่อ กระนั้น สิ่งที่เป็นเงื่อนไขบีบคั้นทรัมป์ คือ หากประวิงเวลามาก ๆ เข้า จะทำให้อำนาจในมือของเขาสั่นคลอนแบบกระทบชิ่ง เพราะการกลับสู่ตำแหน่งของทรัมป์นั้น มีผลมาจากประชาชนต้องการให้กลับมา "Make America Great Again" อย่างเร่งด่วน ต้องทำทันที ชักช้าไม่ได้ ไม่อย่างนั้นฐานเสียงจะหดหายก่อนสาบานตน

หากยังมีการปรับ โผ ครม. ไป ๆ มา ๆ อยู่แบบนี้ จะเป็นการร้ายต่อทรัมป์เอง ในแง่ของการเร่งผลักดันนโยบายให้ทันใจแฟนคลับ และทำให้คนใน เช่น ข้าราชการ หรือคนของ โจ ไบเดน หมดพลังในสมัยที่เหลืออย่างรวดเร็วอีกด้วย

แต่ ดร.สิเรมอร มองอีกมุมว่า ก่อนจะคัดเลือก โผ ครม. จะต้องมีการ "หยั่งเสียง" มาก่อนและว่าต้องการคนนั้นคนนี้ และวุฒิสภาเองก็ไม่ได้ออกโรงคัดค้านอะไร จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง "เปลี่ยนม้ากลางศึก" อย่างน้อย ๆ ทางพรรคก็ไม่ขัด วุฒิสภาก็ไม่ขวาง

เฮกเซธ ต่างกับ เกตซ์ เพราะกรณีเกตซ์ มีคดีความฟ้องร้องอยู่ก่อนแล้ว ทางพรรคและวุฒิสภาจึงสามารถยับยั้งได้ ส่วนเฮกเซธนั้นมีเพียงข่าวอื้อฉาว ยังไม่มีการสั่งฟ้อง ตามหลักการแล้ว ยังขัดขวางไม่ได้ หากไม่คอขาดบาดตาย วุฒิสภาก็ปล่อยผ่าน และทรัมป์เองก็ไม่มีแนวโน้มจะขัดขวางอีกด้วย

กลาโหม "โง่นเง่น" ความมั่นคง-เศรษฐกิจ "ผันผวน"

ดังที่เห็นได้ว่า เฮกเซธ ต้องฝ่าด่านอรหันต์ทั้งในทางสถาบันการเมือง คือ ด่านวุฒิสภา ที่สามารถยับยั้งการเข้ารับตำแหน่งได้ แม้จะมีทรัมป์ "คุ้มกะลาหัว" แต่อีกอย่าง หากถูกใจทรัมป์ แต่ทรัมป์เปลี่ยนใจ เป็นลูกรักเพียงใดก็ไม่อาจเข้าใช้อำนาจกลาโหมได้

แต่คำถามที่ตามมา คือ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือเศรษฐกิจโลก ดร.สิเรมอร ชี้ว่า "ปัญหาด้านผู้อพยพ" โดยเฉพาะ ลาตินอเมริกา เพราะเฮกเซธจะจัดการปัญหาทางความมั่นคงนี้ด้วย "ความรุนแรง" อย่างแน่นอน

บรรดารัฐที่เป็นเผด็จการในลาตินอเมริกา เช่น คิวบา นิการากัว หรือเวเนซุเอลา เตรียมรับมือไว้ให้ดี ๆ หรือกระทั่งผู้อพยพที่มาจากประเทศเหล่านี้เช่นกัน เพราะความมั่นคงจะกลายเป็นแม่บทหลักในการดำเนินการในสมัยของทรัมป์แน่ ๆ

ส่วน รศ.ดร.ปณิธาน เสนอว่า "ความกังวลในความมั่นคง" จะเป็นปัญหา เนื่อง จากไม่มีหัวเรือใหญ่ว่าการกลาโหม ทำให้การเจรจาสงบศึกนั้น ยังไม่สามารถทำได้ จะส่งผลให้ตัวแสดงทางเศรษฐกิจเกืดความกังวลและความไม่มั่นใจในการลงทุน

การตั้งกำแพงภาษี จะยังไม่เกิดขึ้น ตราบเท่าที่ยังไม่มี ครม. ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจจะยังไม่กล้าขยับอะไรมาก อีกอย่าง หากยังไม่สามารถเคลียร์ประเด็นตะวันออกกลางให้แล้วเสร็จ ราคาน้ำมัน หรือพลังงานอื่น ๆ ก็จะยังคงสูงขึ้นอยู่เรื่อย ๆ

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาต่ออีกว่า เมื่อตั้ง ครม. สำเร็จแล้ว คณะทำงานของทรัมป์นั้นจะ "เดินสะดวกหรือไม่" เพราะอย่าลืมว่า ถึงจะมีคณะทำงานแบบเต็มสูบ มีลูกหาบพรรคพวกของตนอย่างเต็มที่ ก็ใช่ว่าผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองเลยจะสามารถบริหารได้ง่าย ๆ

"ไม่มีการทำงานที่ไหนชอบให้คนนอกมีอิทธิพลเหนือคนใน อยู่ที่ว่าทรัมป์จะเคลียร์ได้หรือไม่ ไม่อย่างนั้นก็จะลำบากเอาการ แต่ขอย้ำว่า เรื่องอื้อฉาวของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสหรัฐฯ เป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ให้ผ่านเข้าไปทำงานรับได้หรือไม่" รศ.ดร.ปณิธาน สรุป

อ่านข่าว

Make America Great Again เบื้องหลังทรัมป์"คืน"ทำเนียบขาว

ลอกคราบ "ทรัมป์" สมัยสอง "เอเชียตะวันออก-ไทย" กระอัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง