วันนี้ (5 ธ.ค.2567) สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งบางพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยังเตือนน้ำป่าไหลหลากดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 5-11 ธ.ค.นี้
ขณะที่เขื่อนบางลาง จ.ยะลา ได้เพิ่มอัตราการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมาปริมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เนื่องจากระดับน้ำเขื่อนเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ต.ตาเซะ อ.เมืองยะลา เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 6 ช่อง เพื่อพร่องน้ำที่ไหลมาจาก จ.ยะลา โดยเฉพาะจากเขื่อนบางลางโดยเร็วที่สุด เพื่อเตรียมรับน้ำระลอกใหม่ หากฝนกลับมาตกซ้ำ ซึ่งการระบายน้ำทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น เพราะฝนไม่ตกมาเติม
อ่านข่าว “เขื่อนบางลาง” ปล่อยน้ำเพิ่ม เตือน “ยะลา-ปัตตานี
ข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ได้รายงานสถานการณ์น้ำตามลุ่มน้ำปัตตานี ผ่านสถานี เเละเขื่อนทดน้ำ 6 เเห่ง พบว่าอยู่ในระดับปกติเเล้ว เว้นเเต่สถานีบ้านบริดอ ปะกาฮารัง อ.เมืองปัตตานี ที่ยังเอ่อล้นตลิ่ง เเละที่สถานีสะพานเดชานุชิต อ.เมืองปัตตานี พื้นที่ปลายน้ำที่ยังต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง
อ่านข่าว อัปเดต การรถไฟฯ เปิดเดินรถเส้นทางสายใต้ ถึงชุมทางหาดใหญ่ และช่วงยะลา - สุไหงโกลก
โดยการพร่องน้ำที่ทำได้มากขึ้นในพื้นที่ปลายน้ำเเละท้ายเขื่อน ทำให้คณะบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา มีมติเห็นปล่อยน้ำเพิ่มอีก 2 ล้านลูก บาศก์เมตร ผ่านช่องทางระบายน้ำ เเต่ไม่เปิดสปิลเวย์ โดยเพิ่มจาก 16 ล้านลูกบาศเมตรเป็น 18 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำที่ระดับน้ำยังคงลดลงเรื่อย ๆ
อ่านข่าว ครม.เคาะเยียวยาพื้นที่น้ำท่วมใต้ ครัวเรือนละ 9,000 บาท
อย่างที่ชุมชนโรงอ่าง เขตเมืองปัตตานี พื้นที่ปลายน้ำ ที่รับน้ำจากแม่น้ำปัตตานี ซึ่งเอ่อไหลเข้าท่วมมานานเกือบสัปดาห์ วันนี้น้ำท่วมลดลงทั้งหมดแล้ว ชาวบ้านหลายคนจึงเริ่มเข้ามาสำรวจความเสียหายภายในบ้าน
นางพิมพ์พร สุวรรณธนกุล เจ้าของร้านขายข้าวสาร ชุมชนโรงอ่าง อ.เมืองปัตตานี บอกว่าแม้ชุมชนโรงอ่าง จะเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมทุกปี เพราะต้องรับน้ำจากจังหวัดยะลา แต่ปีนี้น้ำมีปริมาณมาก และลดลงอย่างช้า ๆ ทำให้ข้าวของที่ขนย้ายขึ้นสู่ที่สูงแล้ว แต่ก็ยังไม่พ้นน้ำ ตึงเกิดความเสียหายโดยเฉพาะข้าวสารซึ่งมีความชื้น จึงจำใจต้องขายราคาถูก
ส่วนพื้นที่รอบนอก อย่างหมู่ 3 ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี เเม้วันนี้สถานการณ์น้ำท่วมที่สูงเกือบ 2 เมตรจะกลับมาคลี่คลายแล้ว เเต่หลังน้ำลดทำให้เห็นสภาพความเสียหาย ที่กินวงกว้างของพื้นที่เกือบตำบลตะบิ้ง เพราะอยู่ติดกับแม่น้ำสายบุรี
โดยวันนี้เป็นวันแรก ๆ ที่ชาวบ้านได้เข้าไปสำรวจความเสียหายภายในบ้าน บ้านบางหลังที่เป็นบ้านชั้นเดียว หรือบ้านที่ก่อสร้างในพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
พบว่าหย่อมความกดอากาศต่ำ บริเวณอ่าวไทยตอนล่างกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ โดยพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 5 -11 ธ.ค.นี้
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่มใน จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พังงา ภูเก็ต ตรัง สตูล
พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่าง และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ
สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลางจ.ยะลา ปัจจุบันมีระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับที่มีความเสี่ยง อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อน ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด และให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเขื่อนด้วย
พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองท่าดี คลองชะอวด แม่น้ำตรัง คลองลำ คลองท่าแนะ คลองอู่ตะเภา แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส