ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

1 ม.ค.69 สปส.จ่อปรับเพดานค่าจ้างผู้ประกันตน ม.33

สังคม
4 ธ.ค. 67
11:58
1,953
Logo Thai PBS
1 ม.ค.69 สปส.จ่อปรับเพดานค่าจ้างผู้ประกันตน ม.33
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สปส. จ่อเพิ่มเพดานค่าจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 เพิ่มเงินสมทบเพิ่ม 875 -1,150 บาท ต่อเดือนเพิ่มสิทธิประโยชน์ คาดเริ่มใช้ 1 ม.ค.2569

วันนี้ (3 ธ.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดให้ผู้ประกันตนร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ และขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ.… เพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงเพดานค่าจ้างและเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ผ่านแบบสอบถามหน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th 

โดยผู้ประกันตนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 1-15 ธ.ค.นี้  แสดงความเห็นผ่านช่องทางเว็บไซต์ ระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) ตั้งแต่วันที่ 1-15 ธ.ค.นี้ ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา รวมถึงการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.-31 ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ เดิมกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2538) ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.2538 จนถึงปัจจุบัน จึงเห็นสมควรปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

สำหรับร่างกฎกระทรวงใหม่นี้ สปส.ตั้งเป้าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569 โดยค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่ละคนให้กำหนดขั้นต่ำ-ขั้นสูง ดังนี้

  • ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท
  • ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2570 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท
  • ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2573 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท 

สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น

สำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน คือ จะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ประกอบด้วย

  • เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย สูงสุด 6 เดือน เพิ่มเป็น 8,750 บาทต่อเดือน 10,000 บาทต่อเดือน และ 11,500 บาทต่อเดือน
  • เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เพิ่มเป็น 8,750 บาทต่อเดือน 10,000 บาทต่อเดือน และ 11,500 บาทต่อเดือน

  • เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เพิ่มเป็น 26,250 บาทต่อครั้ง 30,000 บาทต่อครั้ง และ 34,500 บาทต่อครั้ง
  • เงินสงเคราะห์กรณีตาย เพิ่มเป็น 105,000 บาท 120,000 บาท และ 138,000 บาท
  • เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน (ถูกเลิกจ้าง) สูงสุด 6 เดือน เพิ่มเป็น 8,750 บาทต่อเดือน 10,000 บาทต่อเดือน และ 11,500 บาทต่อเดือน

เงินบำนาญชราภาพ

  • ส่งเงินมา 15 ปี เพิ่มเป็น 3,500 บาทต่อเดือน 4,000 บาทต่อเดือน และ 4,600 บาทต่อเดือน
  • ส่งเงินมา 25 ปี เพิ่มเป็น 6,125 บาทต่อเดือน 7,000 บาทต่อเดือน และ 8,050 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้เงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ

ก่อนหน้านี้สำนักงานประกัน คยเปิดรับฟังความเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ.. มาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 1-28 ก.พ.2566 มีผู้ร่วมเสนอความเห็น 55,584 คน ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงถึง 73%

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง