ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดมหากาพย์คดีโกงหุ้น STARK บทเรียน "เขย่า" ตลาดทุนไทย

เศรษฐกิจ
3 ธ.ค. 67
18:45
1,321
Logo Thai PBS
ถอดมหากาพย์คดีโกงหุ้น STARK บทเรียน "เขย่า" ตลาดทุนไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

14 ม.ค. 2568 คดีโกงหุ้น STARK จะเข้าสู่การพิจารณาคดีนัดแรกที่ศาลอาญา หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จับกุม “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” อดีตผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหารายสุดท้าย ในคดีหุ้นสตาร์ค เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2567 หลังก่อนหน้านี้ได้สั่งฟ้องผู้ต้องหา 10 คน ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 ฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นานกว่า 7 เดือน นับแต่เกิดคดีฉ้อโกงดังกล่าว แม้ดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.2566 จนถึงปัจจุบัน คดีมีความคืบหน้าตามขั้นตอน โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะกำกับดูและกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคำสั่งแต่งตั้ง “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” อดีตรองนายกฯ เป็นประธานคณะทำ งานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) เพื่อถอดแผนประทุษกรรมที่เกิดขึ้น และฟื้นความเชื่อมั่นในตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์

หลังพบบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีพฤติการณ์การตกแต่งบัญชีและใช้งบการเงินอันเป็นเท็จในลักษณะที่มุ่งหวังหลอกลวงนักลงทุนผ่านการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนและเสนอขายหุ้นกู้ โดยการกระทำดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียหายรวมกว่า 4,704 ราย และมีมูลค่าความเสียหายสูงกว่า 14,778 ล้านบาท แม้เบื้องต้นจะมีการยึดอายัดทรัพย์แล้วกว่า 2,000 ล้านบาท

แต่เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนามาตรการป้องกันในเชิงรุกที่ครอบคลุม  ทันเหตุการณ์ยิ่งขึ้น และเพื่อพัฒนามาตรการเยียวยาผู้เสียหายให้เหมาะสมกับบริบทและรูปแบบสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง จึงจัดให้มีการถอดบทเรียนในคดีดังกล่าว

โดยมีรายงานการศึกษาถอดบทเรียน มีทั้งหมด 4 บท คือ ข้อเท็จจริงและลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ บริษัท สตาร์คฯ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธีการ Backdoor Listing จนถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด, มาตรการป้องกันที่มีอยู่ในปัจจุบันที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และที่ควรมีเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งครอบคลุมในเรื่องของการกำกับดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงิน กรรมการอิสระ การจัดทำลักษณะและพฤติการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิด (red flag) และผู้ให้เบาะแส (whistle blower)

มาตรการปราบปรามและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความซ้ำซ้อนและระยะเวลาในภาพรวมที่ใช้ในการสืบสวนสอบสวน และมาตรการเยียวยา ซึ่งรวมถึงแนวทางในการติดตามเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดเพื่อคืนให้กับผู้เสียหาย ตลอด

เป็นนานกว่า 2 ชั่วโมงที่คณะทำงานแผนประทุษกรรมทั้ง 4 ด้านนำเสนอ มีหลายประเด็นน่าสนใจ เช่น การดำเนินคดีกับผู้ตรวจสอบบัญชี การตั้งเจ้าหนี้ คือ กลต.ให้ร่วมเป็นพนักงานสอบสวนร่วมกับดีเอสไอ เพื่อยับยั้งความเสียหาย หรือป้องกันการเข้าไปทำลายหลักฐาน การเคลื่อนย้ายถ่ายโอนทรัพย์สิน และลดภาระการพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมาตรการคุ้มครองผู้เสียหาย ทั้งผู้ถือหุ้นสามัญ และผู้ที่ซื้อหุ้นสามัญใหม่ ซึ่งตามกฎหมายผู้เสียหายจากคดีความผิดมูลฐานในคดีฟอกเงิน สามารถรับส่วนแบ่งจากทรัพย์ที่ ปปง.ยึดอายัด ได้หมดหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากคดีดังกล่าว โดยนำเงินจากกองทุนจากตลาดหลักทรัพย์ ทั้งจากกองทุนประกันชีวิตและวินาศภัย ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า สามารถทำได้หรือไม่ และจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อใด และอย่างไร

ท่ามกลางคำถามและข้อสงสัยของผู้ได้รับความเสียหายจากคดีดังกล่าวที่เข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน ว่า ในที่สุดแล้วรัฐและ กลต.จะมีมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือได้หรือไม่

แม้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะย้ำว่า การทำแผนประทุษกรรมจะเป็นประโยชน์กับพนักงานสอบสวนในการดำเนินคดี หากเกิดคดีลักษณะเดียวกันในอนาคต เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นมีมูลค่าความเสียหายต่อตลาด หลักทรัพย์สูง และยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุน การทำแผนประทุษกรรรมและการมีมาตรการป้องกันและเยียวยาชัดเจน

หากคดีนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลก็จะมีประโยชน์ในการสืบพยานที่จะต้องชี้ให้ศาล เชื่อว่า จำเลยกระทำผิด ซึ่งการทำแผนประทุษกรรมจะทำให้ทราบช่องโหว่ของกฎหมายอีกด้วย

ขณะที่ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ในฐานะอนุกรรมาธิการติดตามและศึกษาคดีฉ้อโกง บริษัทสตาร์คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แนะนำว่า อยากให้นำข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯที่ศึกษาไว้ไปประกอบการพิจารณาในรายงาน

จนถึงขณะนี้ เงินที่อายัดไว้กว่า 2,000 ล้านบาท เปรียบเสมือนเงินหน้าไพ่ หรือเงินกองกลางที่เจอ ทั้ง ๆ ที่มูลค่าความเสียหายจริงกว่า 14,000 ล้านบาท ที่ถูกถ่ายโอนทั้งในและต่างประเทศ ยังตามคืนมาไม่ได้

อดีตเลขาฯ ปปง. ย้ำว่า จริง ๆ การติดตามตามเส้นทางการเงินทำได้ไม่ยาก โดยจะมี 2 แนวทาง คือ กระทรวงยุติธรรมต้องประสานกับ ปปง.ในต่างประเทศเพื่อนำเงินคืนกลับมา อีกส่วนหนึ่งเป็นจะเงินที่ส่งออกไปและส่งกลับเข้ามา ซึ่งในอดีต ปปง.เคยมีคดีในตลาดหลักทรัพย์และตามเงินคืนกลับมาได้ถึง 3,000 ล้านบาท

การตรวจสอบธุรกรรมในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้เสียหายใช้อ้างอิงและเป็นแนวทางในการดำเนินคดี โดยเฉพาะประเด็นการฟื้นฟูกิจการของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นเนล (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ และเป็นบริษัทลูกหนี้ของบริษัท สตาร์ค ฯ 

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า จากการติดตามความเคลื่อนไหว ระหว่าง ปปง.กับกรมบังคับคดี และเส้นทางการเงินของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ ฯ พบว่า เป็นเกตเวย์ของการฟอกเงิน ที่วิ่งมาที่เฟ้ลปส์ ดอด์จ ซึ่งอยู่ในระหว่างการฟื้นฟู จึงมีประเด็น คือ ผู้เสียหายในคดีหุ้นสตาร์ค ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายที่ไปขอเฉลี่ยทรัพย์ฟื้นฟูที่เฟ้ลปส์ ดอด์จ ถือเป็นข้อเดือดร้อน ดังนั้น ปปง.จึงควรอายัดทรัพย์ไว้ก่อน

ปัญหาที่เกิดขึ้น ทราบว่าแม้ ปปง.และกรมบังคับคดี ได้หารือกันแล้ว แต่กลับแจ้งอายัดไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ ควรมีคำสั่งอายัดไว้ก่อน ส่วนทำได้หรือไม่นั้นให้อยู่ในอำนาจของศาล ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่จะตัดสินเอง

“เวลามีคดีสำคัญ ๆ เกิดขึ้น กระทรวงยุติธรรมควรมีการตั้ง ผู้ควบคุมสถานการณ์ หรือ ผบ.เหตุการณ์ คดีนี้ก็เช่นกัน ในเรื่องเดียวกัน วาระเดียวกัน คนคนเดียวกัน กลับฟ้องแตกไปหมดเลย จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คุยกันว่าควรฟ้องไปในแนวทางเดียวกัน เมื่อไปถึงศาล ก็จะพิจารณาเอง การฟ้องสะเปะสะปะจะทำให้คดีเสียหาย ...และตกลงผู้เสียหายตัวจริงและสตาร์ค จะเฉลี่ยทรัพย์คืนได้อย่างไร และเมื่อไหร่”

ในส่วนของรายงานมีการเสนอให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นสถาบันการเงินนั้น พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า ตามกฎหมายฟอกเงินต้องเข้าใจก่อนว่า คือ การควบคุมลูกค้าของสถาบันการเงินไม่ให้ฟอกเงิน จึงกำหนดให้ธนาคารรายงานธุรกรรมของลูกค้า บริษัทหลักทรัพย์รายงานข้อมูลธุรกรรมของลูกค้า หากเราไปกำหนดให้บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มาเป็นสถาบันการเงินซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน

“กรณีมีเหตุควรสงสัยก็ให้ ปปง.เข้าไปตรวจสอบตามมาตรา 16 กฎหมาย ปปง. ในกรณีเชื่อว่าบริษัทนั้น ๆ จะฟอกเงิน หรือกระทำความผิดมูลฐาน ซึ่ง ปปง. สามารถเข้าไปดูธุรกรรมได้”

สำหรับประเด็นการเยียวยาผู้เสียหายที่เป็นผู้ถือหุ้นสามัญ พ.ต.อ.สีหนาท ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า อยากทราบว่าจะเยียวยาอย่างไร เพราะขณะนี้มาตราการเยียวยาอยู่คนละทิศทาง ยังไม่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายชัดเจน จึงขอให้ฝ่ายที่ดำเนินคดีอาญาและฝ่ายที่ยึดทรัพย์ของ ปปง.ดำเนินคดีให้สุดทางและสิ้นกระแสความ

อ่านข่าว : แผนประทุษกรรมคดีหุ้น STARK "ผู้สอบบัญชี" คีย์สำคัญ ก.ล.ต.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง