วันนี้ (29 พ.ย.2567) นายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบาย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ตามที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบหมายให้ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.)

มีการรายงานการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจาก ทีม พม.จังหวัดในพื้นที่ ว่า ศบปภ.ของกระทรวง พม. รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ระบุว่า ข้อมูลวันที่ 28 พ.ย.2567 ผลกระทบจากภัยพิบัติ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี นครศรีธรรมราช มีกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ 2,068 ครัวเรือน จำนวน 32,927 ราย ประกอบด้วยเด็กเล็ก 2,761 ราย เด็กและเยาวชน 4,618 ราย คนพิการ 79 ราย ผู้สูงอายุ 5,511 ราย วัยแรงงาน (กลุ่มเปราะบาง) 19,958 ราย

อย่างไรก็ตามผลกระทบที่มีต่อกระทรวง พม. เอง ในเบื้องต้นหน่วยงานของ พม. ที่ได้รับผลกระทบ ที่ จ.ยะลา หน่วยงาน 4 แห่ง เจ้าหน้าที่ 43 คน อพม. 1,030 คน ที่ จ.นราธิวาส หน่วยงาน 3 แห่ง เจ้าหน้าที่ 82 คน อพม.77 คน จ.ปัตตานี อพม.115 คน
การให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว จัดตั้งโรงครัว ส่งทีม พม. หนึ่งเดียวลงพื้นที่เยี่ยมเยียนกลุ่มเปราะบาง มอบเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น มอบชุดเครื่องนอนให้กับผู้สูงอายุ จัดทำถุงยังชีพแจก ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำสิทธิสวัสดิภาพ ตามบทบาทภารกิจของกระทรวงพม.

ประสานทีมพม. หนึ่งเดียวจังหวัด เพื่อดำเนินการวางแผนให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ขณะเดียวกันบูรณาการงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการอพยพกลุ่มเปราะบางเข้าศูนย์พักพิงและดูแลจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น จัดกิจกรรมสันทนาการสร้างความผ่อนคลาย
ดำเนินการประสานกับป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ให้อพยพกลุ่มเปราะบางเข้าศูนย์พักพิง ประสานกับหน่วยงานในการขอรับสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคอาหารเครื่องดื่ม และสิ่งเครื่องใช้จำเป็นในการดำรงชีพ ประสานโรงพยาบาลในการลงพื้นที่ตรวจสุขภาพให้แก่กลุ่มเปราะบาง

ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของกระทรวง พม. คือแผนก่อนเกิดภัย โดยจัดทำข้อมูลกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เสี่ยงเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัย จัดทำแผนเผชิญเหตุ และซักซ้อมการเตรียมการอพยพกลุ่มเปราะบาง เสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงพม. และภาคีเครือข่าย ในการเฝ้าระวังภัยและแนวทางการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง สื่อสารสาธารณะเพื่อเตือนภัยให้แก่กลุ่มเปราะบางผ่านช่องทางออนไลน์และเครือข่าย

แผนขณะเกิดเหตุ จัดเตรียมทีมสอบข้อเท็จจริง คัดกรองและช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายทั้งเด็กเยาวชนคนพิการผู้สูงอายุและผู้มีรายได้น้อยเป็นการเฉพาะหน้า สำรวจและจัดเก็บข้อมูลเพื่อวางแผนการดำเนินการรูปแบบทีมสหวิชาชีพ ฟื้นฟูสภาพจิตใจ โดยจัดทีมนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาลงพื้นที่ ติดตามการช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นรายกรณี สอบถามความต้องการปัญหาและอุปสรรครวมถึงการสื่อสารสาธารณะให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติ
แผนฟื้นฟู คือการติดตามและประเมินผลการช่วยเหลือ ฟื้นฟูอาชีพ การมีรายได้และมีงานทำ สนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพของกลุ่มเปราะบาง ปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้มั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางในห้ามิติ และบันทึกข้อมูลในระบบ การสื่อสารสาธารณะช่องทางการให้บริการแก่ผู้ประสบภัย
อ่านข่าว : ปิด 4 โรงพยาบาลปัตตานีน้ำท่วมสูง-ห่วงฝน-มวลน้ำยะลาลงมาเติม