เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2567 นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วยนายฉลอง ทองสงฆ์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ และทีมงานจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้ร่วมสำรวจพื้นที่ต้นแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ "โป่งสีชมพู" มีพื้นที่ราว 1 ไร่ โดยใช้เวลาสำรวจ 4 วัน 3 คืน ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2567


จากการตรวจสอบข้อมูลภาพจากกล้องดักถ่ายภาพทั้ง 10 ตัวที่ติดตั้งไว้ในพื้นที่ พบการค้นพบที่น่าตื่นเต้น คือ พฤติกรรมของโขลงช้างป่าที่พยายามกำจัดขี้เลนหน้าโป่งเพื่อเข้าถึงแร่ธาตุสีชมพูที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษาชนิดของแร่ธาตุดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสัญชาตญาณของสัตว์ป่าในการแสวงหาแร่ธาตุที่จำเป็นในการช่วยย่อยอาหารและเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย

นอกจากนี้ ยังพบเสือโคร่ง 2 ตัว ซึ่งเป็นเสือลำดับที่ 4 และ 6 ที่พบในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รวมถึงสัตว์ป่าอื่น ๆ อีกหลายชนิด อาทิ เสือดาว กระทิง กวาง เก้งหม้อ สมเสร็จ และลิงกัง แสดงให้เห็นว่าโป่งแห่งนี้เป็นแหล่งดึงดูดสัตว์ป่าทั้งสัตว์กินพืชและสัตว์ผู้ล่าใช้ประโยชน์ร่วมกัน สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่ต้นน้ำเพชรบุรี และผืนป่าแก่งกระจานในฐานะแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด ซึ่งนับว่ามีสำคัญต่อการศึกษาและติดตามประชากรสัตว์ป่า


นายมงคล กล่าวว่า ความสำเร็จในการสำรวจครั้งนี้เป็นผลมาจากการลาดตระเวนที่เข้มแข็งในผืนป่าแก่งกระจาน แม้การล่องเรือยางในเส้นทางที่มีแก่งอันตรายจะต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์สูง แต่การปฏิบัติงานครั้งนี้เสร็จสิ้นลงด้วยดี โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

การค้นพบนี้ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่โป่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสัตว์ป่าในระบบนิเวศ และความสำเร็จในการอนุรักษ์ผืนป่ามรดกโลกแก่งกระจาน ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สำคัญของประเทศไทยอีกด้วย
อ่านข่าว : จนท.ชี้ผู้ต้องหาผิดหลายข้อหาคดีครอบครองซากเสือ - ส่งซากตรวจพิสูจน์