ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มติศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องปม "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง

การเมือง
22 พ.ย. 67
12:03
13,694
Logo Thai PBS
มติศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องปม "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ปม "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง ระบุยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ

วันนี้ (22 พ.ย.2567) ศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมหารือนัดพิเศษ กรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 6 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ให้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ ทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤต

ประเด็นที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา ให้มีการเจรจาพื้นที่ทับช้อนทางทะเลเพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของประเทศไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา

ประเด็นที่ 3 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองของพรรคก้าวไกลเดิมที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประเด็นที่ 4 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 โดยเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่น ที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1

ประเด็นที่ 5 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

ประเด็นที่ 6 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา ผู้ร้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 ขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เลิกการกระทำ แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม

ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการดังกล่าวและให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการดังกล่าว เมื่อวันอังคารที่ 22 ต.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้มีหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อขอทราบว่า ได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งอัยการสูงสุดได้รับหนังสือเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ต.ค.2567

ต่อมาเมื่อวันศุกร์ที่ 8 พ.ย.2567 และวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.2567 สำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญได้รับหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ลับ ด่วนที่สุด ที่ อส 0033.0 /2499980 ลงวันที่ 7 พ.ย.2567 และหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ลับ ด่วนที่สุด ที่ อส 0033.3/191100 ลงวันที่ 11 พ.ย.2567 ส่งเอกสารตามหนังสือเรียกเอกสาร หลักฐาน หรือบุคคลของศาลรัฐธรรมนูญ ตามลำดับ

ผลการพิจารณา

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดแล้วและอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ อันทำให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ตาม แต่การพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์ระดับที่วิญญูชนคาดเห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ

ข้อกล่าวอ้างในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 สำหรับประเด็นที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย 

อ่านข่าว : 

ความลับ “ทักษิณ” นอนป่วยชั้น 14 “ยธ.-กมธ.มั่นคงฯ” เล่นแง่สอบ

"ชูศักดิ์" มั่นใจ "ทักษิณ-เพื่อไทย" ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

นายกฯ โยนถาม "ทักษิณ" ปม "ยิ่งลักษณ์" กลับไทย ปัดดีลรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง