ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

White Collar Crime กอบโกย-รวยเร็ว เส้นทางลัด “อาชญากรรม”

อาชญากรรม
18 พ.ย. 67
17:09
501
Logo Thai PBS
White Collar Crime กอบโกย-รวยเร็ว เส้นทางลัด “อาชญากรรม”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

คนเราสามารถกระทำผิดกฎหมาย โดยไม่ทิ้งร่องรอย เช่น พยานหลักฐาน เอกสาร เพื่อมัดตัวเองได้จริงหรือ? หากใช้ทฤษฎีอาชญาวิทยา มาอธิบาย ต้องชี้ว่า เป็นไปได้ยาก ที่เจ้าหน้าที่จะแกะรอยไม่เจอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงไหน และเมื่อผู้ก่ออาชญากรรม ได้ก่อการแล้ว ย่อมได้รับผลที่จะตามมาเสมอ

ซีซาร์ เบ็คคาเรีย (Cesare Beccaria ) นักอาชญาวิทยาชาวอิตาเลียนที่เป็นนักกฎหมาย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น ปราชญ์แห่งวงการอาชญาวิทยา เคยเสนอหลักในการกำหนด ความรับผิดและโทษทางอาญาแก่บุคคลที่เรียกว่า “หลักการลงโทษที่เหมาะสมกับลักษณะของความผิด” หรือ (Punishment fit to the crime)

ตามแนวความคิด “ทฤษฎีเจตจำนงอิสระ” (Free will Theory) ระบุว่า มนุษย์ทุกคนอิสระในการตัดสินเลือก กระทำสิ่งใด ๆ ตามที่ตนปรารถนา และเมื่อมนุษย์ ได้ตัดสินใจกระทำสิ่งนั้นย่อมต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย เช่นเดียวกันกับการประกอบอาชญากรรม

เมื่อมนุษย์เห็นว่าการกระทำความผิดนั้น ทำให้เกิดความพอใจและตัดสินใจเลือกกระทำผิดนั้น มนุษย์ย่อมต้องยอมรับผลร้ายที่เกิดขึ้นด้วย ดังหลาย ๆ คดีที่เกิดขึ้น ทั้งในต่างประเทศและไทย ที่มีทั้งคนเด่น คนดัง เข้าไปเกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะคดีดิไอคอนกรุ๊ป ซึ่งถือเป็นคดีดังตั้งแต่เดือน ต.ค.-ปัจจุบัน ที่ยังมีตัวละครดังเข้าไปเกี่ยวข้อง ปรับจากบทบาท ตัวแทนช่วยผู้เสียหาย และผู้เสียหาย กลายเป็นผู้ต้องหา และต้องถูกแจ้งข้อกล่าวในหลายคดีต่างกรรม ต่างวาระ ไล่เลียงคนสำคัญที่อยู่ในแสงมาโดยตลอด ตั้งแต่ “บอสพอล” วรัตน์พล วรัทย์วรกุล , กลุ่ม 18 บอส รวม 3 บอสดารา , ทนายตั้ม “ษิทรา เบี้ยบังเกิด” และผู้ต้องหารายล่าสุด “พัช” กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ อดีตประธานอำนวยการศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่าย-ออนไลน์ ที่เจอ 2 ข้อกล่าวหา ฐานความผิดฐานกรรโชกทรัพย์และเป็นตัวกลางเรียกรับสินบน” กรณีแอบอ้างเรียกเงินจากกลุ่มผู้ต้องหาเครือข่ายดิไอคอน

และนับจากนี้ ยังคาดเดาไม่ได้ว่า คดีลักษณะดังกล่าวจะเกิดตามมาอีกหรือไม่ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน หลายคดีๆ มักจะมีบุคคลที่มีชื่อเสียงแทบทุกวงการ นักธุรกิจ ดารา นักร้อง และนักการเมือง เข้าไปเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ใช้หลักทฤษฎีอาชญาวิทยา วิเคราะห์พฤติการณ์

“การกระทำความผิด ของ ทนายตั้ม ,บอสพอล , และกฤษอนงค์ หากอธิบายในแง่ทฤษฎีอาชญาวิทยา เป็นเรื่องความกดดันทางสังคมของมนุษย์ทั่วไป คือ อยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่ว่าคนคนนั้น จะเป็นรากหญ้า หรือมีฐานะตำแหน่งทางสังคม ร่ำรวย หรือหาเช้ากินค่ำ ทุกคนอยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้มากกว่าเดิม ส่วนคนที่มีอยู่แล้ว ก็ยังอยากบ้านหลักใหญ่โตขึ้น มีความหรูหรามากขึ้น ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หลายคน ส่วนใหญ่เมื่อไปไม่ถึงเป้าหมาย จากรายได้ และธุรกิจที่ทำอยู่ จึงต้องอาศัยรูปแบบวิธีการ เทคนิค เพื่อให้ไปถึงจุดหมายให้เร็วขึ้น”

โดยการใช้ “ทางลัด” ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย เช่น การทำธุรกิจของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป หากใช้วิธีการปกติ กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทฯ ที่มีรายได้และสร้างกำไร จะต้องเหนื่อย ในการทำธุรกิจ ทุ่มเท การทำการตลาด ต้องคิด วิเคราะห์ ศึกษา ตลาดและคู่แข่ง ดังนั้น เขาจึงใช้วิธีการทำธุรกิจในลักษณะแบบแชร์ลูกโซ่ มีสินค้า ผลิตภัณฑ์และหาสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น มีการคิดค่าสมาชิกในระดับ และราคาที่แตกต่างกัน

เช่นเดียวกับการไต่เต้า เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม ในหลายๆ อาชีพ หากไม่มีผู้สนับสนุน ก็ยากที่จะไต่ระดับขึ้นมายืนอยู่ในแถวต้นๆ ที่มีผู้คนมองเห็น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ บอกว่า ทนายตั้ม “ษิทรา” ก็เช่นเดียวกัน เพราะปกติผู้ประกอบวิชาชีพทนายความทั่วไป ใช่ว่าทุกคนจะได้ว่าความในคดีที่มีมูลค่าสูง ๆ นอกจากนี้ ทนายความแต่ละคน จะมีได้รับโอกาส ในการทำคดีแตกที่แตกต่างกัน ขณะที่ทนายความส่วนหนึ่ง อาจมองช่องทางโอกาส และกลายเป็น อินฟลูเอนเซอร์ หลายคนรู้จัก เมื่อมีช่องทาง ก็จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้คน เพื่อจะสามารถสร้างรายได้ และหาได้ง่ายและเร็ว

เขาจะมีรูปแบบคล้ายๆ กัน คือ อยากได้เงิน อยากรวย โดยไม่สนใจวิธีการที่ได้มา หรือถูกต้องหรือไม่ หรือแม้แต่คนรากหญ้า ที่ไม่มีโอกาสทางสังคม ก็อยากรวยเร็ว ไปลักลอบค้ายาเสพติด วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ แต่ผู้มีความรู้ มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี แชร์ลูกโซ่ ก็อาศัยวิธีการอย่างอื่นไทย

ผู้ก่ออาชญากรรมประเภทนี้ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ บอกว่า อาจเรียกเป็น White Collar Crime ได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาชญากรรมคอปกขาว ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในองค์กรภาครัฐ เอกชนและรัฐวิสาหกิจ โดยจะมีรูปแบบการทุจริตภายในองค์กร อาศัยการฉ้อโกง มีการใช้สถานะ ตำแหน่งหน้าที่การงาน

แต่สำหรับคดีดังกล่าว หากย้อนดูปรากฏการณ์ เรื่องนี้ เกิดจากคดีดิไอคอนกรุ๊ป จากคดีบอสพอล บอสดารา และเหล่าบอส ขณะที่ ทนายตั้ม ก็ทำหน้าที่รวบรวมกลุ่มทนายแอดเวนเจอร์ นำทนายไปช่วยเหลือประชาชนที่เสียหายที่กองปราบปรามฯ เช่นเดียวกับ กฤษอนงค์ ติดต่อผู้เสียหายไปเจรจากับบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป โดยกลุ่มนี้อาศัยความน่าเชื่อถือ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทางกฎหมายและช่องทางในการเข้าหาเจ้าหน้าที่ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ จากฝ่ายผู้ต้องหากลุ่มบอส

ส่วนพวกอินฟลูเอนเซอร์ จะมีลักษณะคล้ายกัน คือ เมื่อเป็นบุคคลที่พอมีชื่อเสียง มีคนรู้จักบางคนก็อาศัยช่องว่าง คนรู้จัก มีผู้ติดตามเยอะ ก็อยากได้เงินง่ายๆ ด้วยการรับแปะลิงค์เว็บพนันออนไลน์ โดยรับค่าตอบแทน โดยไม่ได้มองความเสียหายที่จะตามมา ส่วนหนึ่ง คือ พวกเว็บพนัน ต้องจ้างอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีผู้ติดตามหลักล้าน ไม่ใช่มีผู้ติดตาม 10-20 คน เพราะจะมีโอกาสให้มีผู้กดเข้าไปดูลิงค์เว็บพนันเยอะๆ

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ บอกว่า อิทธิพลของพวกอินฟลูเอนเซอร์ เหมือนเหรียญสองด้าน เพราะมักจะมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้ติดตาม หากเป็นตัว อย่างที่ดี การชักชวนทำในสิ่งที่ดี เช่น ต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน นำเสนอข้อมูลข่าวสาร เชิงสุขภาพ ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะสังคมได้ประโยชน์

ในทางกลับกันหากใช้ความเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หลอกลวงผู้คน มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ธุรกิจสีเทา เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นบรรทัดฐานของสังคมไทยต้องชัดเจน การให้แสงคน ต้องดูว่า เขาอยู่ตรงจุดไหน

สำหรับทางออกในการแก้ไขปัญหา หากสังคมใด มีบรรทัดฐานที่ดี ก็จะยึดเหนี่ยวคนในสังคมนั้น ให้ปฏิบัติตามสังคมนั้น ๆ โดยระเบียบและกฎหมาย แทบจะไม่มีความหมายเลย เช่น อินฟลูเอนเซอร์ ที่ชักชวนทำในสิ่งที่ดี แต่ถ้าเป็นอินฟลูอินเซอร์ที่ก้าวร้าว ใช้คำไม่สุภาพ แล้วคนสะใจ ชอบถูกจริตคน ตรงนี้ไม่ดี ดังนั้นบรรทัดฐานของสังคมเองก็ต้องชัด และต้องไม่ให้คนเหล่านั้นเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หากคนรับฟังบ่อย ๆ ถี่ ๆ ซ้ำ ๆ เป็นพฤตินิสัย หรือบุคลิกภาพที่แสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว

ในฐานะนักอาชญาวิทยา มองว่า สื่อมีอิทธิพล ไม่น้อยในการสนับสนุนให้เกิดอินฟลูเอนเซอร์ ด้วยเช่นกัน ในหลายประเทศ ได้เปิดให้มีการเรียนการสอน Crime and Social Media เพราะถือว่า สื่ออิทธิพลในแง่ของการส่งสารไปยังผู้รับสาร มีทั้งในทางบวกและลบ ขณะเดียวกัน ผู้รับสารไม่ใช่ทุกคนจะคิดวิเคราะห์ จำแนก แยกแยะ ในสิ่งที่ผิดชอบ ชั่วดี ได้เหมือนกันหมด เหตุผลเพราะภูมิหลังที่มาของแต่ละครอบครัว มีการขัดเกลาทางสังคมที่แตกต่างกัน

ดังนั้นสื่อจึงมีบทบาทสำคัญในการยึดโยงให้สมาชิกในสังคม ให้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานสังคมในทางที่ถูกต้อง หมายความว่า ใครที่เป็นอินฟูลเอนเซอร์ แล้วมีการใช้ความรุนแรง แม้จะมีการสอนไปด้วย แต่มีการพูดหยาบคาย สื่ออาจต้องลดบทบาทการให้ความสำคัญกับอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้น และให้คุณค่ากับผู้ที่มีบทบาทที่จะขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดี

“สื่อที่อยู่ในกลุ่มวิชาชีพหลัก ๆ ต้องช่วยกันกำกับและดูแลกันเอง และไม่มีใครจะทราบดีว่า สิ่งเหล่านี้เหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้สมาคมวิชาชีพสื่อ จะต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งสาร พูดคุย เพื่อหาจุดลงตัวร่วมกัน แม้ทุกอย่างจะเป็นเรื่องของการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น วงการธุรกิจ สื่อ การศึกษา ทุกวงการมีการแข่งขันหมด แต่จะทำอย่างไรให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม และสังคมได้ประโยชน์”

มีคำกล่าวว่า อาชญากรคอปกขาวหรืออาชญากรผู้ดี (White Collar Crime) คนกลุ่มนี้ มักจะความผิดโดยอาศัยอำนาจอิทธิพลที่มีอยู่จากการประกอบอาชีพ โดยใช้ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ หรือแสวงหาประโยชน์จากอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของตน เพื่อให้ตนเองได้ผลประโยชน์อันเกิดจากความโลภไม่ใช่เกิดจากความยากจน เราจึงมักพบเจออาชญากรประเภทนี้แฝงตัวอยู่ในทุกอาชีพ

ดังคำกล่าวของ เอ็ดวิน ซัทเธอร์แลนด์ (Edwin Sutherland) นักอาชญาวิทยา ที่ว่า อาชญากรปกขาว หมายถึง การกระทำความผิดกฎหมายอาญา โดยบุคคลชั้นสูงของสังคม และทำความผิดในกิจการที่ตนมีอิทธิพลอยู่ ด้วยวิธีหลอกลวงหักหลัง ….ปัญหา คือ สังคมจะรู้ทันอย่างไรเพื่อป้องกันตัวเอง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ !

อ่านข่าว :

คุม "กฤษอนงค์" เข้าคุก หลังเจ้าตัวไม่ยื่นประกันคดีกรรโชกทรัพย์

ทนาย "กรรชัย" ให้การเพิ่มปมกฤษอนงค์-ฟิล์มแอบอ้างเรียกเงิน

"จรูญเกียรติ" ขอเวลา 10 วัน สรุปอีก 3 คดี "กฤษอนงค์"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง