วันนี้ (17 พ.ย.2567) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศเตือนน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 20-26 พ.ย.นี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูง กำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
ทั้งนี้ สทนช.ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 20–26 พ.ย.ดังนี้
พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ เนื่องจากระบายไม่ทัน 9 จังหวัด
- สุราษฎร์ธานี อ.เมืองสุราษฎร์ธานี กาญจนดิษฐ์ บ้านนาสาร เวียงสระ บ้านนาเดิม พุนพิน เคียนซา พระแสง ชัยบุรี ดอนสัก เกาะพะงัน และเกาะสมุย
- นครศรีธรรมราช อ.เมืองนครศรีธรรมราช ปากพนัง เฉลิมพระเกียรติ พระพรหม ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ ขนอม ทุ่งสง สิชล นบพิตำ พิปูน ฉวาง ท่าศาลา พรหมคีรี ลานสกา เชียรใหญ่ ชะอวด และหัวไทร
- ตรัง อ.เมืองตรัง วังวิเศษ ย่านตาขาว ห้วยยอด นาโยง และปะเหลียน
- สตูล อ.เมืองสตูล ทุ่งว้า มะนัง ควนกาหลง และควนโดน
- พัทลุง อ.เมืองพัทลุง และควนขนุน
- สงขลา อ.เมืองสงขลา กระแสสินธุ์ สทิงพระ ควนเนียง บางกล่ำ สิงหนคร หาดใหญ่ รัตภูมิ ระโนด จะนะ เทพา และนาทวี
- ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี แม่ลาน กะพ้อ ทุ่งยางแดง ไม้แก่น ยะรัง สายบุรี ยะหริ่ง ปะนาเระ มายอ และหนองจิก
- ยะลา อ.เมืองยะลา กรงปินัง เบตง ธารโต บันนังสตา กาบัง ยะหา และรามัน
- นราธิวาส อ.เมืองนราธิวาส ศรีสาคร เจาะไอร้อง แว้ง บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ จะแนะ สุคิริน สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี และตากใบ
อ่านข่าว ลมหนาวมา 18-26 พ.ย. เช็กอินทุ่งดอกไม้ป่า ดูหมอกสันหนอกวัว
อ่างเก็บน้ำมากกว่า 80% จับตาเขื่อนบางลาง
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ใน จ. สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่าง และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด
รวมทั้งให้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
โดยขอให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที และแจ้งสถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
อ่านข่าว สภาพอากาศวันนี้ เหนือ-อีสาน อุณหภูมิลดเหตุมวลอากาศเย็นปกคลุม
หม่านหยี่ ไม่กระทบไทย-ใต้เสี่ยงน้ำท่วม
ด้านน.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ได้สั่งการให้ติดตามผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น "หม่านหยี่" ล่าสุดมีศูนย์กลางบริเวณตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนเข้าสู่ทะเลจีนใต้ในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ย.) และจะสลายตัวเมื่อเข้าใกล้ชายฝั่งเวียดนาม โดยกรมอุตุนิยมวิทยายืนยันว่า พายุดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 20-24 พ.ย.นี้ จะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก ทั้งนี้ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรธรณี วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงดินถล่ม เพื่อเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานในพื้นที่ได้เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป
ส่วนขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักรกลในการเข้าพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือทันทีที่เกิดเหตุ ขณะเดียวกันได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของแนวกั้นน้ำ รวมถึงศักยภาพการระบายน้ำตามจุดต่าง ๆ ให้มีความพร้อมระดับสูงสุดก่อนที่จะมีฝนตกหนักลงมาในพื้นที่ภาคใต้