ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปัญหาเรื้อรัง "ผู้ต้องขังล้น - ผู้คุมน้อย" กระทบความมั่นคงฯ

อาชญากรรม
17 พ.ย. 67
09:15
361
Logo Thai PBS
ปัญหาเรื้อรัง "ผู้ต้องขังล้น - ผู้คุมน้อย" กระทบความมั่นคงฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัญหาอาชญากรรมที่มีสถิติการเกิดเพิ่มสูงขึ้น ก็ส่งผลต่อสถิติคดีอาญาและจำนวนของผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นไปด้วยโดยปริยาย และปัญหาลูกโซ่ของเรื่องนี้ก็พัวพันไปถึง สภาพความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำด้วย

ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่เผชิญมานาน พยายามแก้มาทุกยุค ทุกสมัย แต่ก็ยังไม่แก้ไม่ได้ มันมีปัจจัยอะไรทีเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง หลัก ๆ ก็คือการกระทำผิดซ้ำ ปล่อยออกมากก็จริงแต่ที่กลับเข้าไปทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่า จำนวนพอ ๆ กับที่ปล่อยออกทุกปี ขณะเดียวกันผู้คุมเองก็น้อย ก็ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนเข้าไปอีก

ประเทศไทยมีผู้ต้องราชทัณฑ์มากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 3 ของเอเชีย และไทยประสบปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำมากที่สุด แม้จะมีการฝึกทักษะอาชีพ พัฒนาศักยภาพทางความคิดผิด-ถูก แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่กระทำผิดซ้ำวนกลับเข้าไปในเรือนจำ ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ขาดแคลนเจ้าหน้าที่ ซึ่งนี่เป็นปัจจัยที่ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยในสถานที่ควบคุม

ความหนาแน่นของจำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์ มีเกณฑ์คำนวณจากพื้นที่นอน ตามมาตรฐานสากล คือ 1 คน ต่อ 2.25 ตารางเมตร

แต่ประเทศไทย 1 คนต่อพื้นที่นอน 1.6 ตารางเมตร ต่ำจากมาตรฐานเป็นเท่าตัว

ความพยายามแก้ไขมีมาอย่างยาวนาน แต่เพราะมีหลายปัจจัยจึงทำให้แก้ลำบากทั้งพื้นที่จำกัด ผู้กระทำผิดเพิ่มขึ้นไปจนถึงคนที่กระทำผิดซ้ำ ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญ และสวนทางกับอัตรากำลังผู้คุม อดีตผู้ต้องขังที่เคยมีชีวิตวนเวียน เข้า ออก เรือนจำมาแทบนับครั้งไม่ถ้วน และแม้จะบอกลาโลกหลังกำแพงมานานกว่า 12 ปีแล้ว แต่ก็ไม่วาย มีภารกิจให้ได้กลับเข้าไปสัมผัสบรรยากาศข้างในอยู่เป็นประจำ

คน ๆ นี้ มีชื่อเรียกคุ้นหูกันว่า "หรั่ง พระนคร"เขาสะท้อนประเด็นผู้คุมขาดแคลนว่า มีมานานมากแล้ว สาเหตุหนึ่งเพราะ นี่ไม่ใช่อาชีพในฝันของคนส่วนใหญ่ เพราะทุก ๆ วันที่เข้าไปทำงาน ก็เสมือนกับการถูกจองจำไปด้วย

หรั่ง พระนคร สะท้อนถึงระบบบ้าน หรือ แก๊ง ในเรือนจำด้วยว่า แม้ภาพจำของผู้คนจะมองว่า การรวมกลุ่มแก๊ง ก็เพื่อแสดงศักดาต่อกัน แต่ความจริงแล้วก็อยู่ที่หัวหน้าแก๊ง หรือ "พ่อบ้าน" ด้วย เขาอธิบายอีกมุมมองของเรื่องระบบบ้านว่า มันก็คือ การรวมกลุ่มของคนที่มาจากแห่งหนตำบลเดียวกัน เหมือนคนปกติทั่วไปที่ต้องมีเพื่อน มีพรรคพวก และอีกมุมหนึ่ง ก็คือ ระบบบ้าน ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ได้อีกด้วย

ไม่ใช่ว่า ผู้ต้องขังไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่ เพียงแต่เกรงกลัวผู้ต้องขังด้วยกันมากกว่า สาเหตุก็เพราะว่าพวกเขาต้องอยู่ต้องกินร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง แต่ปัญหา "ผู้ต้องขังล้นคุก-ผู้คุมขาดแคลน" ก็คงไม่อาจใช้ระบบ "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" แบบนี้ไปได้โดยตลอด ราชทัณฑ์จำเป็นที่จะต้องพัฒนาแก้ไขทั้งระบบและต้องทำอย่างจริงจัง โดยหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องร่วมมือกับราชทัณฑ์อย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อให้ปัญหานี้เบาบางและแก้ได้อย่างยั่งยืน

ถามว่ายากไหม ยากแน่นอน เพราะถ้าง่ายคงแก้ได้ไปนานแล้ว แต่ยังไงก็เชื่อว่าไม่ได้ไร้หนทางไปเสียทีเดียว นโยบายการแก้ปัญหาที่มีขึ้นในแต่ละยุคของผู้บริหาร บอกได้ว่า รู้ปัญหากันดีอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องเพิ่มการสานต่อให้เกิดความต่อเนื่องกัน ซึ่งก็รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

อ่านข่าวอื่น :

"ณัฐพงษ์" โต้กลับเวที พท. หวังปักธงส้มนายก อบจ.อุดรธานี

ตร.เรียก "ทนายรณณรงค์" ให้ปากคำขยายผลคดี "ทนายษิทรา"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง