ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เสียงของ “ชาวแหลมตะลุมพุก” ต่อการเลือกตั้ง นายก อบจ.นครศรีฯ

การเมือง
15 พ.ย. 67
12:54
232
Logo Thai PBS
เสียงของ “ชาวแหลมตะลุมพุก” ต่อการเลือกตั้ง นายก อบจ.นครศรีฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หากเกิดภัยพิบัติคลื่นลมแรงซัดเข้าชายฝั่ง ชื่อของแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช จะเป็นสถานที่แรกๆ ที่หลายคนคิดถึง

เพราะที่นี่เคยเกิดโศกนาฎกรรมจากพายุโซนร้อนฮาร์เรียต เมื่อปี 2505 ทำให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกว่า 1,300 คน

และล่าสุดพายุปาบึก พัดผ่านขึ้นฝั่งเมื่อปี 2562 ทำให้บ้านเรือนชาวบ้านริมทะเลได้รับความเสียหาย หน้ามรสุมปีนี้ เจ้าหน้าที่จึงเร่งมือใช้รถแบคโฮนำหินขนาดใหญ่มากองตลอดแนวริมหาด

น.ส.ภาวิณี ณรงค์ฤทธิ์ ชาวบ้านที่อาศัยริมทะเล บอกว่า ด้วยภูมิประเทศที่อยู่ปลายแหลม ทำให้หลายคนปรับตัว และไม่คิดว่าผู้บริหารท้องถิ่นคนใด จะเข้ามาแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นภัยพิบัติธรรมชาติ

จนถึงตอนนี้ใกล้โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดคนใหม่ ก็ยังไม่มีผู้สมัครรายได้มาเปิดเวทีปราศรัย

แต่ก็ยังหวังว่า คนที่ได้รับเลือกจะเข้ามาส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะการท่องเที่ยว หรือ มีนโยบายที่ชัดเจนในการเข้าช่วยเหลือเมื่อประสบภัยพิบัติ

“มันก็เป็นแบบนี้ เลือกมากี่ครั้ง ก็อยู่ในสภาพนี้ เขาก็มาหาเสียง เค้าก็แนะนำ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังอยู่เหมือนเดิม ก็อยากให้เขาช่วยเรื่องปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว คนได้มาเที่ยว จะได้ทำมาหากิน ประมงก็ส่วนประมง แม่ค้าก็ส่วนแม่ค้า แม่ค้าก็อยากให้คนมาเที่ยว จะได้ขายของ” น.ส.ภาวิณี กล่าว

ท่ามกลางความคาดหวังของชาวบ้าน ที่อยากให้ นายก อบจ. และทีมบริหาร อบจ.นครศรีธรรมราช เข้ามาแก้ปัญหา ด้วยงบประมาณที่มีในมือแต่ละปี มากกว่า 1,100 ล้านบาท การแข่งขันเพื่อชิงเก้าอี้ ก็ดุเดือดขึ้น โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้าย

ทำให้ กกต.นครศรีธรรมราข เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วย ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส โดยเฉพาะการวางตัวเป็นกลาง แม้กฎหมายเลือกตั้งปีนี้ จะอนุญาตให้นักการเมืองถูกแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยหาเสียงได้

“แม้รอบนี้ กฎหมายจะอนุญาตให้นักการเมืองช่วยหาเสียงได้ แต่อนุญาตเฉพาะตัวบุคคล ซึ่งต้องแจ้งกับ กกต.เท่านั้น แต่กฎหมายไม่ได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด เข้าไปเอื้อประโยชน์ หรือเป็นคุณหรือโทษ เช่น อบต.หรือเทศบาลต่าง ๆ ไปช่วยหาเสียง ในนามองค์กรไม่ได้ จึงต้องระมัดระวัง” นายธนกฤต นาคจารุพงษ์ ผอ.กกต.นครศรีธรรมราช กล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงหลังมีการนำสื่อโซเซียลเข้ามาช่วยหาเสียงมากขึ้น ทำให้ กกต.ต้องกำชับไปยังผู้สมัคร ให้แจ้งรายละเอียด การใช้สื่อในช่องทางต่าง ๆ ให้ ผอ.กกต.จังหวัด รับทราบ ถ้าหากไม่มีการแจ้ง ถือว่าเป็นการฝืนระเบียบ

ซึ่งที่ผ่านมา แม้จะมีการแจ้งข่าวร้องเรียนมายัง กกต.ผ่านออนไลน์บ้าง หรือการโทรศัพท์มาแจ้งให้ตรวจสอบบ้าง กกต.ก็รับเรื่องไว้ และตรวจสอบความเป็นไปได้ ตามพยานหลักฐาน แต่การร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีที่มาที่ไปชัดเจน ก็ยังไม่มีมูล และยังไม่พบการทำผิดกฎหมายในตอนนี้

เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้

อ่านข่าว : 3 พรรคแตะมือล้ม นายก อบจ.อุบลฯ "สายเพื่อไทย"

"ศราวุธ" มั่นใจคว้าชัยชนะเลือกตั้ง อบจ. ชี้ชนะ-แพ้ อยู่ที่ ปชช.

“ศึกนี้ แพ้ไม่ได้” ท้าชน “บ้านใหญ่” ชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครศรีธรรมราช

ข่าวที่เกี่ยวข้อง