เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2567 กระทงอาหารปลาหลากหลายสีสัน รูปการ์ตูนชนิดต่าง ๆ คือ ลักษณะของกระทงที่ถูกมิจฉาชีพโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ อ้างว่า พร้อมขาย ในราคาชิ้นละ 20 บาท จนมีแม่ค้าหลงเชื่อ หวังจะซื้อมาขายต่อช่วงลอยกระทง ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด
โดยแม่ค้าชาวอำเภอหางดง จ.เชียงใหม่ เล่าว่าได้ติดต่อซื้อกระทงอาหารปลา จากผู้ใช้เพจเฟซบุ๊กชิ้นละ 20 บาทและได้โอนเงินเข้าบัญชีของชายคนหนึ่ง รวมทั้งหมด 2,085 บาท ซึ่งจากการสนทนาผ่านแชต อ้างว่าจะส่งของให้วันถัดไป
ต่อมากลับถูกเลื่อนส่งสินค้าเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดถูกบล็อกเฟซบุ๊กไป ตนเองจึงไปแจ้งอายัดยอดเงินที่โอนไปยังบัญชีธนาคารดังกล่าวกับทางธนาคาร และแจ้งความออนไลน์
ต่อมามีชายที่อ้างว่าเป็นตำรวจไซเบอร์ติดต่อมา บอกว่ามีความคืบหน้าคดีนี้ เพราะสามารถจับกุมชายคนดังกล่าวได้แล้ว และยังบอกว่า เธอถูกชายคนดังกล่างซัดทอดว่าถูกหลอกให้เปิดบัญชีม้ารับเงิน
มิจฉาชีพที่อ้างว่าเป็นตำรวจไซเบอร์ ได้ขอตรวจสอบบัญชีธนาคารทั้งหมด โดยจะขออายัดเงินในบัญชีไว้ประมาณ 3-6 เดือน เพื่อตรวจสอบ แต่ผู้เสียหายไม่ยินยอม เพราะเป็นเงินที่ต้องใช้หมุนในร้านค้า
มิจฉาชีพจึงขอให้โอนมาที่ "ธนาคารกลาง" โดยใช้เวลาตรวจสอบไม่นาน แต่ผู้เสียหายก็ยังไม่ยินยอม เพราะกำลังจะใช้รายการเดินบัญชีไปซื้อรถใหม่
ท้ายที่สุด บุคคลดังกล่าวจึงอ้างว่า ขอเวลาตรวจสอบสักครู่โดยให้แอดไลน์ ที่มีรูปโปรไฟล์เป็นโลโก้ตำรวจไซเบอร์เพื่ออายัดบัญชีทั้ง 3 บัญชี หลังจากนั้นตนเองได้รับ SMS ส่งมาว่าบัญชีถูกอายัดไปแล้ว 2 บัญชี จึงหลงเชื่อว่าน่าจะเป็นตำรวจจริง ๆ
สุดท้ายยอมโอนเงินทั้งหมดไปยังบัญชีที่อ้างว่าเป็น "บัญชีกลาง" จำนวนกว่า 996,801.04 บาท
ต่อมาชายคนดังกล่าวยังสอบถามว่ามีเงินในบัญชีอื่น ๆ อีกหรือไม่ จึงเริ่มเอะใจและรู้ตัวว่าถูกหลอก เธอบอกว่า ตอนนี้เหมือนชีวิตต้องเริ่มจากศูนย์
ผู้เสียหายบอกว่าเหมือนล้มละลาย เพราะเงินที่โอนไปให้มิจฉาชีพเกือบ 1,000,000 บาท เป็นเงินเก็บในบัญชีธนาคารจริง ๆ 60,000 บาท ส่วนอีกกว่า 900,000 บาท เป็นเงินสินเชื่อเงินเบิกเกินบัญชีหรือ OD จากทางธนาคาร เงินส่วนนี้ตนเองจะต้องคืนให้กับธนาคารไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 20,000 บาท
ล่าสุด จึงนำเอกสาร เป็นสำเนาสลิปโอนเงิน รูปหน้าเพจ และรูปข้อความแชต เข้าแจ้งความที่กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 4 จ.เชียงใหม่
อ่านข่าวอื่น :