ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทรัมป์-แฮร์ริส เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใครชนะ “โลกระส่ำ”

ต่างประเทศ
4 พ.ย. 67
16:13
11,906
Logo Thai PBS
ทรัมป์-แฮร์ริส เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใครชนะ “โลกระส่ำ”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นับถอยหลัง ไม่เกินวันที่ 6 พ.ย.2024 ตามเวลาในประเทศไทย คาดจะทราบผลแพ้-ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และไม่ว่าจะเป็น คามาลา แฮร์ริส หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นฝ่ายมีชัย แต่ก็จะมีคำถามตามมา หากเป็น "แฮร์ริส" อาจมีคำถามว่า ในฐานะเป็นประเทศต้นทางแห่งประชาธิปไตยจะฟื้นฟูภาพพจน์จากที่เคยเสียไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ แต่ถ้าเป็น "ทรัมป์" ชนะ เขาจะเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เป็น "อาชญากรรม" ได้รับการยกเว้นโทษเพื่อดำรงตำแหน่ง และจะทำให้ประชาธิปไตยระส่ำอีกครั้งหรือไม่

เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนา "US Election กับฉากทัศน์นโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกา : นัยต่อโลกและอาเซียน" เพื่อวิพากษ์ วิเคราะห์ ประเมิน และคาดการณ์ผลกระทบในวงกว้างของการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 ทั้งในระดับปัจเจก ระหว่างประเทศ และการเมืองโลก ผลกระทบที่มีต่ออาเซียนและไทย ในฐานะพันธมิตรที่คอยจับตามองมาเสมอ

โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ , ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ่านข่าว : โค้งสุดท้ายหาเสียง "แฮร์ริส-ทรัมป์" มุ่งคว้าคะแนนรัฐสมรภูมิ

ผลประโยชน์สหรัฐฯ สำคัญกว่าสิ่งอื่น

ศ.ดร.กันตธีร์ กล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการยอมรับความพ่ายแพ้ หากไม่มีสิ่งนี้ ความวุ่นวายทางการเมืองก็จะเกิดขึ้น และประชาธิปไตยก็จะไปไม่รอด แต่สำหรับทรัมป์แล้ว เป็นยิ่งกว่านั้น เขาจะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ง่าย ๆ โดยเปิดเผยว่า หากแพ้ครั้งนี้ คือ มีการโกง และจะใช้สถาบันทางการเมืองโจมตีผู้ชนะกลับ หรือการปลุกมวลชนเข้ายึดทำเนียบขาวเมื่อ 4 ปีก่อน แต่หากชนะ จะมีคำถามว่า อาชญากร "ซักฟอก" ตนเองด้วยการเป็นประธานาธิบดีได้

เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นความท้าทายต่อ "คุณค่า" ของสหรัฐฯ ที่สั่งสมและป่าวประกาศต่อบรรดาประเทศอื่น ๆ ให้ปฏิบัติตาม เช่น ประชาธิปไตย หรือเสรีนิยม ทรัมป์ดูจะไม่ใส่ใจส่งเหล่านี้ การเจรจากับทรัมป์เป็นเรื่องที่ต้องสังเกต "นิสัยส่วนบุคคล" ล้วน ๆ ไม่มีคุณค่าใด ๆ เป็นที่ตั้ง

ยกตัวอย่าง ตอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปหารือกับทรัมป์ แต่ทรัมป์ไม่เคยติดตามหรือเร่งรัดว่าไทยจะเลือกตั้งเมื่อใด สนใจเพียงแต่ไทยจะซื้อเครื่องบินโบอิ้งจำนวนเท่าไรจากซีแอตเทิล จนรมต.ต่างประเทศของเราต้องทักท้วง จึงจะถาม

ในฐานะอดีตรมว.ต่างประเทศ มองว่า สิ่งนี้ลุกลามมายังประเด็นด้านเศรษฐกิจการเมือง อย่างที่ทราบกันว่าทรัมป์ปกป้อง "ผลประโยชน์แห่งชาติ" ด้านการสร้างงานสร้างอาชีพให้ประชากรสหรัฐฯ วิพากษ์โลกาภิวัตน์และข้อตกลงการค้าเสรีว่ามาแย่งงานประชากรของเขาไป ต้องกีดกันทางการค้า ตั้งกำแพงภาษี เพิ่มค่าธรรมเนียมธุรกรรม (Transaction Cost) และไม่สนใจกิจการภายนอกประเทศ เช่น ความต้องการถอนตัวออกจากสมาชิก NATO ประเด็นพวกนี้ทำให้การสร้างพันธมิตรของสหรัฐฯ ต่อประเทศอื่น ๆ ย่ำแย่ตามไปด้วย

หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการที่สหรัฐฯ แตกคอกับประเทศอื่น ๆ คือ รัสเซีย หากสหรัฐฯ ขาดพันธมิตรเท่ากับขาดความเป็นอำนาจ รัสเซียจะมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ขยายอำนาจได้ง่ายขึ้น เป็นใหญ่ในยุโรปได้ง่ายขึ้น อีกอย่าง ทรัมป์ ไม่เคยแม้แต่จะหยาบคาย หรือวิพากษ์ วลาดิเมียร์ ปูติน

ส่วน ศ.ดร.ไชยวัฒน์ กล่าวว่า ทั้งสองแคนดิเดตต่างปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติสหรัฐฯ ว่าด้วย "การยกระดับความมั่นคง" ไม่แตกต่างกัน แต่ต่างกันตรงวิธีการ แฮร์ริสยึดมั่นในหลักการและคุณค่าอย่างแน่นเหนียว ส่วนทรัมป์ไม่สนใจอะไรนอกจากเรื่องเศรษฐกิจและผลประโยชน์ทางการคลัง แม้แฮร์ริสอาจจะสืบสานปณิธานของไบเดนในเรื่องของการเปิดตลาดเสรี ลด Transaction Cost และกำแพงภาษี แต่การที่สหรัฐฯ จะได้เปรียบประเทศพันธมิตรคู่ค้าได้ ยังต้องคงอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินดอลาร์สหรัฐฯ ให้แข็งอยู่ดี

ทั้งสองแคนดิเดตปกป้องตลาดไม่แตกต่างกัน ทรัมป์จะเกิดสภาวะเงินเฟ้อมากหน่อยเพราะกีดกันเยอะ ทำให้สินค้าและวัตถุดิบที่นำเข้าจะราคาแพง สินค้า Made in USA ก็จะแพง ขายไม่ได้ตามมาด้วย

แม้ในทางนโยบายจะไม่แตกต่างกัน แต่เวลาหาเสียง ทั้งสองต้องสร้างแนวร่วมและมวลชนของตนเอง ศิลปะในการโน้มน้าวจึงแตกต่างกัน ทรัมป์จะพูดอย่างหยาบคาย ปลุกระดมให้มวลมหาประชาชนฮึกเหิม สร้างศัตรู โดยเฉพาะจีน ทั้งที่จริง ๆ วัตถุดิบนำเข้าจากจีนทั้งนั้น หากไม่ทำเช่นนี้ ประชาชนก็ไม่เลือกเขา เช่นเดียวกับแฮร์ริสที่เน้นหาเสียงโดยอ้างอิงหลักการและคุณค่าต่าง ๆ ที่เคยเป็นมา และโจมตีทรัมป์ว่าทำลายความดีงานนี้ไปสิ้น

อ่านข่าว : ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ชี้บาทผันผวน ตลาดลุ้นผลเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ


ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ชวนคิดว่า การตัดสินผลแพ้ชนะให้พิจารณาที่ "นโยบายต่างประเทศในโลกอาหรับ" เป็นสำคัญ สังเกตจากมลรัฐมิชิแกน ที่มี "ชาวอาหรับอเมริกัน" อาศัยอยู่จำนวนมาก เมื่อครั้งที่ จอร์จ เอช ดับเบิลยุ บุช สามารถนำกำลังทหารถล่มซัดดัม ฮุสเซน ในสงครามอิรัก ซึ่งถือว่าได้ใจอเมริกันชนอย่างมาก แต่กลับแพ้เลือกตั้งให้แก่ บิล คลินตัน เพราะไปกระทบจิตใจของอาหรับอเมริกัน

เลือกตั้งครั้งนี้ อาหรับอเมริกันแอบมีใจให้ทรัมป์ เพราะเขาถือนโยบายไม่เข้าแทรกแซงด้วยกำลังทางทหาร ช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น ความรุนแรงระดับสงครามจึงเกิดขึ้นได้ยาก ไม่เหมือนกับ โจ ไบเดน ที่ส่งกำลังทหารเข้าช่วยเหลืออิสราเอล ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับ เบนจามิน เนทันยาฮู สร้างความาขุ่นเคืองแก่อาหรับอเมริกันไม่มากก็น้อย

ส่วนในเรื่องของการลดอัตราการว่างงาน ส่งผลให้บรรดากลุ่มเผ่าพันธุ์อื่น ๆ ในสหรัฐฯ เช่น ชาวผิวสี หรือชาวละติน ต่างเทใจให้ทรัมป์แทบทั้งนั้น แม้ว่าทรัมป์จะมีพฤติกรรม "ขี้เหยียด (Racism)" ก็ตาม กระนั้น กลุ่มเผ่าพันธุ์ "เอเชีย" กลับเลือกแฮร์ริส ที่สมัยก่อนเทใจให้รีปับลิกัน เพราะเกลียดกลัว "คอมมิวนิสต์" แต่ในตอนนี้ วิธีคิดเปลี่ยนไป หันมาเลือกเดโมแครต ต้องไปศึกษาอีกที

โลกระส่ำ สงครามการค้า-นโยบายต่างประเทศ

สอดคล้องกับ ศ.ดร.กิตติ ที่ชี้ว่า สงครามการค้าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี หากแต่ทรัมป์ขึ้นมาโลกจะระส่ำระสายมากที่สุด เพราะทรัมป์ไม่สนใจสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต หรือไม่ก็เลือกสร้างความสัมพันธ์เฉพาะประเทศและเฉพาะเรื่อง แตกต่างกับแฮร์ริสที่จะสืบสานวิถีของไบเดนในแง่ "ความร่วมมือระดับย่อย ๆ (Minilateralism)" ทำให้เกิดแนวร่วมมหาศาล สร้างความกังวลต่อจีนและรัสเซียในแง่การปิดตลาดทางการค้าและคู่ค้า

มลรัฐมิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน ที่เป็นรัฐคะแนนเสียงไม่แน่นอน (Swing State) ส่วนใหญ่เทใจให้ทรัมป์ เพราะทรัมป์ไม่ไปยุ่งกับกิจการต่างประเทศมากจนเกินไป สนใจกิจการภายในประเทศ โฟกัสที่ปัญหาปากท้องของพวกเขาเป็นสำคัญ

ด้านดร.ปองขวัญ วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy Analysis: FPA) โดยศึกษา "กระบวนการคิดและตัดสินใจ (Decision-making)" ของแคนดิเดตทั้งสองคน ว่า ไม่ควรอ่านพฤติกรรมของแคนดิเดตเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาพฤติกรรม "ทีมงานรอบข้าง" ที่จะเข้ามาเป็นผู้กำหนดนโยบาย (Policymakers) อีกด้วย เพราะทีมงานนั้นมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่แคนดิเดต ทำงานเชิงนโยบายในเชิงลึกกว่าแคนดิเดต

ยกตัวอย่าง ทีมงานของแฮร์ริสที่จะเข้ามาเป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ (National Security Agency: NSA) นามว่า ฟีล กอร์ดอน จะมีความเป็น "สายพิราบ" เน้นกระชับความสัมพันธ์ ไม่เข้าพรวดหรือบุ่มบ่าม เน้นเจรจา ไม่เน้นแทรกแซง ตรงนี้ ทำให้อ่านพฤติกรรมได้ว่า แฮร์ริสจะกำหนดนโยบายทางกลาโหมในเชิงรับเช่นกัน

ส่วนทรัมป์นั้นมีพฤติกรรมที่ออกไปทางลักษณะ "หลงตนเอง (Narcissism)" ดังนั้น เขาจะไม่ค่อยฟังทีมงานมากนัก ไม่มีหลักการ และไม่สามารถคาดการณ์ได้ เราจึงอนุมานการกำหนดนโยบายของทรัมป์จากบุคลิกลักษณะส่วนบุคคล ซึ่งสังเกตได้ว่า เขาชอบให้ผู้คนชมว่าฉลาด ว่าเก่ง ว่ามีความสามารถ หรือเรียกง่าย ๆ "บ้ายอ" เขาจึงไม่ค่อยวิพากษ์ปูติน เพราะต่างฝ่ายต่างยกยอซึ่งกันและกัน

ดร.ปองขวัญ เพิ่มเติมว่า ประชาชนสหรัฐฯ ไม่ได้สนใจกระบวนการกำหนดนโยบายมากเท่าไร สนใจเพียงแต่ว่าใครได้เป็นรัฐบาล เป็นพรรคที่ใช่คนที่ชอบหรือไม่ หากใช่ก็พร้อมจะสนับสนุนอย่างไม่ลืมหูลืมตา ดังนั้น แคนดิเดตสามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด จะฟังหรือไม่ฟังทีมงานย่อมได้ ไม่มี สส. หรือ สว. ที่มาจากการเลือกตั้งทัดทาน

นอกจากนี้ ดร.ปองขวัญ กล่าวอีกว่า ต้องไม่ลืมประเด็นเรื่อง "เจเนอเรชั่น" เพราะมุมมองของแต่ละช่วงวัยนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ "ประสบการณ์" ที่พบเจอ สาเหตุที่ทรัมป์ได้ใจ เจน Y และเจน Z บางส่วนนั้น มาจากประสบการณ์ที่สหรัฐฯ เข้าแทรกแซงและใช้กำลังทางทหารต่อบรรดาโลกอาหรับอย่างทารุณ หรือประสบการณ์ด้านบริหารจัดการโควิดที่รัฐชาติมีบทบาทมากกว่าความร่วมมือ

ประเด็นด้านเจเนอเรชั่นนั้นฟังขึ้น มีงานศึกษาออกมามากมายว่าประสบการณ์ต่างกัน ส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งและข้อเรียกร้องที่ต่างกัน แต่ในเรื่องของ เจน Z นี่ข้อมูลยังไม่มากพอ แต่เจน อื่น ๆ ประสบการณ์มีผลแน่นอน

ผลกระทบน้อย "อาเซียน-ไทย" แต่ต้องปรับตัว

เมื่อกลับมาพิจารณาภาคส่วนใกล้ตัวอย่างอาเซียนและประเทศไทย วิทยากรต่างเห็นพ้องกันว่า "ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นน้อยหรือแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย" ส่วนหนึ่งเพราะภูมิภาคและประเทศของเราส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ ไม่มากนัก ไม่เหมือนยุโรป อาหรับ และจีน ที่เป็นจุดโฟกัสของสหรัฐฯ มากกว่าเรา

ศ.ดร.กันตธีร์ ชี้ว่า เรื่องภาษี และ Transaction Cost คือสิ่งที่จะมีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด หากได้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เราจะส่งออกได้ยากขึ้น ขายของได้ยากขึ้น หากได้แฮร์ริส ก็จะยังมีกำแพงตรงนี้ แต่ไม่ได้เข้มข้นเท่ากับทรัมป์ สอดคล้องกับ ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ที่ชี้ว่า ในฐานะที่ไทยมีการส่งออกสู่สหรัฐฯ เป็นตลาดลำดับที่ 2 ของประเทศ อย่างไรก็ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ดังนั้น จึงต้องหันกลับมาสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อประเทศในภูมิภาคกันเอง เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้า เช่น การเกิดขึ้นของ Free and Open Indo-Pacific หรือ FOIP

"ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เราต้องปรับตัวทั้งนั้น ที่ทรัมป์เสนอว่า America First อาจหมายถึง America Alone หรือไม่?" ศ.ดร.ไชยวัฒน์ กล่าว


ส่วน ศ.ดร.กิตติ เสนอว่า ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีข้อเรียกร้องให้ก่อตั้ง Asia NATO ขึ้นมาเพื่อดูแลความมั่นคงในภูมิภาคกันเอง ผลมาจากการที่ทรัมป์ต้องการถอนตัวจากสมาชิกภาพ NATO ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่า ภูมิภาคนี้ต้องการแฮร์ริส เพราะจะทำให้เกิดความมั่นคงทางการทหารเพิ่มมากขึ้น ความร่วมมือในระดับย่อย ๆ จะเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้ อาจจะเป็นโอกาสของไทยในอนาคตอันใกล้

ท้ายสุด ศ.ดร.ไชยวัฒน์ แนะนำ "อัลลัน ลิชท์แมน (Allan Lichtman)" นักประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ ที่สร้างโมเดลทางประวัติศาสตร์ "13 เงื่อนไข สู่การเป็นประธานาธิบดี (The Keys to the White House) " โดยทำนายผลการเลือกตั้งถูกแทบจะทั้งหมด 10 ครั้งจาก 11 ครั้ง คิดเป็นอัตราร้อยละ 90.90 โดยครั้งนี้ทายว่าแฮร์ริสจะชนะ

แต่อย่าฟันธงอะไรง่าย ๆ ต้องดูองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง ไม่มีใครทราบว่า อนาคตจะเกิดอะไรขึ้น …โมเดลทางประวัติศาสตร์ของลิชท์แมนนั้นมีลักษณะเป็น Determinism หมายถึง เขาคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง เป็นอย่างไรก็อย่างนั้น ทั้งที่จริง ๆ อาจจะมีมาก กว่า 13 เงื่อนไขที่เสนอมา หากกระนั้น ผู้คนก็เชื่อเขา ในเมื่อเขาทายถูกทั้งหมด ผู้คนจะจดจำแต่สิ่งที่ดี เว้นเสียแต่ เกิดความผิดพลาดขึ้นมาในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

อ่านข่าว

นักวิเคราะห์ชี้หาก "ทรัมป์" ชนะ ชาวอเมริกันเผชิญการเปลี่ยนแปลง

ทุกเสียงมีค่า! NASA พาคะแนนโหวตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลับมาได้

สหรัฐฯ-จีน โจทย์ท้าทายประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47

ข่าวที่เกี่ยวข้อง