ประเสริฐศักดิ์เริ่มงานเขียน ในช่วงโควิดระบาด ปี 2563 เมื่องานประจำถูกบังคับไม่ให้ทำงาน เป็นช่วงล็อกดาวน์ที่กระทบการใช้ชีวิตของทุกคน รวมทั้งประเสริฐศักดิ์ที่ต้องใช้ชีวิตในห้องเพียงลำพัง 1-2 เดือน รู้สึกถึงความถาโถมของความเครียด และข่าวสาร จำนวนผู้เจ็บป่วย จำนวนผู้จากไป ในทุกวันๆ
ความตายจะมาเคาะประตูห้องเราหรือเปล่า?
การระบายความเครียดด้วยการพิมพ์ในโน๊ตบุ๊ก บอกเล่าความรู้สึก ความอึดอัด ในแต่ละวัน เลยถือเป็นจุดเริ่มต้นของงานเขียน
หนังสือวรรณกรรมที่เคยซื้อมาดองเก็บก็ถึงเวลาที่นำออกมาเปิดอ่าน เล่มหนึ่งที่ประทับใจ “สิงโตนอกคอก” รู้สึกถึงความมหัศจรรย์ของวรรณกรรมไทย ได้เข้าใจเรื่องสั้น เลยได้ลองอยากเขียนดูบ้าง
ได้อ่านวรรณกรรมบ้าง แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นนักอ่านตัวยง ส่วนใหญ่จะอ่านสารคดี และ Non-Fiction ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยสนใจเรื่องงานเขียนมาก่อน
ย้อนกลับไปในวันเด็กประเสริฐศักดิ์ เป็นคน จ.จันทบุรี เมื่อจบมัธยมศึกษาตอนปลายก็เข้ามาศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในเมืองกรุง จนเป็นทันตแพทย์หนุ่ม ทำงานในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.เลย ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ประเสริฐศักดิ์ยังเป็นทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับทัณตกรรมเด็กด้วย
อ่านข่าว : นวนิยาย "กี่บาด" ของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด คว้ารางวัลซีไรต์ 2567
ก้าวแรกวงการวรรณกรรม
งานเขียนชิ้นแรกออกมาเมื่อ ปี2564 “รุกขฆาตกร” ที่ส่งประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์สำหรับเด็กวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี เรื่องสั้นแนวไซ-ไฟเรื่องราวเกี่ยวกับต้นไม้ต้นหนึ่งที่ทุกคนทั่วโลกช่วยกันปลูกเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อต้นไม้ต้นนั้นโตไม่หยุด สูงจนถึงอวกาศจึงก่อปัญหาให้กับคนอื่นๆ ที่ตัวเล็กกว่า จนทำให้คนทั่วโลกพยายามที่จะล้มมันลงมา ซึ่งเรื่องนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ
“รู้สึกตกในกับงานชิ้นแรกที่ได้รางวัล เป็นก้าวแรกที่เข้าสู่วงการวรรณกรรม รู้สึกว่า เราก็ทำได้ และเป็นความรู้สึกที่สำคัญ เป็นแรงบันดาลใจให้เขียนชิ้นต่อไปได้อย่างมั่นใจ”
4 ปีของ “ประเสริฐศักดิ์”
นับตั้งแต่เริ่มต้นสนใจงานเขียนจนถึงปัจจุบันใช้เวลา 4 ปี พบชื่อประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด ในเวทีต่าง ๆ และมีผลงานมากมายที่ออกสู่สายตาคนอ่าน “รุกขฆาตกร” ชนะเลิศรางวัลเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์สำหรับเด็กวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ในปี2564
ปีต่อมากับเรื่องสั้น “ข่วงผีฟ้า” รางวัลชนะเลิศในโครงการ ลาว คำหอม MasterClass
เรื่อง “ศุภลักษณ์” ชนะเลิศรางวัลเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ รุ่นประชาชนทั่วไป ในปี 2566
“สักสี” เรื่องสั้นรางวัลชมเชยรางวัลวรรณกรรมพานแว่นฟ้า ปี 2566 และในปีเดียวกันกับ “กี่บาด” รางวัลรองชนะเลิศในโครงการ Writer Zeed ครั้งที่ 4 ปี 2566
และในปี 2567 ประเสริฐศักดิ์ คว้ารางวัลไปถึง 3 รางวัล เริ่มต้นเรื่อง “เมื่อไหร่โซฟาจะหายเหม็น” รางวัล กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ครั้งที่ 8 ต่อด้วย ผลงานเรื่อง “พระธาตุล้ม” รางวัลรองชนะเลิศวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า และกับผลงานล่าสุด “กี่บาด” รางวัลซีไซต์
ประเสริฐศักดิ์ บอกว่า มาถึงจุดนี้ รู้สึกมหัศจรรย์ใจ เหนือความคาดหวัง สำหรับการสะสมประสบการณ์ชีวิตมาระยะหนึ่ง การสะสมทักษะต่างๆ เริ่มออกดอกออกผลแล้ว
facebook : ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด
หลงใหลวัฒนธรรมล้านนา
ชีวิตในมหาวิทยาลัยกับการเรียนทันตแพทย์ปีสุดท้าย ถูกสั่งให้หยุดกะทันหัน เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 การใช้ชีวิตค่อนข้างยากลำบาก ต้องไปต่อคิวซื้อน้ำซึ่งซื้อได้ทีละขวด เพื่อนได้ชวนไปอยู่เชียงใหม่แบบไม่มีแผน ไปเช่าห้องพักราคาถูกอยู่แบบประหยัด เวลา 1 เดือน ได้มีโอกาสสัมผัสกับเชียงใหม่ ได้เดินทางไปหลายๆ สถานที่
ด้วยความสนใจในวัฒนธรรมเป็นทุนเดิม ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ชอบฟังเพลงลูกทุ่ง เพลงพื้นถิ่น ชอบอ่านเกี่ยวกับเรื่องราววัฒนธรรมของภูมิภาคต่างๆ จึงหลงไหลกับวัฒนธรรมล้านนา รวมถึงกับภาษาท้องถิ่น
facebook : ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด
กว่าจะเป็น “กี่บาด”
ประเสริฐศักดิ์ เล่าว่า “กี่บาด” ถือกำเนิดขึ้นระหว่างมื้อกลางวันของวันหนึ่ง ขณะชมสารคดีวิถีชีวิตคนแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เนื้อหาสารคดีได้สัมภาษณ์แม่อุ้ยท่านหนึ่งขณะนั่งกี่ทอผ้า ว่าผ้าที่กำลังทอนั้นขายได้ราคา “กี่บาด” ทำให้ตอนนั้นแนวคิดในคำพ้องเสียงที่สื่อความหมายไปคนละทิศละทาง ระหว่างจำนวนครั้งของความเจ็บปวด กับมูลค่าที่ถูกเปรียบเทียบประเมิน
คำว่า “กี่บาด” คือความทุกข์ตรมของผู้หญิงทอผ้า ซึ่งต้องใช้กี่เป็นอุปกรณ์ในการทอผ้า ซึ่งกี่ทอผ้าจะทำให้ผู้ทอเจ็บปวดได้มากน้อยแค่ไหน
อีกความหมาย ผู้หญิงกว่าจะทอผ้าได้แต่ละผืน ต้องผ่านอะไรมาบ้าง มีบาดแผลกี่บาดแผลแล้ว ที่ทำให้การทอผ้ามีความงดงาม ชีวิตต้องผ่านอะไรมากี่บาดแผล และผ้าซิ่นตีนจก เมื่อทอออกมาแล้ว มีมูลค่าเท่าไหร่ ขายได้กี่บาท กับความพยายามหลายๆเดือนในการทอผ้า ถูกเปรียบเทียบกับคุณค่า และมูลค่าที่สังคมประเมินผู้หญิง
กับงานเขียน “กี่บาด” เริ่มต้นเมื่อราวเดือนกันยายนของปีที่แล้ว ใช้เวลาในการค้นคว้า 1 เดือน และเขียนอีก 1 เดือน แต่เป็นหนึ่งเดือนที่เต็มที่ เขียนจนลืมนอน เขียนจนลืมกินข้าว ค่อนข้างยาก ใช้ความอดทนอดกลั้น ใช้แรงใจอย่างยิ่งในการค้นหาข้อมูลและเขียน
ความตั้งใจแรกจะนำเอาแนวความคิดนี้ไปพัฒนาเป็นเรื่องนั้นแต่เมื่อคันหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ภาพชีวิตของช่างทอก็ค่อยๆ ผุดขึ้นมาทีละคน แต่ละคนมีเรื่องราวมากมายที่อยากบอกเล่า ผ่านเส้นฝ้ายที่ทอขึ้นมาเป็นผ้าซิ่นตีนจกแต่ละผืน ผ่านบาดแผลต่างๆ ทั้งกลั้นใจทนได้และสาหัสสากรรจ์ และผ่านความรักทั้งหลายที่เก็บซ่อนและเปิดเผย
และบทบาทของผู้หญิงในสมัยก่อน ที่ผูกพันและผูกติดกับการทอผ้าจนยากจะแยกออก
คุณค่าของผู้หญิงสมัยนั้นอาจถูกประเมินตั้งแต่รู้ว่าทอผ้าเป็นหรือไม่ ประเภทซิ่นที่นุ่งแต่ถูกเปรียบเทียบและแบ่งแยกโดยที่ไม่พิจารณาคุณค่าอื่นตัวละครในนวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นการพยายามแสดงให้เห็นชีวิตผู้หญิงในบริบทต่างๆ ที่กำลังถูกกดทับจากค่านิยม วัฒนธรรม สงคราม ศาสนา ผู้ชาย หรือแม้แต่ผู้หญิงด้วยกันเอง
วัฒนธรรมล้านนาเป็นวัฒนธรรมที่สวยงาม มีมุมอะไรบางอย่าง ที่มีความเป็นขนบสูง มีระเบียบ มีกรอบค่อนข้างเยอะ ซึ่งกรอบนั้นเป็นกรอบที่สวยงาม สง่า เลยตั้งคำถามว่าถ้ามีชีวิต ของผู้หญิงที่อยู่ในกรอบเหล่านั้น รวมถึง กรอบที่สังคมภายนอกมองเข้าไป
“อยากเขียนเรื่องของชีวิตแม่ญิงที่ถูกสังคมกำหนดกรอบ ขึ้นมา และพยายามหาตัวตนในกรอบนั้น หรือเด่นสง่าออกมาจากกรอบนั้นด้วยวิธีของเขาเอง ด้วยวิธีการทอผ้า”
สีสันของผ้าซิ่นตีนจก 16 ลาย ภาษาถิ่น พยายามเล่าความเป็นแม่แจ่มให้มากที่สุด ใช้วิธีการเล่าแบบเรียบง่ายในมุมมองของชาวบ้าน ภาษาที่ใช้ตั้งใจที่จะนำภาษามาใช้เพื่อสื่อถึงสำเนียงของชาวแม่แจ่ม
“ลายผ้าทั้ง 16 ลาย มาตั้งชื่อบท แต่ละลายมีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่น ซึ่งแต่ละบทลวดลายผ้าที่เกี่ยวข้องกับตัวละคร ปฏิสัมพันธ์กับตัวละคร อย่างไรบ้าง”
อีกทั้งเรื่องนี้ ยังสะท้อนเรื่องราวของเพศวิถีความเป็นชายกับการก้าวผ่านข้อห้ามทางประเพณี
“ทุกอย่างเป็นทามมิ่งที่ถูกจัดสรร ปีที่แล้วที่เริ่มเขียนกี่บาด ประจวบเหมาะกับการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ได้เขียนเพราะมีกระแส แต่ดูตามเรื่องราว และตัวละครที่ดำเนินเรื่อง”
“กี่บาด” กับความคาดหวัง
หวังให้เกิดความสนใจในวัฒนธรรมผ้าซิ่นตีนจก ให้คนรุ่นใหม่รู้ถึงและรับรู้ ถึงคุณค่าผ้าซิ่นตีนจกและมีการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำผ้าซิ่นตีนจกมา เป็นผลิตภัณฑ์หรือ มาเป็นสินค้าอื่นๆ ที่ร่วมสมัยมากขึ้น
ประเสริฐศักดิ์ บอกว่า อยากเห็นเมืองแม่แจ่มที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว เป็นหมุดหมายในการรับรู้ของผู้คนว่าแม่แจ่ม มีสิ่งที่ดี น่าค้นหา มีชีวิตที่งดงาม และมีวัฒนธรรมที่ดี เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้คนในพื้นที่ และอยากให้แม่แจ่มเป็นเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่รู้จักของทั่วโลก ที่เป็นจุดมุ่งหมายที่มากกว่านิยาย
ฝากถึงคนที่อยากเข้าสู้เส้นทางนักเขียน
ประเสริฐศักดิ์ มองว่า ตนเองเป็นนักหัดเขียนคนหนึ่ง ที่เริ่มต้นจากการเข้าเรียนตามคอร์สที่จัดขึ้นตามวาระโอกาสต่างๆ ในหลายแนวๆ การเขียน พบว่าคนในทุกวัยไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ หรือ คนอายุเท่าไหร่ก็ตาม เข้าคอร์สเรียนการเขียนกันเยอะมาก
ทุกคนมีเรื่องที่อยากจะเล่า เป็นของตัวเอง อยากจะถ่ายทอดออกมา จากมุมมอง จากสำเนียงภาษา จากวิสัยทัศน์การมองเห็นโลกของตัวเอง และเป็นพลังในตัวเองที่จะสามารถพัฒนาได้ในอนาคต
อยากให้ทุกคนได้เขียนออกมา ถ้าไม่เริ่มต้นเขียนในวันนี้ก็จะหาจุดเริ่มต้นนั้นไม่เจอ และงานเขียนไม่สามารถที่จะออกไปสู่คนอ่านได้ ถ้าได้เริ่มเขียนแล้ว ตัวชิ้นงาน ตัวเรื่องราวเหล่านั้นจะหาทางไปสู่คนอ่านเอง
เช่นเดียวกับกี่บาดที่ถูกเขียนถ่ายทอดด้วยความตั้งใจ และหาวิธีทางออกมาจนมาถึงรางวัลซีไรต์ปีล่าสุดนี้
อ่านข่าว :
เปิดรายชื่อนวนิยาย 8 เล่ม ชิงรางวัลซีไรต์ 2567
"คืนสุดท้ายของนักสร้างสารคดี" เรื่องสั้นชนะเลิศ รางวัลพานแว่นฟ้า 2567
ฝังไมโครชิป! กทม. จ่อจัดระเบียบใหม่หมา-แมว คุมปัญหาสัตว์จรจัด