ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

145 กม.ปั่นจากตากใบสู่หนองจิกตามหาออกซิเจน ก่อนคดีหมดอายุความ 25 ต.ค.

ภูมิภาค
23 ต.ค. 67
11:12
422
Logo Thai PBS
145 กม.ปั่นจากตากใบสู่หนองจิกตามหาออกซิเจน ก่อนคดีหมดอายุความ 25 ต.ค.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กลุ่มเยาวชน นักกิจกรรม ร่วมละหมาดบริเวณสนามเด็กเล่น หน้า สภ.ตากใบ ก่อนเริ่มกิจกรรม 145 กิโลเมตร ปั่นจากตากใบสู่หนองจิกตามหาออกซิเจน เส้นทางกลุ่มผู้ชุมนุมเสียชีวิตระหว่างขนย้าย 85 คน ขณะ กสม.ออกแถลงการณ์ 3 ข้อ ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (23 ต.ค.2567) กลุ่มเยาวชน กลุ่มนักปั่น และกลุ่มนักกิจกรรม ร่วมละหมาดบริเวณสนามเด็กเล่น หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส สถานที่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมนับ 100 คนถูกสลายการชุมนุม เมื่อปี 2547 และถูกขนย้ายจากบริเวณนี้ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ระยะทางประมาณ 145 กิโลเมตร ทำให้เยาวชนและนักกิจกรรมร่วมทำกิจกรรมปั่นจักรยานในเส้นทางนี้เพื่อตามหาออกซิเจน ก่อนคดีหมดอายุในวันที่ 25 ต.ค.นี้

โดยในกิจกรรมนี้มีนักปั่นชาวมาเลเซียมาร่วมด้วย และในระหว่างเส้นทางปั่น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หนองจิกคอยอำนวยความสะดวก

นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ นักกิจกรรม บอกว่า สาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตระหว่างการขนย้าย ถูกระบุในผลการไต่สวนการเสียชีวิตว่า เกิดจากการขาดอากาศหายใจ จึงจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อตามหาออกซิเจนต่อลมหายใจ ในช่วงเวลาที่เหลือ แม้จะไม่คาดหวังว่าผู้ต้องหาตามหมายจับทั้ง 14 คนจะมามอบตัว หรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า การไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการของศาลของผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจทำให้เหตุการณ์ตากใบสร้างความคับแค้น อัดอั้น และไม่สบายใจให้คนในพื้นที่ต่อไป และอาจกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ของความขัดแย้งก็เป็นได้

กสม.แถลงขอรัฐเยียวยากรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบ

ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547 จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.2567 นี้ โดยระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุมในครั้งนั้นถูกดำเนินคดีจากการกระทำความผิดที่เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตรวม 85 คน แต่อย่างใด

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า การดำเนินคดีที่ล่าช้าและปล่อยปละละเลยจนระยะเวลาล่วงผ่านมาเกือบ 20 ปี เป็นการซ้ำเติมความสูญเสียของครอบครัวและญาติผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย ผู้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบอย่างไม่อาจยอมรับได้ การที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษ และไม่สามารถทำความจริงให้กระจ่างได้ ถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหาย และเป็นการละเมิดต่อ “สิทธิในการรู้ความจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของเหยื่อ” ตามกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ให้การรับรอง

กสม. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่ออำนวยความยุติธรรมกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบ ดังต่อไปนี้

1. เร่งนำตัวผู้ต้องหาในคดีนี้ทุกรายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อมิให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดโดยอาศัยช่องว่างจากการดำเนินคดีล่าช้าและการขาดอายุความของคดี

2. ให้มีการเยียวยาความเสียหายที่มิใช่เฉพาะตัวเงิน การเยียวยานี้หมายรวมถึงการทำความจริงให้ประจักษ์ โดยญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายต้องได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างสมบูรณ์และครบถ้วนอันเป็นการให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของเหยื่อและผู้สูญเสีย

3. ผลักดันแก้ไขกฎหมายให้คดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากเสียชีวิต เช่นคดีตากใบ เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ

กสม. หวังว่าในโอกาสที่รัฐบาลไทยได้รับเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญ คือ การเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council – HRC) วาระปี 2568 – 2570 รัฐบาลจะได้ให้ความสำคัญกับการอำนวยความยุติธรรมและการเยียวยาความเสียหายกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบในทุกรูปแบบอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยไม่ปล่อยให้ประชาชนผู้เสียหายได้รับความไม่เป็นธรรมและหมดความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

อ่านข่าว : 

อังคณาชี้รัฐรับผิดชอบ "ตากใบ" อาจเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

แม่ทัพภาค 4 ย้ำอย่าเชื่อผู้ไม่หวังดีปั่นกระแสปม "ตากใบ"

20 ปี "คดีตากใบ" เงื่อนไขไฟใต้ครั้งใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง