หากนับถอยหลัง "คดีตากใบ" เหลือเวลาอีกเพียง 5 วัน ก็จะหมดอายุความ แต่หากผู้ซึ่งรับผิดชอบ-บัญชาการ-สั่งการ โดยเฉพาะ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ยังคงหายตัวอย่างปริศนา เรื่องนี้อาจเป็นเงื่อนไขที่อาจทำให้สถานการณ์ไฟใต้รุนแรง
เหตุการณ์ "ไฟใต้" เปรียบเสมือนฝันร้าย ที่สะสมรื้อรังมานานกว่า 2 ทศวรรษ หรือกว่า 20 ปีเต็ม แม้ว่ารัฐบาลหลายยุค-หลายสมัย ต่างปรับเปลี่ยนนโยบาย - ยุทธศาสตร์ ชนิดที่เรียกได้ว่า "ลองผิด-ลองถูก" หรือสลับกันไปมาระหว่างนโยบายการเมือง-นำการทหาร หรือการทหาร-นำการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์
แต่มีข้อสังเกตถึงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แม้จะเป็นโจทย์ใหญ่ของ "รัฐบาล-แพทองธาร" แต่กลับไม่ถูกบรรจุไว้เป็น "วาระแห่งชาติ" แต่เขียนกรอบนโยบายกว้าง ๆ ตามที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถ้อยแถลงต่อรัฐสภา คือการส่งเสริมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม สนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพและสันติสุข
อ่านข่าว แสงสุดท้าย "ตากใบ" โศกนาฏกรรม ในวันคดีใกล้หมดอายุความ

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สะท้อนภาพความจริงใจของ 2 นายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ตลอด1 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนกับนโยบายจนออกดอก-ออกผล รวมถึงมิติความยุติธรรม ในคดีการสลายการชุมนุมในพื้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่กำลังจะหมดอายุความ 25 ต.ค.นี้
ส่วนผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ชี้ว่า หากรัฐบาลไม่สามารถนำคนผิดจาก "คดีตากใบ" มาลงโทษทางกระบวนการยุติธรรมได้ จะส่งผลให้สถานการณ์ภาคใต้กลับมาเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่อาจไม่พอใจ และไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาล ในการบริหารจัดการความยุติธรรม และอาจเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดความรุนแรงได้
การเรียกร้องความยุติธรรม และยังไม่ได้รับการปฏิบัติจะมีผลอย่างมากต่อการยอมรับต่อรัฐบาล และกังวลว่าจะเป็นเงื่อนไขของการทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นหลัง 25 ต.ค.นี้
ถ้ายังไม่จัดการปัญหา ยังไม่คาดว่าจะเป็นเชิงสัญลักษณ์อย่างเดียวหรือจะลุกลามบานปลาย แต่จะเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความไม่พอใจอะไรต่างๆ

สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อ.ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มองว่า ตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลบอกจะพัฒนาในพื้นที่ และจะมีคณะพูดคุยแล้วแต่ความคืบหน้าที่ทำให้สังคมไทย ได้เห็นในการบริหารราชการแผ่นดิอยู่ในภาวะวิกฤต
อีก 3-4 วันจะครบรอบ 20 ปีคดีตากใบ ถ้ารัฐบาลไม่แสดงให้เห็นถึงความจริงจังและจริงใจในการแก้ปัญหา เชื่อว่ารัฐบาลต้องเผชิญกับศึกหนักในภาคใต้
อ่านข่าว ศาลนราธิวาส รับฟ้องคดีตากใบ นัดสอบคำให้การ 12 ก.ย.นี้
ไม่สายแก้คดีตากใบ
รศ.เอกรินทร์ ใช้คำว่า "ไม่สายเกินไป" หากรัฐบาลใช้อำนาจพิเศษแก้ปัญหา "คดีตากใบ" ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ก่อนคดีนี้จะหมดอายุความ ด้วยอ้างอิงกระบวนการยุติธรรมต้องเท่าเทียม
ขณะที่ผศ.ศรีสมภพ ไม่ชี้ชัดถึงบทสรุป "คดีตากใบ" จะกระทบกับการพูดคุยสันติภาพ-สันติสุข กับกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่
แต่การเปิดโต๊ะพูดคุยกับ "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ครั้งล่าสุด มีลงนามข้อตกลงร่วมกันในการ "ร่างแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม" หรือเจซีพีพี เพื่อกำหนดขั้นตอนในการขับเคลื่อน ทั้งเรื่องการยุติความรุนแรง การมีส่วนร่วมทางการเมือง กระบวนการพูดคุยสาธารณะ และการแสวงหาทางออกในทางการเมือง ซึ่งขณะนี้เดินหน้าไปกว่าร้อยละ 70 แล้ว
และจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่เดือนม.ค.2547 ถึง ส.ค.2567 มีข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภายใต้ โดยพบเหตุการณ์ความรุนแรงรวม 22,737 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,632 คน บาดเจ็บอีก 14,274 คน ทั้งนี้แนวโน้มความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้มีทิศทางที่ลดลง

เสนอแก้ "คดีอาญา-คอร์รัปชัน" ไม่มีอายุความ
เวทีเสวนา "คดีอาญาตากใบขาดอายุความ-ความรับผิดชอบใคร จะดำเนินคดีต่อได้หรือไม่” มีนักวิชาการ นักกฎหมาย และทนายความในคดีเข้าร่วมเสวนา โดยมีญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ และ สส.เข้าร่วมรับฟังด้วย
รศ.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้รัฐบาลแก้กฎหมายเรื่องอายุความในคดีอาญา เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดี ใช้ช่องว่างหลบหนีไปต่างประเทศ แล้วกลับไทยเมื่อหมดอายุความ

รวมถึงการแก้กฎหมาย มาตรา 95 ไม่ให้มีอายุความ กรณีความผิดที่เจ้าหน้าที่รัฐ ทำประชาชนจนถึงแก่ความตาย เช่นเดียวกับคดีทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งก่อนหน้านี้กฎหมาย ป.ป.ช. เกี่ยวกับคดีทุจริตมีการแก้ไขว่าหากมีการหลบหนีจะไม่นับระยะเวลาเป็นอายุความ จึงชี้ว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายอาญา
คดีตากใบหากมองในทางเทคนิคกฎหมายอาญา และสิทธิมนุษยชน มีความเป็นไปได้แต่น่าจะยาก ยังกล่าวว่าการออกกฏหมายเพื่อเอาผิดภายหลังได้หรือไม่ ไม่สามารถทำได้
อ่านข่าว เครือข่ายทนายความ ยื่นฟ้อง 9 จนท.รัฐ "คดีตากใบ" 25 เม.ย.นี้

เวทีเสวนาคดีตากใบ
เวทีเสวนาคดีตากใบ
รศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า คดีตากใบศาลจังหวัดนราธิวาส ประทับรับฟ้องในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ในข้อหารวมกันฆ่า ร่วมกันพยายามฆ่า และหน่วงเหนี่ยวกังขังจนเป็นเหตุถึงแก่ความตาย หากยังไม่สามารถนำผู้ต้องหาและจำเลยในคดีเข้าสู่กระบวนการได้
คาดว่าศาลจะสั่งให้คดีหมดอายุความ ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ แต่ยกมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ วางหลักไว้ ซึ่งหากคดีหมดอายุความแล้ว ไม่ได้ความความว่าจะพ้นผิด แต่ว่าลงโทษไม่ได้ เพราะหมดอายุความ และคาดหวังจากรัฐบาลเรื่องเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก แนะควรแก้กฎหมาย ม.95 เรื่องอายุความ “ไม่มีอายุความ“ กรณีความผิดที่เจ้าหน้าที่รัฐทำแก่ประชาชน

ความเจ็บปวดของญาติ “ไม่มีหมดอายุความ”
ส่วนญาติผู้เสียชีวิตจากคดีตากใบ เปิดเผยถึงความรู้สึกด้วยน้ำตา ถามหาความยุติธรรม 20 ปี ที่แม้คดีจะหมดอายุความ แต่ความเจ็บปวดของญาติ “ไม่มีหมดอายุความ”
โดยเฉพาะกรณีที่สำนวนคดีหายไป ย้ำถาม “หายไปได้ยังไง” หน่วยงานรัฐโยนไปมาปัดความรับผิดชอบ พอญาติฟ้องเอง แต่กลับมีสำนวนคดีใหม่จากรัฐ
เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาขอโทษอย่างใจจริงในฐานะรัฐบาลกำกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหากยังขาดความยุติธรรมก็อย่าหวังว่าจะเกิดความสงบสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้

ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุตากใบ ความเจ็บปวดของญาติไม่มีวันหมดอายุความ
ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุตากใบ ความเจ็บปวดของญาติไม่มีวันหมดอายุความ
ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร แสดงความกังวล และเป็นห่วงต่อสถานการณ์ความไม่สงบ เพราะอาจเกิดความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ พร้อมเรียกร้องให้ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลาที่เหลืออยู่อีก 5 วัน ก่อนคดีตากใบจะหมดอายุความ ติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหา และจำเลย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล
อ่านข่าว
เครือข่ายทนายความ ยื่นฟ้อง 9 จนท.รัฐ "คดีตากใบ" 25 เม.ย.นี้