วันนี้ (19 ต.ค.2567) เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ให้คำแนะนำว่าสังคมที่มีความตื่นตัวเรื่องเด็กหายเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่เพื่อให้การแชร์ข้อมูลมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การช่วยเหลือเด็กหายได้จริง ควรพิจารณาว่า
ต้นฉบับของข้อมูลมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นญาติหรือไม่
หากเป็นการคัดลอกข้อมูลมาโพสต์จากคนไม่ใช่ญาติ
จะไม่มีความน่าเชื่อถือ
จึงแนะนำให้แชร์ประกาศจากต้นฉบับหรือเพจองค์กรที่น่าเชื่อถือ ที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว หรือส่งข้อมูลมาศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เพื่อเป็นตัวกลางตรวจสอบ และทำกระบวนการตามหาเด็ก และป้องกันปัญหาเรื่องดิจิทัลฟุตพริ้นท์ หรือ ร่องรอยในโลกออนไลน์ กรณีพบตัวเด็ก และเวลาผ่านไปนานแล้ว
สำหรับองค์กรที่ทำงานเรื่องคนหาย จะมีวิธีการวิเคราะห์สาเหตุการหายตัวไป ซึ่งหากคนหายเป็นเด็ก และระบุว่า มีการลักพาตัวไป ต้องดูเรื่องอายุด้วย เพราะการลักพาตัวในประเทศไทย ไม่ใช่รูปแบบขบวนการ หากอายุต่ำกว่า 12 ปี ต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม
เช่น มีการแจ้งความของคนในบ้านหรือไม่ ใครเป็นผู้ดูแลเด็ก มีฝ่ายที่ต้องการนำเด็กไปเลี้ยงหรือไม่ ซึ่งหากวินิจฉัยได้ว่า มีพ่อแม่อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า ก็ต้องวิเคราะห์ว่า เด็กพลัดหลงได้ด้วยตัวเองหรือไม่ เพราะบางราย อาจมีพัฒนาการทางสมองช้า หรือมีอาการออทิสติก มีโอกาสพลัดหลงเข้าไปในที่รกร้าง ถึงแก่ชีวิตได้ด้วยตนเอง รวมถึงสภาพพื้นที่ และพฤติกรรมของเด็ก แต่ต้องดูข้อบ่งชี้เพิ่มเติม เช่น ปากคำของพ่อแม่ และความกระตือรือร้นในการแจ้งความ
สำหรับผู้ปกครองที่บุตหลานหายตัวไป ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำว่า นอกจากต้องเร่งไปแจ้งความ ให้ส่งข้อมูลมาที่ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา จะตรวจสอบความน่าเชื่อถือ และทำการประกาศ ซึ่งเมื่อทำกระบวนการตามหาเด็กหายจนพบ จะมีการลบข้อมูลประกาศทั้งหมดออกจากระบบทันที
อ่านข่าวอื่น :
กลุ่มเปราะบางด้านจิตใจ-การเงิน เป้าหมายหลักชักจูง "หลอกลงทุน"