กรณีพบชาวโรฮิงญา ถูกทิ้งไว้ในพื้นที่ จ.ชุมพร เนื่องจากเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจในระหว่างการลักลอบขนย้าย พบเสียชีวิตแล้ว 3 คน ยังคงรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 7 คน ในจำนวนนี้อาการโคมา 1 คน อีก 6 คน อาการดีขึ้น และพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่ยังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์
มีการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้ ขบวนการลักลอบนำชาวโรฮิงญา และชาวเมียนมา ผ่านเข้าไทยไปยังประเทศที่สาม หันมาใช้เส้นทางบก แทนการเดินทางด้วยทางเรือมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่ปราบปรามในพื้นที่ระบุว่า สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้แทบทุกเดือน
ภาพชาวโรฮิงญากลุ่มหนึ่ง บริเวณหน้าที่พักลักษณะคล้ายแคมป์ เป็นหลักฐานที่เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามการค้ามนุษย์จังหวัดสงขลา พบในโทรศัพท์มือถือของชาวโรฮิงญาที่ถูกจับกุมได้ เมื่อเดือน ก.ย.2566
โดยสถานที่ที่ในภาพถ่ายดังกล่าว ถูกระบุว่า เป็นแคมป์แห่งหนึ่งบริเวณชายแดนฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อนที่ชาวโรฮิงญา จะข้ามฝั่งเข้ามาในประเทศไทย เพื่อจะเดินทางไปยังประเทศที่สาม
อ่านข่าว จับได้แล้ว ตร.คุมตัว 2 ผู้นำพาชาวโรฮิงญาทิ้งป่าช้าชุมพร
นอกจากนี้ยังพบภาพถ่ายอีกหลายภาพ ซึ่งถูกอ้างว่า เป็นการถ่ายเอาไว้เพื่อรายงานการเดินทางให้กลุ่มขบวนการค้าชาวโรฮิงญาทราบความเคลื่อนไหว
สอดคล้องกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ที่ระบุว่าปัจจุบันขบวนการค้าชาวโรฮิงญาและการค้าแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ได้เปลี่ยนเส้นทางการลักลอบนำกลุ่มคนเหล่านี้ผ่านเข้าไทย มาทางทางบกแทนการล่องเรือทางทะเล โดยเส้นทางที่ลักลอบนำโรฮิงญาเข้าไทย คือ ช่องทางธรรมชาติ ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก และบริเวณด่านเจดีย์ 3 องค์ จ.กาญจนบุรี
ผ่านกลุ่มขบวนการ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นนายหน้าในต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นผู้จัดหาชาวโรฮิงญาที่ต้องการเดินทางไปประเทศที่สาม เมื่อได้จำนวนตามต้องการแล้วก็จะลำเลียง มาส่งให้กับนายหน้าที่บริเวณชายแดน
อ่านข่าว ตำรวจชุมพรรุดตรวจสอบเหตุ 9 โรฮิงญาถูกทิ้งในป่า
กลุ่มที่สอง คือ ขบวนการตามแนวพรมแดน เป็นผู้ที่มีความชำนาญเส้นทาง ทำหน้าที่พาแรงงานหลบหนีข้ามแดนเข้าไทย และสุดท้าย คือ กลุ่มชั้นในหรือกลุ่มปริมณฑล ที่จะทำหน้าที่จัดหาที่พักชั่วคราวให้กับกลุ่มโรฮิงญาหลบซ่อนตัว ส่วนใหญ่มักนำมาพักอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี และพระนครศรีอยุธยา เพื่อรอจะเดินทางต่อ
การขนย้ายกลุ่มโรฮิงญา นิยมใช้รถกระบะตู้ทึบสูง รถตู้ รถกระบะติดคอกเหล็ก และรถห้องเย็น ซึ่งปิดมิดชิด โดยจะขนย้ายแรงงานจากจุดพัก เดินทางลงสามจังหวัดชายแดนใต้
แต่ระหว่างการลำเลียงจากภาคกลางไปยังภาคใต้ จะใช้เส้นทางหลบหลีก 2 เส้นทาง เส้นทางแรก เมื่อถึง จ.ชุมพร จะมุ่งเข้า จ.นครศรีธรรมราช ผ่าน อ.หัวไทร ไป จ.สงขลา ก่อนจะเปลี่ยนรถขนถ่ายที่ อ.จะนะ
อีกเส้นทางจาก จ.ชุมพร มุ่งหน้า จ.สงขลา และเปลี่ยนรถถ่ายบริเวณป่าละเมาะ แถว อ.บางกล่ำ ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางมีจุดหมายเดียวกัน คือ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามการค้ามนุษย์จังหวัดสงขลา บอกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขบวนการลักลอบนำโรฮิงญา และ ชาวเมียนมาผ่านไทย หันมาใช้เส้นทางบก แทนการเดินทางด้วยเรือมากขึ้น เพราะทางทะเล มีต้นทุนสูง ใช้ระยะเวลานาน และมีความเสี่ยงเรื่องธรรมชาติ เช่น คลื่นลม ต่างจากทางบก ที่การเดินทางสะดวกกว่า สามารถหลบหลีกด่านตรวจมีจุดพัก มีขบวนการนำทาง และระยะเวลาเร็วคุ้มค่ากว่า
สำหรับค่าใช้จ่ายในการนำชาวโรฮิงญา จะมีค่าเดินทางคนละ 100,000 - 200,000 บาท ส่วนชาวเมียนมา คนละ 30,000 - 50,000 บาท ซึ่งหน่วยงานด้านการปราบปราบระบุว่า สามารถจับกุมได้เกือบทุกเดือน
นายสมพงศ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน
พบข้อมูลลักลอบขนโรฮิงญาเปลี่ยนเส้นทาง
สอดคล้องกับข้อมูลของ นายสมพงศ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ยืนยันว่าการลักลอบมีการเปลี่ยนเส้นทางและใช้วิธีนำพาชาวโรฮิงญาปะปนมากับผู้ลี้ภัย
นั่นหมายถึง มีวิธีการที่แยบผลลำเลียงคนเป็นชุดๆเข้ามาและจะตรวจว่าคนที่เสียชีวิตเกี่ยวข้องต้นทางอย่างไร เป็นประเด็นที่น่าสนใจ
ผู้อำนวยการแอลพีเอ็น ต่อสายโทรศัพท์ คุยกับแหล่งข่าวสายที่เคยติดต่อกับนายหน้าฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ที่นำพากลุ่มนี้มา ระบุว่า เส้นทางลักลอบเปลี่ยนไปเข้าทางชายแดนแม่สอด ปะปนกับผู้ลี้ภัยการสู้รบ
เส้นทางตาก กำแพงเพชร จะมีเส้นทางธรรมชาติลัดเลาะสวนอ้อย มาเรื่อย ๆ แต่บางกลุ่มจะมีรถวีไอพีมาส่ง
อ่านข่าวอื่นๆ
ติดหนึบ! ฝนถล่ม กทม.น้ำขัง เช็กจราจรสายหลักติดหนัก
"คลัง" สั่งสอบภาษี 18 ผู้ต้องหา ดิไอคอน กรุ๊ป
ปฏิทินวันหยุดพฤศจิกายน 2567 ไร้วันหยุด แต่เรายังสุขในวันลอยกระทง