ผู้เสียหายรายหนึ่งเล่าว่า เมื่อปี 64 เธอประสบปัญหาตกงาน จึงไปเรียนคอร์สสอนวิธีขายสินค้าออนไลน์ในราคา 97 บาท เพื่อเป็นลู่ทางอาชีพใหม่ แต่เมื่อเรียนจบ ก็ถูกโน้มน้าวให้สมัครสมาชิก
ผู้เสียหายยอมรับว่า ผลตอบแทนสูง และรางวัลเที่ยวต่างประเทศล่อใจ ทำให้ตัดสินใจเปิดบิลซื้อสินค้าร่วมลงทุนกับบริษัท เพื่อไต่ระดับเป็น "ดีลเลอร์" โดยสต็อกผลิตภัณฑ์ทั้งอาหารเสริมเมื่อ 2 ปีก่อนส่วนใหญ่หมดอายุไปแล้ว เนื่องจากขายไม่ออกทำให้เสียเงินกว่า 290,000 บ. สุดท้ายก็ต้องเสียเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต เป็นหนี้สิน และครอบครัวพัง
คีย์เวิร์ดหนึ่งที่ได้รับจากผู้เสียหายหลายคน คือ แผนธุรกิจของบริษัท เน้นไปที่การหาสมาชิกใหม่เข้าร่วม ให้ได้จำนวนมากกว่าเน้นขายสินค้า สอดคล้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ให้ 6 ข้อสังเกต ธุรกิจแฝง "โมเดลแชร์ลูกโซ่" โดยถอดบทเรียนจากคดีในอดีตที่เป็นข่าวดัง ทั้ง แชร์แม่ชม้อย, ยูฟัน, "Forex3D"
นอกจากการระดมเครือข่ายสมาชิก ค่าสมัครสูง โน้มน้าวให้ผู้ร่วมธุรกิจ ลงทุนล่วงหน้ามาก ๆ ใช้เงินซื้อตำแหน่ง ขายฝันด้วยผลตอบแทนเกินจริง, บังคับสต็อกสินค้าจำนวนมากแต่ขายไม่ออก เมื่อมีปัญหาไม่คืนเงิน หรือ เปลี่ยนสินค้าไม่ได้
ด้วยลักษณะธุรกิจทีมีความก้ำกึ่งขายตรง กับแชร์ลูกโซ่ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน มองว่า ธุรกิจที่เล่นกับ "ความหวังคน" มีความซับซ้อนรูปแบบวิธีการ สุดท้าย เข้าองค์ประกอบความผิดมูลฐานการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถนำมาตั้งต้นก่อน และพิสูจน์ต่อ เพื่อขยายสู่การตั้งข้อหาเอาผิดอื่น ๆ ได้
นอกจากทางคดี ที่จะนำข้อกฎหมายมาจัดการธุรกิจที่มีความก้ำกึ่ง "ขายตรง - แชร์ลูกโซ่" ยังมีคำถามถึงรัฐ ว่าควรจะมีมาตรการอย่างไร ทำให้คนที่ตั้งใจหาอาชีพและโอกาสจากการตลาดออนไลน์ ไม่ตกหลุมดำธุรกิจที่แฝงการขายฝัน อย่างที่ผ่าน ๆ มา
อ่านข่าว : "บอสพอล" พบตำรวจ ปคบ.ชี้แจงปม ดิไอคอนกรุ๊ป
"กันต์ กันตถาวร" ยันเป็นผู้รับจ้าง ปัดถือหุ้นดิไอคอน-ยุติสัญญาแล้ว
ยังไม่แจ้งข้อหา "บอสพอล" แซม-มิน เข้าให้ข้อมูลตำรวจ ปคบ.