“แบงก์ชาติ” ชูบทอิสระ "กิตติรัตน์" ส่ออยากนั่ง ปธ.บอร์ด

การเมือง
11 ต.ค. 67
13:58
207
Logo Thai PBS
“แบงก์ชาติ” ชูบทอิสระ "กิตติรัตน์" ส่ออยากนั่ง ปธ.บอร์ด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ความขัดแย้งไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาล กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องในเชิงเศรษฐกิจ แต่ยังเกี่ยวพันกับเรื่องการเมืองด้วย

เป็นเหตุให้ หากนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีผู้ว่าแบงก์ชาติ ถูกเด้งออกจากเก้าอี้แล้วถึง 4 คน

รัฐบาลและผู้ว่าฯ แบงก์ชาติตอนนี้ ก็ไม่พ้นอยู่ในวังวนความขัดแย้ง ที่มีให้เห็นตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และต้องการให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย กระทั่งเกิดข่าวลือหนาหูจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ ความอึมครึมดังกล่าว ยังต่อเนื่องถึงรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร

เพราะผู้ว่านายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาสนฤพุฒิ ยังย้ำในจุดยืนเดิม คือเศรษฐกิจประเทศ ไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤตดังที่ฝ่ายการเมืองพยายามสื่อสาร และโครงการแจกเงิน 1 หมื่น หากจะทำต้องลดขนาด แจกให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง

กระทั่งเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลัง เป็นนายพิชัย ชุณหวชิร ซึ่งเคยเป็นบอร์ดแบงก์ชาติมาก่อน จึงเข้าใจและเลือกใช้แนวทางเจรจาประนีประนอมกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ มีการพบปะหารือกันเมื่อไม่กี่วันก่อน ยืนยันเข้าใจกันดี และใช้คำพูดทำนอง “ให้อิสระการพิจารณาการลดดอกเบี้ยของกนง.” คือคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่มีผู้ว่าแบงก์ชาติเป็นประธาน

แตกต่างจากรัฐมนตรีพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ยังเล่นบทแข็งกร้าว อยากนัดพบผู้ว่าแบงก์ชาติ พร้อมเตรียมข้อเสนอไว้ 3 ข้อ 1.ให้ลดดอกเบี้ย 2.แก้ค่าเงินบาทแข็งค่า 3.อัดฉีดเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ทำนองแบงก์ชาติทำตัวขวางการแก้ไขฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ คล้ายๆ กับที่ น.ส.แพทองธาร ทำไว้ เมื่อครั้งยังเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เล่นบทใหญ่เกินเบอร์ อ่านสคริปต์วิพากษ์แบงก์ชาติเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2567 ซัดว่า “ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ”

สถานการณ์จึงยังเขม็งเกลียวอยู่ในที จนถูกจ้องมองถึงเรื่องบอร์ดและประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ที่มีชื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ-อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ และอดีตรัฐมนตรีคลัง รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และล่าสุด ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษานายกฯ

ไม่ว่าหวังจะใช้ความรู้ความสามารถ ไปทำหน้าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หรือมีเหตุผลใดก็ตาม แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นเสมือนตัวแทนฝ่ายการเมือง ที่ถูกส่งเข้าไปเพื่อควบคุมแบงก์ชาติ อันจะส่งผลให้ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติหายไปทันที

ซึ่งจะไปขัดแย้งเรื่องคุณสมบัติและข้อห้ามการเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ 8 ข้อ ที่กำหนดในข้อที่ 4 คือเป็น หรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ขณะที่นายเศรษฐา เพิ่งพ้นตำแหน่ง 14 สิงหาคม 2567 ยังไม่ถึง 1 ปี

นำไปสู่การดึงเรื่องขอตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อก่อน ในการประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2567 ประกอบกับก่อนหน้านี้ นายกิตติรัตน์มีชื่อเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงต้องมีการตรวจสอบว่า จะเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามข้อที่ 5 ระบุข้อห้ามเป็น หรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

แต่กระนั้น ปฏิเสธความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองไปไม่ได้ ก่อให้เกิดปฏิกริยาต่อต้านนักการเมือง หรือตัวแทนฝ่ายการเมือง เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดหรือประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ดังได้เห็นจากการโพสต์ข้อความ ของอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ นางธาริษา วัฒนเกส ที่ระบุถึงขั้นว่า จะก่อให้เกิดหายนะต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ยังไม่นับท่าทีจากคณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด ออกหนังสือต้าน แม้แต่นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรี และคนของพรรคไทยรักไทย ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ยังออกโรงต้าน และเชื่อกันว่า ความพยายามจะเข้าไปครอบแบงก์ชาติของฝ่ายการเมือง จะถูกคัดค้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แม้แต่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัยด้านการพัฒนา ทีดีอาร์ไอ ยังวิพากษ์ว่า การเมืองกดดันแบงก์ชาติหนักที่สุดในประวัติศาสตร์

จึงได้เห็นรัฐมนตรีช่วยการคลัง นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ต้องออกโรงมาปฏิเสธ เรื่องนายกิตติรัตน์จะนั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

แต่จะจริงแท้แค่ไหน ฝ่ายการเมืองจะยอมถอยเพื่อลดความตึงเครียดให้ผ่อนคลายลงหรือไม่ ยังต้องติดตามวันประชุมรอบใหม่ ว่าผลจะออกมาอย่างไร

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : เจาะพื้นที่ภูเก็ต "น้ำท่วมซ้ำซาก" เล็งดึงเอกชนพัฒนาระบบเตือนภัย

"ทนายษิทรา" หอบหลักฐานแจ้งเอาผิด 6 ผู้บริหารบริษัทดัง

ดรามาย้ายช้าง รอ 1 เดือนประเมินใจ "ดอกแก้ว" เพิ่งพ้นน้ำท่วม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง