ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กสม.ชี้คดี "สารวัตรกานต์" ตร.ชุดระงับเหตุ ละเมิดสิทธิมนุษยชน

อาชญากรรม
11 ต.ค. 67
13:56
4,429
Logo Thai PBS
กสม.ชี้คดี "สารวัตรกานต์" ตร.ชุดระงับเหตุ ละเมิดสิทธิมนุษยชน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กสม.ชี้คดี "สารวัตรกานต์" คลุ้มคลั่งขังตัวเองในบ้านพักย่านสายไหมเมื่อปี 2566 ตร.หน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 ใช้ยุทธวิธีระงับเหตุ ละเมิดสิทธิมนุษยชน แนะเสริมความรู้การเผชิญเหตุการณ์วิกฤติ

กรณีครอบครัวของ “สารวัตรกานต์” พ.ต.ท.แสงบุญ หรือ สารวัตรกานต์ สังกัดศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาลเสียชีวิต ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 เข้าระงับเหตุกราดยิง ใช้อาวุธปืนยิงตกจากชั้น 2 ของบ้านพัก เขตสายไหม กทม.จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 

วันนี้ (11 ต.ค.2567) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงผลสอบคดีสารวัตรกานต์ว่า  เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 (ผู้ถูกร้องที่ 1) กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ 

อ่านข่าว "สารวัตรกานต์" ก่อเหตุยิงย่านสายไหม เสียชีวิต

เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงสารวัตรกานต์ โดยอ้างความจำเป็นเพื่อการป้องกันตัว เนื่องจากถูกสารวัตรกานต์ใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ เป็นการกระทำที่มีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อผลชันสูตรพลิกศพพบว่า กระสุนปืนของผู้ถูกร้องที่ 1 ถูกบริเวณร่างกายของสารวัตรกานต์ รวม 8 นัด

ประกอบกับผู้ก่อเหตุเป็นผู้มีภาวการณ์รับรู้ไม่ปกติ ไม่มีตัวประกัน หากปล่อยเวลาให้ทอดยาวออกไปผู้ก่อเหตุก็ต้องอ่อนเพลีย การที่เจ้าหน้าที่เร่งรัดเวลาเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้อาการของผู้ก่อเหตุกำเริบ และการให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นผู้ออกคำสั่งย้ายผู้ก่อเหตุไปทำหน้าที่เจรจา ทั้งที่ทราบว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ก่อเหตุในครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม จึงเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่เกินสมควรกว่าเหตุ ไม่ได้สัดส่วนตามที่กฎหมายบัญญัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อ่านข่าว เปิดยุทธวิธี คุม "สารวัตรเครียด" 27 ชั่วโมงบนเงื่อนไขซื้อเวลา

นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำโดรนและหุ่นยนต์ตรวจการณ์เข้าไปปฏิบัติงานภายในพื้นที่เกิดเหตุ แต่ก็ไม่พบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ได้บันทึกภาพ และเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะเข้าไปในบ้านเพื่อควบคุมตัวสารวัตรกานต์ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 จึงเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ไม่บันทึกภาพและเสียงดังกล่าวเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นต่อมา พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลสายไหม (ผู้ถูกร้องที่ 2) ซึ่งได้รับคำร้องทุกข์กล่าวหาว่าผู้ถูกร้องที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และสรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นทางคดีเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะมีคำสั่งฟ้องผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นจำเลยหรือไม่ สอบสวนคดีโดยล่าช้า หรือไม่นั้น

อ่านข่าว 27 ชม.! บุกจับ "สารวัตรเครียด" ได้รับบาดเจ็บ นำส่ง รพ.

เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ทำการสอบสวนคดีอันเป็นกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยการสอบสวนแบ่งออกเป็น 3 คดี ได้แก่ (1) สำนวนคดีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งมีการเสนอรายงานการสอบสวนต่อสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อเสนอต่อศาลให้สอบสวนการตาย และต่อมาศาลอาญามีคำสั่งแล้วว่าสารวัตรกานต์ถึงแก่ความตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่

(2) สำนวนคดีอาญาที่กล่าวหาสารวัตรกานต์ ในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ และพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้เสียทรัพย์ และยิงปืนในที่สาธารณะโดยใช่เหตุ ซึ่งคดียุติลงเพราะผู้ต้องหาเสียชีวิต

(3) สำนวนคดีอาญาที่กล่าวหาผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป

กสม. เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้สอบสวนคดีที่เกิดขึ้นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ อันถือว่าเป็นการสอบสวนอย่างถูกต้องแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาในรายละเอียดการสอบสวนคดีที่มีผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้ต้องหา พบว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้รับฟังและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนได้แจ้งความคืบหน้าของการสอบสวนให้ผู้เสียหายทราบ ถือว่าเป็นการสอบสวนอย่างเป็นธรรมแก่คู่กรณี

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาระยะเวลาที่ใช้ในการสอบสวน จนกระทั่งสรุปสำนวน ก็อยู่ภายในระยะเวลาที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายจะพิจารณาต่อไปได้ แสดงให้เห็นว่าการสอบสวนคดีมิได้ล่าช้า จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 2 กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า สารวัตรกานต์มีอาการคลุ้มคลั่ง หวาดระแวง เครียด และไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ เข้าข่ายป่วยทางจิต มีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง

กสม.เห็นว่า มเจ้าหน้าที่ได้กันมิให้ประชาชนเข้าไปในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุแล้ว รวมถึงไม่มีบุคคลใดตกเป็นตัวประกัน การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้ระยะเวลาเจรจาต่อรอง ปิดล้อมพื้นที่ และใช้แก๊สน้ำตากดดันสารวัตรกานต์ เพียง 24 ชั่วโมง ก่อนที่จะเข้าไปปฏิบัติการภายในบ้านของสารวัตรกานต์ เป็นการปฏิบัติการภายใต้สถานการณ์วิกฤติที่ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับหลักการ และมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อรอง เนื่องจากใช้เวลาน้อยเกินไป

ทั้งที่ควรใช้เวลาให้นานขึ้นจนกว่าสารวัตรกานต์ จะอ่อนเพลีย และหมดแรงลงไป เพื่อไม่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ควบคู่ไปกับการหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน

เห็นว่าการกระทำ เป็นการใช้ยุทธวิธีระงับเหตุที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อชีวิต และร่างกายของสารวัตรกานต์ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ตรวจสอบและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 (ผู้ถูกร้องที่ 1)

รวมถึงให้เร่งพิจารณาสำนวนคดีอาญาที่ 233/2566 เพื่อเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย และให้จัดอบรมเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับหลักการบริหารเหตุการณ์วิกฤติและการเจรจาต่อรอง แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเผชิญเหตุก่อน

รวมทั้งให้จัดนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อให้คำปรึกษา และประเมินสุขภาพจิตประจำปีให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสภาพจิตใจไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน ให้รีบบริหารจัดการด้วยการให้การรักษาและการเปลี่ยนหน้าที่ เพื่อป้องกันมิให้มีการก่อเหตุที่จะเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น และให้พิจารณากำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารเหตุ การณ์วิกฤติ และการเจรจาต่อรองเป็นการเฉพาะเพื่อรองรับการปฏิบัติงานในลักษณะเดียวกันกับกรณีนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง