กรณีช้างของศูนย์บริบาลช้าง มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จมน้ำตาย 2 เชือก คือ "พลอยทอง" ช้างตาบอดอายุ 40 ปี และ "พังฟ้าใส"
น.สพ.ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง กล่าวว่า ในกฎหมายระบุว่าให้ฝังซากในบริเวณพื้นที่ดอนที่น้ำท่วมไม่ถึง และห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติ หรืออยู่ไกลจากชุมชน แต่ฝังซากดังกล่าวเป็นแหล่งชุมชน และมีโรงแรม รวมทั้งรีสอร์ท อยู่บริเวณพื้นที่ด้านล่าง
ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ใช้เวลาย่อยสลายนาน น่าจะเกินเดือน ตรงนั้นใกล้น้ำ ถ้ามีปัญหาปนเปื้อนจะกระทบพื้นที่ด้านล่างน้ำ
ในมุมมองสัตวแพทย์ ห่วงว่าการฝังซากใกล้น้ำมีความสุ่มเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอาจกระทบกับทั้งคนและสัตว์ในชุมชน อีกทั้งพบว่าเป็นการขุดดินฝังซากในลักษณะที่ตื้นมากและเป็นดินโคลน ไม่แน่ชัดว่าน้ำจะไหลมาท่วมอีกเมื่อใด และจะถูกน้ำกัดเซาะหรือไม่
น.สพ.ขจรพัฒน์ กล่าวว่า เข้าใจว่ามีความสูญเสียและเศร้าเสียใจเกิดขึ้น แต่ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนก็เข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหากันเต็มที่เต็มกำลัง บางปัญหาต้องมีหลักวิชาการในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะประเด็นการฝังซากสัตว์ไม่ห่างจากแหล่งน้ำ เพราะของเสียจากการเน่าสลายของซากจะซึมลงน้ำ, หากฝนตกเพิ่ม น้ำมาเพิ่ม น้ำท่วมหลุม น้ำพัดหลุมเซาะดิน เซาะตลิ่งซาก ซากก็อาจจะลอยออกมาอีก, หากซากเน่า มีการหมักหมมของเชื้อโรค เชื้อโรคก็กระจายลงแม่น้ำ
ทั้งนี้ เสนอให้ขุดซากขึ้นมา และเปลี่ยนจุดฝังกลบให้อยู่ห่างจากแหล่งน้ำ 50-100 เมตร น่าจะเป็นทางออกที่ดี และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้
ขณะที่นายชำนาญ สอาดศรี ผู้จัดการปางช้างแม่ริม เป็นหนึ่งในทีมกำจัดซากช้างของภารกิจในครั้งนี้ กล่าวว่า ตนเองเป็นทีมกำจัดซากช้าง ซึ่งในการประชุมได้มีผู้เสนอแผนทั้งการสลิงและเครื่องจักรลากซากช้างกลับไปยังพื้นที่ Elephant Nature Park-EPN มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม แต่มองว่าทำได้ยาก เพราะใช้เครื่องมือจำนวนมาก ใช้เวลานาน และต้องข้ามเส้นทางน้ำหลาก ก่อนนำซากไปขึ้นรถเคลื่อนย้าย
ทีมงานจึงได้เลือกแผนฝังซากในจุดที่พบ โดยสิบแสนรีสอร์ท เจ้าของที่ดินยินยอมให้ฝังซากช้างได้และเลือกจุดที่เหมาะสมได้ เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยเรื่องโรคระบาดของกรมปศุสัตว์ ซึ่งทีมงานเตรียมงานเสร็จตั้งแต่ก่อนเวลา 12.00 น.ของวันที่ 5 ต.ค.2567 กระทั่งเวลา 14.00 น. ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะทางเจ้าของช้างแจ้งว่าจะมาดูก่อน ต่อมาทีมของตนเองจึงได้ถอนตัว
นายชำนาญ ยืนยันว่า ทีมงานของ Elephant Nature Park-EPN เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด โดยได้ขอซากกลับไป 1 เชือก และถูกฝังอยู่ห่างจากแม่น้ำแตง ระยะไม่เกิน 10 เมตร ซึ่งไม่ถูกหลักวิชาการ ส่วนซากช้างอีก 1 เชือก ฝังอยู่ห่างระยะ 30-40 เมตรจากตอม่อสะพาน ไม่น่ามีปัญหา
สังเกตจากภาพ ขุดดินตื้นมาก อีก 7-8 วันซากจะบวมขึ้น 50-60 ซม. และจะกลายเป็นของเหลวไหลซึม
อ่านข่าว : ยัน 2 ซากช้างชื่อ "พลอยทอง" ช้างตาบอด "พังฟ้าใส" จมน้ำตาย
ภารกิจหิน อพยพ "ช้าง" หนีน้ำท่วมแม่แตง เชียงใหม่