วันนี้ (4 ต.ค.2567) เวลา 20.00 น.ระดับน้ำปิงล้นตลิ่งทุบสถิติอีกรอบ โดยวัดได้ 5.12 เมตร โดยสูงกว่าสถิติครั้งแรกของวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมาที่เคยสูงสุด 4.93 เมตร

ขณะที่สถิติแม่น้ำปิงปี 2554 ที่เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ และแม่น้ำปิงล้นตลิ่งที่ระดับ 4.90 เมตร และในปี 2565 แม่น้ำปิงสูงสุด 4.65 เมตร

ทั้งนี้สถานการณ์น้ำท่วมใน อ.เมืองเชียงใหม่ ยังน่าห่วง ถ.มหิดลขาเข้า และขาออก บริเวณหน้าหมู่บ้านเชียงใหม่แลนด์ มีน้ำท่วมสูงขึ้น เจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือรถเล็กงดสัญจร และให้เร่งอพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งชุมชนเชียงใหม่แลนด์เมื่อวันที่ 28 ก.ย.น้ำยังไม่ท่วม แต่วันนี้น้ำได้เอ่อเข้าท่วมแล้ว

ขณะที่ เวลา 21.00 น.สำนักงานชลประทานที่ 1 ประกาศ ฉบับที่ 19 / 2567 เรื่อง แจ้งเตือนระดับน้ำวิกฤติแม่น้ำปิง ที่สถานี P.1 สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
- สถานี P.1 แม่น้ำปิงที่สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ระดับน้ำ +5.15 เมตร (สูงกว่าระดับตลิ่ง 1.45 เมตร) และสูงกว่าระดับวิกฤติ (ระดับหลังคันป้องกันน้ำท่วมเมืองของเทศบาลนครเชียงใหม่
ที่รองรับน้ำหลากระดับ +5.20 เมตร) ประมาณ 0.95 เมตร มีปริมาณน้ำ 628.00 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อยู่ในเกณฑ์วิกฤติ แนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- สถานี P.67 แม่น้ำปิงที่บ้านแม่แต อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ระดับน้ำ +5.97 เมตร (สูงกว่าระดับตลิ่ง 2.17 เมตร) ปริมาณน้ำ 859.00 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อยู่ในเกณฑ์วิกฤติ แนวโน้มปริมาณน้ำเริ่มทรงตัว
- สถานี P.21 (น้ำแม่ริม) ระดับน้ำ +5.11 เมตร (สูงกว่าระดับตลิ่ง 1.31 เมตร) ปริมาณน้ำ 80.52 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อยู่ในเกณฑ์วิกฤติ แนวโน้มปริมาณน้ำทรงตัว

- ฝายแม่แตง (น้ำแม่แตง) อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ปริมาณน้ำผ่านฝาย 402.69 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลผ่านฝาย 732.65 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อเวลา 11.00 น.ที่ผ่านมา แนวโน้มปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง
- ฝ่ายสินธุกิจปรีชา (ฝายแม่แฝก) แม่น้ำปิงที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ปริมาณน้ำไหลผ่านฝาย 374.576 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น
สำนักงานชลประทานที่ 1 คาดการณ์ว่ามวลน้ำสูงสุดจากสถานี P.67 (บ้านแม่แต่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ จะเคลื่อนตัวลงมาสมทบกับปริมาณน้ำจากน้ำแม่ริมแล้วไหลเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ โดยมีมวลน้ำบางส่วนเอ่อข้ามแนวตลิ่งแม่น้ำปิงเข้าพื้นที่ทั้งสองฝั่งก่อนที่จะผ่านเข้าเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
และปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานี P.1 จะมีระดับน้ำสูงสุดประมาณ +5.20 ถึง +6.30 เมตร สูงกว่าตลิ่งประมาณ 1.50-1.60 เมตร และสูงกว่าระดับวิกฤติ (ระดับหลังคันป้องกันน้ำท่วมเมืองของเทศบาลนครเชียงใหม่
ที่รองรับน้ำหลากระดับ +4.20 เมตร) ประมาณ 1.00-1.10 เม่ตร ในวันที่ 5 ต.ค.2567 เวลา 02.00-03.00 น. ซึ่งระดับน้ำที่อ่านค่าได้ที่สถานี P.1 จะมีความคลาดเคลื่อนจากค่าระดับน้ำที่แท้จริง
โดยมีสาเหตุจากจุดที่ตั้งของสถานี P.1 อยู่ระหว่างสะพานนวรัฐและสะพานขัวเหล็ก ที่มีระดับท้องสะพานอยู่ที่ +4.20 และ +4.05 เมตร ตามลำดับ ทำให้ระดับน้ำเอ่อขึ้นสูงจากค่าจริงเล็กน้อย

จากการคาดหมายสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงข้างต้น ขอแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงที่จะประสบอุทกภัยจากน้ำปิงเอ่อล้นตลิ่ง ดังนี้
1.พื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวแม่น้ำปิง ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย อ.เชียงดาว อ.แม่แตง อ.แม่ริม อ.เมือง เทศบาลนครเชียงใหม่ อ.สารภี อ.หางดง อ.สันป่าตอง อ.ดอยหล่อ อ.จอมทอง และ อ.ฮอด และในพื้นพื้นที่ จ.ลำพูน ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ป่าซาง อ.เวียงหนองล่อง และอ.บ้านโฮ่ง
2.พื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ในพื้นที่เสี่ยงทุกโซน (โซนที่ 1-7) รวมถึงพื้นที่ตอนล่างที่มีบริเวณติดต่อกับพื้นที่โซนที่ 7 (พื้นที่ในเขต อ.สารภี ที่เคยเกิดอุทกภัยในช่วงวันที่ 26-28 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา)
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที และประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มตำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า
อ่านข่าว :
ระดมกำลังช่วยอพยพ "ช้าง" หนีน้ำหลากท่วมแม่แตง
ห่วงอีกรอบ! แม่น้ำปิงนิวไฮ 5.20 เมตรสูงสุดในประวัติศาสตร์
น้ำสูงขึ้น 1 ม. "เขื่อนเจ้าพระยา" ระบายน้ำ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที