ติดได้กี่ถัง ? หลังพบ "บัสไฟไหม้" ติดถังแก๊สน้ำหนักเกินมาตรฐาน

สังคม
4 ต.ค. 67
20:18
177
Logo Thai PBS
ติดได้กี่ถัง ? หลังพบ "บัสไฟไหม้" ติดถังแก๊สน้ำหนักเกินมาตรฐาน
มาตรฐานรถบัสติดแก๊สได้กี่ถัง ติดตรงไหน ที่ผ่านมาตรวจสอบอย่างไร เป็นคำถามเกิดขึ้น หลังตรวจสอบพบว่า รถทัศนศึกษา คันที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ติดตั้งถังแก๊สเอ็นจีวี เกินมาตรฐานมา 5 ถัง และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม

วันนี้ (4 ต.ค.2567) จำนวนถังแก๊สเอ็นจีวี ที่เกินมาตรฐาน ไม่ต่างกับระเบิดเวลา เพราะแก๊ส 1 ถัง มีน้ำหนักมากถึง 175 กก. ดังนั้นหากประเมินน้ำหนักรถคันนี้ จะพบว่า มีน้ำหนักเกินมาตรฐานถึง 875 กก.

รถโดยสารไม่ประจำทาง ติดถังแก๊สได้กี่ถัง ?

ดูจากสูตรของกรมการขนส่งทางบก กำหนดไว้ว่าต้องมีการประเมินน้ำหนักก่อนการติดตั้งทุกครั้ง กรณีรถโดยสารคันที่เกิดเหตุ ศราวุธ เลิศพลังสันติ รองผู้อำนวยการศูนย์ MTEC จาก สวทช. ระบุว่า กรมการขนส่งทางบก คำนวณจากผลรวมของน้ำหนักรถเปล่า น้ำหนักผู้โดยสาร น้ำหนักถัง และ อุปกรณ์ส่วนควบ และ อุปกรณ์อื่น ต้องไม่เกิน 15,000 กก. หรือติดตั้งถังแก๊สได้ไม่เกิน 5-6 ถัง

แต่รถคันนี้ ติดถังแก๊สไปมากถึง 11 ถัง ซึ่ง 1 ถัง มีน้ำหนัก 175 กก. ถ้าคิดเฉพาะน้ำหนักของถังเอ็นจีวีจะมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ไปถึง 875 กิโลกรัม

ไทยพีบีเอสสอบถามไปยังบริษัทติดตั้งเอกชนแห่งหนึ่ง และ นักวิชาการ พูดตรงกันว่าตำแหน่งที่ติดตั้งถังทั้ง 11 จุด ไม่เหมาะสม เพราะบางตำแหน่ง อยู่ใกล้กับห้องผู้โดยสาร และคนขับรถ ส่วนตำแหน่งที่เหมาะสม นักวิชาการจาก MTEC ระบุว่า ต้องดูทั้งด้านหน้าและด้านท้ายรถ เพราะต้องกระจายน้ำหนักให้พอดี

และไม่ควรอยู่ในห้องผู้โดยสาร จะย้ายไปติดตั้งด้านบนหลังคาก็ได้ หากเป็นรถชั้นเดียว เหมือนรถบรรทุก ที่ติดตั้งด้านบน แต่การติดตั้งด้านบน ก็มีข้อจำกัด เพราะส่วนใหญ่รถของไทยเป็นรถชั้นครึ่ง ก็จะยิ่งเพิ่มน้ำหนักและมีโอกาสพลิกคว่ำได้

ดันร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยสาธารณะ

แม้จากข้อมูลจะพบความบกพร่องในการติดตั้งถังแก๊ส แต่ ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม มองว่า ยังอาจมีช่องโหว่ ให้บริษัทรถทัวร์โต้แย้งถึงสาเหตุในมุมอื่น ๆ ได้อีก เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบพื้นที่ และควบคุมการเคลื่อนย้ายวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ

ซึ่งหากมี พ.ร.บ.ความปลอดภัยสาธารณะ จะมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายอาชีพ เป็นคณะกรรมการ ลงพื้นที่หาหลักฐานประกอบการดำเนินคดี ช่วยเหลือประชาชน ในการเรียกร้องค่าเสียหาย ทั้งจากรัฐและเอกชน

สำหรับร่างกฎหมายนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนรวบรวมรายชื่อ เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี

ไม่เฉพาะโศกนาฏกรรมรถทัศนศึกษา แต่ยังมีภัยสาธารณะอีกมาก ที่ผู้เสียหายได้รับการชดเชยอย่างไม่เหมาะสม อย่างสะพานยกระดับที่ลาดกระบัง เหตุแผ่นสะพานที่ ถ.พระราม 2 ร่วงใส่รถที่สัญจรไปมา จึงเป็นที่มาของคำถามว่า กฎหมายฉบับนี้จำเป็นและสำคัญหรือไม่ ?

มาตรา 3 ในกฎหมายนี้ ระบุคำว่า "ความปลอดภัยสาธารณะ" จะครอบคลุมถึงการก่อสร้าง ดัดแปลง ซ่อมแซม รื้อถอนอาคาร การดำเนินกิจการขนส่งสาธารณะ การจัดเก็บ ขนส่ง หรือทำลายสารเคมีอันตราย ฯลฯ

อ่านข่าวเพิ่ม :

ดรามา! บัญชีบริจาครถบัสไฟไหม้ เจ้าของรถเยียวยาคนละ 5 หมื่น

อัปเดตเด็กหญิง 14 ปีรถบัสไฟไหม้ อาการดีขึ้น-แผลไม่ติดเชื้อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง