โศกนาฏกรรมไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียน รร.วัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ทั้งครูและนักเรียน 23 คน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ไม่เพียงสร้างความสลดหดหู่ต่อผู้คนทั้งประเทศ หากยังตามมาด้วยคำถามถึงมาตรฐานและมาตรการดูแลความปลอดภัยของยวดยานพาหนะที่ถูกนำมาใช้งาน และมาตรฐานในวิชาชีพของผู้ขับรถที่ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสารด้วย
ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เข้าไปตรวจสอบเบื้องต้นในวันนั้น ระบุว่า รถบัสคันดังกล่าวเกิดปัญหา พบว่าท่อเชื่อมระหว่างตัวถังก๊าซรั่ว เพลาหัก ก่อนจะเสียหลักครูดกับถนน ไปชนแบริเออร์ที่อยู่เกาะกลางถนนวิภาวดี และมีเปลวเพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็วจากด้าน ล่างและลามไปบนตัวรถที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซ NGV
และเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เมื่อพบว่ามีการติดตั้งถังก๊าซจำนวน 11 ถัง จากที่ขออนุญาตติดตั้งจริงเพียง 6 ถังเท่านั้น ขณะที่การตรวจสอบเลขตัวถังรถตัวบัสพบข้อมูล เป็นของเก่าดัดแปลงและมีอายุการใช้มานานถึง 53 ปี และพบว่ารถบัสอีกคันหนึ่งที่ร่วมขบวนมา ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
ส่องภูมิภาคยุโรป ดูมาตรฐานยานพาหนะ
หากย้อนกลับไปพิจารณาปัญหาไฟไหม้รถบัส หรือรถโดยสารประจำทาง ที่นำไปสู่ความสูญเสียของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่เคยเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งยุโรป เอเชีย หรือประเทศไทย พบว่ามีหลายสาเหตุ แต่หลายประเทศได้มีการปรับแก้มาโดยตลอด
ในภูมิภาคยุโรป แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายยานพาหนะอย่างเคร่งครัด เช่น การออกกฎหมาย “End-of-life Vehicle” ห้ามใช้รถเก่าที่มีอายุเกินกำหนดวิ่งบนท้องถนน เพื่อลดอันตรายและอุบัติเหตุ อีกทั้งป้องกันผู้ขับขี่ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ถือเป็นมาตรการบังคับใช้ทั่วยุโรป
แต่ที่ยังเป็นปัญหา คือ มาตรการป้องกันการเกิดไฟไหมรถบัส ที่เคยเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร จากสถิติของ the Scottish Fire and Rescue Service พบว่า เฉพาะที่สก็อตแลนด์เกิดขึ้นมากกว่า 200 ครั้งต่อปี นับตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่สถิติของ Transport for London ระบุว่า ทุก ๆ เดือนจะมีเหตุไหม้รถบัสเกิดขึ้นที่ลอนดอนกว่า 12 ครั้ง และเคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกากว่า 177 ครั้งต่อเดือน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางสหประชาชาติ โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติในยุโรป (United Nations Economic Commission for Europe: UNECE) ได้วางมาตรการออกข้อบังคับที่ 107 ว่าด้วยความปลอดภัยทางคมนาคมด้วยรถบัสของเด็ก เมื่อปี 2562 โดยสาระสำคัญในส่วนของการป้องกันไฟไหม้ตัวถังรถบัส ปรากฏในข้อบังคับย่อย 7.5 ว่าด้วยการป้องกันความเสี่ยงอัคคีภัย เช่น
- ระบบดับเพลิงอัตโนมัติในห้องเครื่องยนต์
- ถังดับเพลิงฉุกเฉินติดตั้งอย่างน้อย 2 ถัง
- ค้อนทุบกระจกรถอย่างน้อย 4-6 จุด
- ระบบแจ้งเตือนอัคคีภัยในจุดล่อแหลม เช่น ล้อ ห้องเครื่อง ห้องเก็บสัมภาระ ห้องคนขับและห้องโดยสาร
นอกจากนี้ ข้อบังคับย่อยที่ 6.5 ว่าด้วยเชื้อเพลิง ยังระบุให้รถบัสในสหภาพยุโรปต้องผ่านมาตรฐานข้อบังคับ EURO6 ว่าด้วยการใช้น้ำมันดีเซลที่ลดการปล่อยคาร์บอน
กล่าวคือ รถบัสในยุโรปจะไม่อนุญาตให้ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนในรถบัสด้วยเหตุผลสำคัญ คือ แก๊ส ไม่ว่าจะ NGV หรือ LPG เป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย
จากสถิติของ Way.com ระบุว่า ในปี 2563 สหรัฐฯ มีรถยนต์ไฮบริด (แก๊ส-น้ำมัน) เกิดไฟไหม้ 3,474 คดี ส่วนรถยนต์สันดาป 1,529 คดี และรถยนต์ EV 25 คดี หรือจะเห็นได้ว่า รถยนต์ที่มีแก๊สเป็นส่วนประกอบเชื้อเพลิง มีอัตราการเกิดไฟไหม้มากว่าใช้นำมันกว่า 3 เท่า และต่อรถ EV มากถึง 128 เท่า
ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานยานพาหนะ รถบัสในยุโรป จึงไม่ครอบคลุมถึงเครื่องยนต์ใช้แก๊สเข้ามาเป็นส่วนประกอบ เพราะไม่ได้อนุญาตให้ใช้งานมาตั้งแต่ต้น แต่ยังพบได้มากในอิตาลีกว่า 1 ล้านคันในช่วงปี 2559 ส่วนที่เหลือมีแต่เครื่องสันดาปและ EV เท่านั้น
แดนมังกร ไม่ใช้ “แก๊ส” ในเครื่องยนต์
ในภูมิภาคเอเชีย แม้จีนจะเป็นประเทศผู้ผลิตและใช้งานรถบัสมากที่สุด ข้อมูลของ Statista ระบุว่า จีนผลิตรถบัสได้ถึง 94,618 คันต่อปี และมีอัตราการปล่อยออกใช้งานเฉลี่ยกว่า 90,000 คันต่อปี
แต่รถบัสที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่เป็นเครื่องยนต์ EV ทั้งหมด คิดเป็นกว่าร้อยละ 20 จากจำนวนรถยนต์ EV ทั้งหมด จึงไม่ได้มีมาตรการออกมาป้องกันและเฝ้าระวังเหตุเพลิงไหม้รถบัส EV เท่าที่ควร
ข้อมูลไตรมาสแรกในปี 2565 พบว่า รถ EV กว่า 700 คันเกิดเพลิงไหม้ที่จีนเทียบกับทั้งโลก และในไตรมาสสามของปีเดียวกัน การเกิดไฟไหม้คิดเป็นอัตราร้อยละ 66 จากทั้งปีปฏิทิน
แม้ทางการจีนจะออกมาตรการ “ความปลอดภัยของรถบัสนักเรียน” เมื่อปี 2555 แต่ก็เป็นหลักการกว้าง ๆ ว่าด้วยการบริการนักเรียน นักศึกษา ครูและอาจารย์มากกว่า ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการผลิตหรือคุณภาพของเครื่องยนต์ ไม่ได้ช่วยให้เกิดการป้องกันเพลิงไหม้รถบัสใด ๆ
ขณะที่บทความ Epidemiology of bus fires in mainland China from 2529 to 2558 ระบุว่า กว่าร้อยละ 89.1 ของไฟไหม้รถบัสเกิดจากการลุกไหม้อย่างฉับพลัน ซึ่งต้องมาจากเครื่องยนต์หรือแบตเตอรี่เท่านั้น หรือจีนต้องเผชิญกับปัญหาไฟไหม้ในเครื่องยนต์ EV มากกว่าเครื่องยนต์ใช้แก๊ส เนื่องจากจีนไม่ได้นิยมใช้งานมาตั้งแต่ต้น
รถบัสไทย ไร้มาตรฐานภาคปฏิบัติ?
รายงานสถานะความปลอดภัยทางถนนโลกฉบับล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2566 ระบุว่า ไทยอยู่ในลำดับที่ 9 ประเทศที่มีอัตราผู้เสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลก คือ 25.4 คน ต่อประชากร 100,000 คน
และหากคำนวณจากสถิติของปี 2564 จะพบว่า ไทยจะมีตัวเลขผู้เสียชีวิต 50 รายต่อวัน ถือว่ามีจำนวนมากพอสมควร จากยวดยานพาหนะทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถโดยสารประจำทาง และรถบัสโดยสารประจำทาง
สถิติของ กรมการขนส่งทางบก พบว่า รถบัสที่จดทะเบียนในช่วง 2562 - 2566 มีจำนวนรวม 129,600 คัน จากทั้งหมด 1,371,464 คัน หรือร้อยละ 9.45 จำนวนนี้แบ่งเป็น เครื่องยนต์ CNG หรือ NGV จำนวน 42,538 คัน คิดเป็นอัตราร้อยละ 3.10 จากทั้งหมด
แม้เครื่องยนต์ CNG หรือ NGV จะมีอัตราลดลงร้อยละ 5.85 แต่สูงกว่าเครื่องยนต์ EV หรือเบนซิน เป็นรองเพียงเครื่องยนต์ดีเซลเพียงเท่านั้น โดยรถบัสในไทยนิยมใช้งานเครื่องยนต์ NGV สวนทางกับประเทศอื่น ๆ ในโลก
จากสถิติของ Business Research Insight พบว่า เครื่องยนต์ NGV จะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 15.92 ในปี 2575 หรือเกือบ 2 เท่าในปี 2565 แต่สัดส่วนของรถบัสที่ใช้งาน NGV คิดเป็นไม่ถึงร้อยละ 3 และส่วนใหญ่จะยังคงใช้งานเครื่องยนต์ดีเซล
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รถบัสในไทยเผชิญกับความเสี่ยงกับไฟไหม้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีช่องว่างจากกฎหมายที่ให้มีการดัดแปลงรูปแบบเครื่องยนต์ ตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 14 ที่ระบุว่า
“รถใดที่จดทะเบียนแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วน หนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถนั้น เว้นแต่เจ้าของรถนำรถไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพก่อน หรือในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่ารถที่เปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายในเวลาใช้ ให้สั่งเจ้าของรถแก้ไขและนำรถไปให้ตรวจสภาพก่อนใช้ การตรวจสภาพดังกล่าว นายทะเบียนจะสั่งให้เจ้าของรถนำรถไปให้ตรวจสภาพ ณ สถานตรวจสภาพได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกก็ได้ และให้นำมาตรา 12 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้านายทะเบียนเห็นว่ารถนั้นปลอดภัยในเวลาใช้ ให้แก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียน และคู่มือจดทะเบียนรถนั้นด้วย"
หมายถึง เครื่องยนต์จะสามารถดัด แปลงได้นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบกค่อนข้างมาก และยังเปิดโอกาสให้อนุโลมในการดัดแปลงนั้น ๆ ได้
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรมการขนส่งจึงควรบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวด เพราะอาจมีผู้ประกอบการ ใช้ช่องโหว่ ดัดแปลงสภาพตัวถังและเครื่องยนต์ ไปใช้ติดตั้งถังก๊าซ NGV โดยใช้อาศัยคำว่า “ดุลยพินิจ” ของนายทะเบียน จนเป็นที่มาของโศกนาฏกรรมสลดในครั้งนี้
อ่านข่าว:
น้ำใจถึงอุทัยฯ ส่ง "ดอกไม้" ร่วมไว้อาลัย 23 ชีวิตรถบัสไฟไหม้