ดับฝันแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จั่วลมตาม “รายมาตรา”

การเมือง
26 ก.ย. 67
15:27
137
Logo Thai PBS
ดับฝันแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จั่วลมตาม “รายมาตรา”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่เพียงพรรคเพื่อไทยต้องยูเทิร์นกลับทันทีทันใด เรื่องร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา แต่กูรูทางการเมืองยังฟันธงตรงกันว่า เป็นการปิดฉากการแก้ไขประเด็นจริยธรรมอย่างสิ้นเชิง

แม้แกนนำพรรคเพื่อไทยจะอ้างว่า เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและกระตุ้นเศรษฐกิจก่อน แล้วค่อยทำทีหลัง แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากแล้ว เพราะพรรคร่วมรัฐบาล “ทำตัวหล่อ” ดังที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.เปรียบเปรยไว้ เพราะรู้ว่ากระแสสังคมไม่เอาด้วย แล้วต่อไปจะกลับลำมาหนุนใหม่ได้อย่างไร

เว้นแต่ประเด็นใหม่ที่มีผลกระทบต่อสังคมไม่มากนัก ไม่สะเทือนหรือท้าทายความรู้สึกของผู้คน

พรรคเพื่อไทยจึงต้องหาทางออกที่ดูดีที่สุด ไม่ว่าจะอ้างเรื่องปมจริยธรรม ไม่ใช่เริ่มจากพรรคเพื่อไทย แต่เป็นแกนำพรรคอื่น และโยนให้เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นของสภา เหมือนกับที่เคยโยนเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม พ่วงคดี มาตรา 112 หรือไม่

เมื่อแก้รายมาตราถูกปิดฉาก จึงเหลือเพียงแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือร่างใหม่ทั้งฉบับ หรือเว้นหมวด 1 และหมวด 2 แต่ก็ต้องเริ่มต้นที่กฎหมายประชามติ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรหาทางฝ่าทางตัน การทำประชามติที่ต้องมีถึง 3 ครั้ง

โดยยกเลิกวิธี DOUBLE MARORITY หรือ “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” คือ ต้องมีคนออกมาลงประชามติเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ และในจำนวนนี้ ต้องมีผู้เห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งด้วย ตามพรบ.ประชามติฉบับเดิม ปี 2564 เปลี่ยนแก้เป็นเสียงข้างมากปกติ หรือ single majority

แต่ในการประชุมกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส หนึ่งในกมธ. กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญเช่นกัน เมื่อการประชุมดังกล่าว กมธ.มีมติ 17 ต่อ 1 เสียง ให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านสภาผู้แทนฯ ใหม่ เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับร่างที่ใช้หลักการเสียงข้างมากปกติ single majority ให้กลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นแบบเดิม ทั้งที่การประชุม กมธ. 4 ครั้งก่อนหน้านี้ เห็นตรงกันกับร่างที่เสนอมา

น.ส.นันทนา ตั้งข้อสังเกตทันควันว่า เป็นเรื่องค่อนข้างผิดปกติ เพราะการทำประชามตินั้นควรเป็นเรื่องที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และหลักเสียงข้างมากปกติมีโอกาสจะเป็นจริงได้มากที่สุด เมื่อมติพลิกกลับ จะทำให้การทำประชามติเป็นไปได้ยาก

ยิ่งหากมีเสียงค้านจาก สว. จะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ และที่สำคัญกรอบเวลาจะยืดเยื้อออกไปจากเดิม คงไม่สามารถทำประชามติครั้งแรกได้ทันพร้อมการเลือกตั้ง นายกฯ และสภา อบจ. ในเดือน ก.พ.2567 อย่างที่คาดหวัง

เพราะเมื่อวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วย ต้องตั้ง กมธ.ร่วม ในกรอบเวลา 60 วัน เพื่อหาทางออกร่วมกัน ทำให้จะเกินเวลาที่กำหนดไว้แล้ว เท่ากับการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แทบเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งสอดคล้องกับกูรูทางการเมืองหลายคนที่ระบุชัดก่อนหน้านี้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ขณะที่เวลาของสส.ชุดนี้ เหลืออีกไม่ถึง 3 ปี

เท่ากับปิดประตูลงกลอนสำหรับความหวังแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะถูกดับฝันตั้งแต่กฎหมายประชามติ ขณะที่กระบวนการแก้ไขตามมาตรา 256 ว่าด้วยขั้นตอนและข้อกำหนดต่าง ๆ มีมากมาย และสำคัญ ต้องได้รับการปลดล็อคจากสว.อย่างน้อย 1 ใน 3 ตั้งแต่ในวาระแรก

ในมุมของ น.ส.นันทนา ตั้งข้อสังเกตไปยังพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่มีท่าทีไม่อยากให้มีการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ในสมัยสภาฯชุดนี้ เนื่องจากกลุ่ม สว.จำนวนมากลงมติพร้อมเพรียงกันเป็นทิศทางเดียวกับพรรคการเมืองดังกล่าว

เป็นปมร้อนที่พุ่งเป้าไปยังพรรคการเมืองใหญ่ร่วมรัฐบาล ที่เพิ่งถูกมองว่า กลับลำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา กระทั่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต้องออกโรงมายืนยัน ล่าสุดว่า ปฏิเสธไม่ใช่ตน และไม่เคยกลับลำ

แต่การทำงานต้องมีการหารือกัน และเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ก็มีการพูดคุยกันพร้อมกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็เห็นตรงกันว่าเรื่องใหญ่ขณะนี้ คือการแก้ปัญหาน้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม สำหรับจุดยืนของพรรคภูมิไทย ที่สะท้อนผ่านการแถลงของกลุ่มยังเติร์กในพรรค นำโดยนายไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรค และนายภราดร ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรค เมื่อวันก่อน ชัดเจนว่า สนับสนุนการแก้ไขทั้งฉบับ ยกเว้นการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องได้รับการยอมรับจากคนในสังคม การแก้ไขผ่านสสร. จะเป็นวิธีการที่ทำให้สังคมเกิดการยอมรับในกติกาการอยู่ร่วมกัน

ความจริง เรื่องแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นนโยบายเร่งด่วนในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แต่ช่วง 1 ปีในตำแหน่ง ยังไม่ได้ลงมือแก้ไข นอกจากเคยมีมติ ครม.เมื่อเดือนเมษายน 2567 มีให้ทำประชามติ 3 ครั้ง

โดยเริ่มครั้งแรกพร้อมการเลือกตั้งนายกฯ และส.อบจ.เดือนกุมภาพันธ์ 2568 และคำถามในการทำประชามติครั้งแรก คือ “เห็นชอบหรือไม่ ที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2”

แต่ในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ที่รับไม้ต่อ กลับบรรจุวาระนี้เป็นนโยบายระยะกลางและระยะยาว ก่อนที่ต่อมา เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุน ขณะที่กระแสสังคมไม่ขานรับ จึงได้เห็นนายกฯ โยนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไปเป็นเรื่องของสภาฯ

สะท้อนได้ในระดับหนึ่งว่า การแก้รัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ยิ่งทำให้มีคำตอบชัดเจนมากขึ้นว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งรายมาตรา และยกร่างใหม่ทั้งฉบับ น่าจะถูกดับฝันไปแล้วในสภาชุดนี้

เว้นเสียแต่จะมี “การกลับลำ” ใหม่ หลังเจรจาประสานประโยชน์และข้อตกลงกันได้ เฉพาะในกรณีแก้เป็นรายมาตรา และไม่ใช่ประเด็นหลักที่สังคมต่อต้านอย่างเรื่องจริยธรรมนักการเมือง ที่สุดท้ายต้อง “แท้ง” ในที่สุด

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : ศรีสำโรงอ่วม! คันกั้นน้ำยมแตก ต.ทับผึ้ง ทะลักท่วมหลายหมู่บ้าน

เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำ-แนวฟันหลอ 6 จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วม 28 ก.ย.-2 ต.ค.

เกมยื้อเวลา ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง