รวมถึงเป็นรัฐธรรมนูญ ที่มีจุดเด่นให้ความสำคัญ และยกระดับมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ต้องมีคุณธรรม และซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์จากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปมการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
ผลที่ตามมาคือมาตรฐานใหม่ของคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคนระดับรัฐมนตรีที่ต้องสูงกว่า สส. แต่กลายเป็นของแสลง สำหรับคนที่เคยมีประวัติหรือเคยต้องคำพิพากษาจำคุก ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ ต้องถอยกลับและส่งตัวแทนหรือคนในตระกูลไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีแทน แต่จุดเด่นของครม.ชุดใหม่ คือผ่านการกลั่นกรองคุณสมบัติหลายชั้น
แม้อาจมีผลต่อการตั้ง ครม.ต้องล่าช้า แต่เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนที่ไม่อยากจะเห็นครม.ต้องถูกร้อง “ยี้”
อย่างไรก็ดี กลับกลายเป็นหนึ่งในข้ออ้าง ที่พรรคเพื่อไทยยกเป็นสาเหตุที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 คือเรื่องจริยธรรมนักการเมือง โดยอ้างว่าเป็นเรื่องนามธรรม จึงต้องแก้ไขให้ชัดเจน รวมทั้งประเด็น เสียงของตุลาการรัฐธรรมนูญ คดีนายเศรษฐา ที่อ้างว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งแค่เสียงเดียว ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงควรแก้ไขให้เป็นเสียงข้างมาก ไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3
ทั้งที่การมีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ฝ่าฝืนเรื่องจริยธรรม แยกแยะผิดถูกได้ ควรเป็นเรื่องที่ต้องยึดถือปฏิบัติกันตั้งแต่ต้น ไม่ต้องรอให้เป็นนักการเมือง หรือเป็นนักธุรกิจใหญ่ แล้วค่อยเริ่มต้นนับเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ยิ่งนักการเมืองเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละ ไม่มีใครกราบไหว้วิงวอนหรือบังคับให้เข้ามาเล่นการเมือง
ส่วนเรื่องเสียงของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องดุลยพินิจของระดับองค์คณะผู้พิพากษา ที่ผ่านคุณสมบัติจากคณะกรรมการสรรหาที่เข้มข้น และฝ่ายบริหารควรต้องยอมรับในมติและความเห็นส่วนใหญ่ของศาลที่เป็นฝ่ายตุลาการ อีกทั้งการโหวตเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีจกที่ประชุมรัฐสภา ได้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก ไม่ใช่เสียง 2 ใน 3
การขยับขอแก้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งการเตรียมขยับจะแก้กฎหมายลูกด้วย จึงถูกมองด้วยความไม่ไว้วางใจว่า ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มตน พวกพ้อง หรือเฉพาะใครบางคนหรือไม่
แต่ใช่ว่าหนทางจะราบรื่น เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย สะท้อนผ่านแกนนำคนรุ่นใหม่ อย่าง นายภราดร ปริศนานันทกุล เห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเรื่องจริยธรรมเป็นสิ่งที่ต้องเข้มงวดกับนักการเมือง ไม่ใช่แก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง ต้องกลับไปถามประชาชนในรูปการทำประชามติ
ขณะที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ น้องใหม่พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค หรือนายชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรค ต่างไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปมจริยธรรมนักการเมือง
เพราะคนที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารประเทศ ต้องพร้อมรับการตรวจสอบเรื่องจริยธรรม ทั้งปรามในทีว่า ต้องไม่แก้ไขจนเป็นการทำลายหลักการการส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และไม่ควรเข้าข่ายแก้ไขเพื่อตัวเอง เพราะจะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญขาดความชอบธรรม
ไม่ต่างจากท่าทีของวุฒิสภา ซึ่งต้องมีบทบาทและความสำคัญสูงต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ ที่พูดเสียงดังฟังชัดว่า วุฒิสภาและสมาชิกรัฐสภาต้องเคารพรัฐธรรมนูญก่อนเป็นลำดับแรก
ช่วงปฏิญาณตนเข้าปฏิบัติหน้าที่ต่างบอกว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่แล้วจู่ ๆ จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรม หากไม่มีจริยธรรมแล้วจะมาเป็นนักการเมืองทำไม เรื่องจริยธรรมอยู่ที่ตัวบุคคลอยู่แล้ว หากคิดเสียสละเพื่อบ้านเมือง ต้องมีจริยธรรมก่อนเป็นลำดับแรก
สะท้อนสกัดแนวทางแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย แต่ทั้งนี้ต้องดูว่า จะมีการเจรจาประสานประโยชน์อื่นใดกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อแลกกับการสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
ถึงแม้การแก้รัฐธรรมนูญจะสามารถทำได้ แต่เรื่องเร่งด่วนสำหรับแก้ปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังมีอีกหลายเรื่อง อาทิ ค่าครองชีพสูง เรื่องแก้หนี้ครัวเรือนที่ทางแบงก์ชาติส่งสัญญาณเตือนตลอดว่า เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องส่งเสริมฟื้นฟูผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ต้องเจอศึกหนัก
การไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจากจีนซึ่งต้นทุนถูกกว่าไทยผลิตถึง 2-3 เท่าตัว หรือแก้ปัญหารถอีวี ที่โดนค่ายรถจากจีนดัมพ์ราคา จนค่ายอื่นทั้งจากจีนด้วยกันและรถยนต์ญี่ปุ่นแบบเติมน้ำมัน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
แต่กลับให้น้ำหนักกับการแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก เรื่องจริยธรรมและอื่น ๆ รวม 6 ข้อ ที่ล้วนแล้วเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายการเมืองทั้งสิ้น และไม่เคยมีเรื่องที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนเลย
ครั้งนี้ก็คงเช่นเดียวกัน
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : "ชูศักดิ์" เตรียมเสนอผลการศึกษา กมธ.นิรโทษกรรม 26 ก.ย.นี้
ขึ้นค่าแรง 400 บาทไม่ทัน 1 ต.ค.67 เลื่อนประชุมบอร์ดไม่มีกำหนด