ไทยควรรู้ ? ถอดบทเรียนมาตรการเยียวยาภัยพิบัติสึนามิ ญี่ปุ่น 2554

ภัยพิบัติ
22 ก.ย. 67
19:43
140
Logo Thai PBS
ไทยควรรู้ ? ถอดบทเรียนมาตรการเยียวยาภัยพิบัติสึนามิ ญี่ปุ่น 2554

มีหลายหน่วยงานที่ออกมาประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุมทั้งพื้นที่ ที่อยู่อาศัย เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และภาคบริการ เช่น สภาอุตสาหกรรมฯ ประเมินความเสียหายเฉพาะภาคเหนือตอนบน 25,000-27,000 ล้านบาท หรือภาพรวมทั้งประเทศ ที่ สำนักวิจัย ซีไอเอ็มบี ประเมินความเสียหาย 200,000 ล้านบาท ถ้าคลี่คลายได้ใน 1-3 เดือน แล้วถ้าต้องชดเชยทั้งหมด น่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่คำถามคือ ต้องเยียวยาแค่ไหนถึงจะเหมาะสม

การเยียวยาของรัฐบาล จะสั่งการผ่านหน่วยงานหลักที่มีชื่อว่า "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม" รองนายกฯ ภูมิธรรม และรองนายกฯ อนุทิน เป็นประธานร่วม เพื่อให้การช่วยเหลือรวดเร็วคล่องตัว พร้อม ๆ กับ ครม.อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือ 3,000 ล้านบาท

มาตรการเยียวยาเบื้องต้นที่ชัดเจน คือค่าเยียวยาเบื้องต้น จะได้รับครัวเรือนละ 5,000-9,000 บาท ขึ้นอยู่กับมีน้ำท่วมขังนานแค่ไหน 7 วัน หรือ 60 วันขึ้นไป บ้านใครเสียหายจะมีค่าซ่อมแซมสูงสุด 230,000 บาท

ขณะเดียวกันเดือนนี้ ยกเว้น ค่าน้ำค่าไฟให้ ส่วนเดือนหน้าตุลาคมลดค่าน้ำค่าไฟร้อยละ 30 ส่วนนี้แยกจากงบประมาณที่จังหวัดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินจังหวัดละ 20 ล้านบาท ส่วนนี้คือที่รัฐบาลประกาศออกมาในช่วงแรกนี้ คาดว่าน่าจะมีการเยียวยาเพิ่มเติมอีก

ขณะนี้ที่ "แม่สาย" เหตุการณ์เกิดขึ้นเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อคือ นอกจากน้ำ อาหาร ที่พักชั่วคราวแล้ว ขณะนี้โครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องเร่งฟื้นฟูเพื่อให้ดำรงชีวิตได้ น้ำไฟ จะเข้าได้หรือไม่

แต่ความรุนแรงของภัยพิบัติครั้งนี้ ทั้งน้ำทั้งโคลน ทำให้บ้านพังแทบทั้งหลังจำนวนมาก การเยียวยาตามระบบอาจยังไม่พอ และยังต้องมองต่อว่า แล้วจะกลับมาทำมาหากินต่อไปอย่างไร วงเงินที่วางไว้ต้องรีบส่งตรงถึงมือ หากไม่พอการจ้างงานเพิ่มในพื้นที่อาจช่วยบรรเทาเพิ่ม

เหตุการณ์ในไทย ที่มาแรงมาเร็วแบบที่ไม่คาดคิด ทำให้หวนนึกถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว และสึนามิที่ญี่ปุ่น เมื่อปี 2554 ครั้งนั้นผู้คนเสียชีวิตกว่า 16,000 คน ความเสียหายประมาณ 7 ล้านล้านบาท ด้วยกายภาพของญี่ปุ่น ที่ประสบความเสี่ยงภัยธรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรง

นอกจากการบรรเทาทุกข์เบื้องต้นทั้งเงินและสิ่งของแล้ว สิ่งที่รัฐบาลลงทุนคือการสร้างที่พักชั่วคราว ที่พักได้ 2 ปี ลดค่าใช้จ่ายประชาชน ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้ และคืนเงินภาษีที่จ่ายไปแล้ว เลื่อนการจ่ายภาษีทรัพย์สินอื่น ๆ สินค้าวัสดุก่อสร้างยกเว้นการเก็บภาษี เพื่อให้มีราคาถูกลง

ถ้าไทยมองว่าความเสี่ยงภัยพิบัติ แรงขึ้น บ่อยครั้งขึ้น นักวิชาการที่ขณะนี้ทำวิจัยในญี่ปุ่น มองว่า สิ่งที่อาจพิจารณาใช้กับไทยคือ การตั้งกองทุนดูแลภัยพิบัติโดยเฉพาะ

ในมุมมองของนักวิชาการมองว่า หากไทยเกิดภัยพิบัติถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น เช่นเดียวกับหลายประเทศ หลังตั้งหลักได้ ควรทบทวน ประมวลความเสี่ยงเกิด เรนบอมบ์ พายุ ดินโดลนถล่ม และกำหนดพื้นที่เสี่ยง เพื่อกำหนดมาตรการใหม่ นอกจากกองทุนส่วนกลางแล้ว ความเสียหายทรัพย์สินอย่างบ้านเรือน จำเป็นต้องนำระบบประกันภัยเข้ามาดูแล เพื่อไม่ต้องควักเงินงบประมาณก้อนใหญ่ทุกครั้งที่เกิดภัย

อ่านข่าวอื่น :

ท่าทีรัฐบาล "แพทองธาร" กับนโยบายแก้ปัญหาชายแดนใต้

กนอ.แจงไฟไหม้โรงงานในนิคมฯมาบตาพุด จากสารตั้งต้นรั่วไหล

เริ่มนับคะแนนเลือกตั้ง นายก อบจ.ปทุมธานี หลังปิดหีบ 17.00 น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง