ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ชูศักดิ์" เล็งยื่นแก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปัดเอื้อ "ทักษิณ"

การเมือง
20 ก.ย. 67
13:15
202
Logo Thai PBS
"ชูศักดิ์" เล็งยื่นแก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปัดเอื้อ "ทักษิณ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มือกฎหมาย​ “ชูศักดิ์” เตรียมยื่นแก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง รื้อคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง ปัดเอื้อ “ทักษิณ” หวนคืนคุมบ้านเก่า พร้อมแก้ไขยุบพรรค-ครอบงำ ร่วมถึงเขย่าอำนาจ ป.ป.ช.

วันนี้ (20 ก.ย.2567) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการเตรียมยื่นแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ว่า จะยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภา และพิจารณาในรัฐสภา โดยจะแก้ไขในหลายเรื่อง เช่น การแก้ไขเรื่องความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเดิมใช้คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. จึงทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ ซึ่งตนเองคิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรจะเปิดกว้างให้กับทุกคน

เมื่อถามว่าการแก้ไขนี้เพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใคร หรือหมายถึงใคร แต่สิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรจะเปิดกว้าง เป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไม่ควรมีข้อจำกัดมากมาย

เรื่องนี้เราเคยทำมาแล้วในอดีต เพียงแต่ สว.ในตอนนั้นไม่เห็นด้วย ส่วน สว.ชุดปัจจุบันจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ว่าในอนาคต

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ไขเรื่องการยุบพรรคต้องดูว่าจำกัดอย่างไรให้เหมาะสม เน้นเฉพาะประเด็นล้มล้างการปกครอง ส่วนการครอบงำพรรคจะต้องปรับให้รัดกุมมากขึ้น ไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็นการครอบงำพรรคทั้งหมด ซึ่งจะดำเนินการเพื่อให้กฎหมายเป็นธรรม

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฝ่ายกฎหมาย ยังกล่าวว่า จะยื่นแก้ไขในบางประเด็นของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) กรณีแรกคือมีความผิดบางประเภทที่ ป.ป.ช.สั่งไม่มีมูล หรืออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ก็ให้สิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีได้เอง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยื่นเรื่องมาแล้ว แต่ท้ายที่สุดมีข้อทักท้วงบางประการ ทำให้ต้องนำกลับมาแก้ไขใหม่ โดยได้เพิ่มเรื่องอื่น ๆ ไปด้วย เช่น เรื่องอำนาจฟ้องเองของคณะกรรมการป.ป.ช. มองว่ากรณีที่ ป.ป.ช.มีคำสั่งว่ามีมูลหรือฟ้อง แต่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง และมีการตั้งกรรมการร่วมกันก็บอกว่าไม่ฟ้อง แต่ท้ายที่สุด ป.ป.ช.ไปฟ้องเอง ซึ่งตนเองมองว่าหากเป็นแบบนี้กลายเป็นว่า ป.ป.ช.ทำหน้าที่สอบสวน และฟ้องร้องได้เองหมด จึงขัดต่อหลักการคานอำนาจ

นอกจากนี้ ควรมีกรอบระยะเวลาในการไต่สวน อาจกำหนดไม่เกิน 5 ปี เพราะบางกรณีสอบสวนเรื่อยๆ ระยะเวลาถึง 10-20 ปี กว่าจะชี้มูลความผิดก็เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งคาดว่าการยื่นแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ในสัปดาห์หน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง