ถูกยิงเข้าที่สีข้างลำตัว เขาจะให้เราตาย ไม่ได้อยากให้พวกเราอยู่ วันนั้นถ้าไม่มีคนสั่งการ ก็คงก็ไม่มีคนกล้า เอาคนมากขนาดนั้นไปนอนทับกันบนรถ จนตาย
นายหะยีดิง มัยเซ็ง หรือ แบดิง หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บ จากกระสุนที่ทะลุเข้าที่สีข้างลำตัว ระหว่างเหตุสลายการชุมนุม ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547
สะท้อนความรู้สึก หลังทราบข่าวว่า อัยการอัยการสูงสุด สั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา หลังพิจารณาสำนวนวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต 78 คน ที่เสียชีวิต ระหว่างการขนย้ายหลังการสลายการชุมนุม
โดย 7 คน เป็นพลขับรถ และผู้ควบคุมรถ 25 คัน ที่นำมาบรรทุกผู้ชุมนุมนับพันคน ส่วนอีก 1 คน คือ พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 เป็นผู้ต้องหาเพียงคนเดียว ที่ตรงกับรายชื่อของผู้ต้องหา 7 คน ที่ชาวบ้านได้ยื่นฟ้องเองต่อศาลจังหวัดนราธิวาส โดยศาลได้ออกหมายจับแล้ว 6 คน
ส่วนอีก 1 คน คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างการส่งหนังสือด่วนที่สุด ไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตจับกุม แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังจับกุมตัวไม่ได้
ทำให้ความหวังที่จะนำตัวคนผิด มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเริ่มเลือนลาง เพราะนับถอยหลังคดีตากใบ ก็จะหมดอายุความแล้วในวันที่ 25 ต.ค.นี้
นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ เห็นว่า การสั่งฟ้องของอัยการสูงสุด เป็นไปตามการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ที่เพิ่งกลับมาเร่งรัดคดีนี้ หลังชาวบ้านลุกขึ้นมาฟ้องเอง ซึ่งไม่กี่วันคดีก็จะหมดอายุความแล้ว
ไม่ใช่เรื่องที่น่าผิดหวังไปเลยทีเดียว แม้ผู้ที่ถูกฟ้องวันนี้ จะไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจในการสั่งการ พลขับรถ และผู้ควบคุมรถบรรทุก ก็อยู่ในเหตุการณ์ และเห็นสภาพของผู้คนที่แออัดบนรถ จนเป็นสาเหตุของการตาย
เช่นเดียวกับ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มองว่า การสั่งคดีนี้มีความสำคัญและดีต่อชาวบ้าน แม้การสั่งคดีของอัยการสูงสุด ในวาระสุดท้ายใกล้หมดอายุความ
อาจมองได้ว่า เป็นการสั่งคดีตามกระแสสังคมหรือไม่ เพราะหากไม่สั่งคดี ให้ทันก่อนหมดอายุความ สังคมก็จะถามหาบทบาทของอัยการในคดีนี้ ที่มีคนเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวจำนวนมาก แต่กลับปล่อยให้สำนวนหายไปเกือบ 20 ปี
การสั่งฟ้องในคดีนี้ ซึ่งอีก 40 วัน จะหมดอายุความ ก็เหมือนจะโยนเผือกร้อน ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งหน้าที่หลักตอนนี้ ก็ตกเป็นตำรวจที่จะต้องจับบุคคลตามหมายศาล 7 คน และจับกุมตามสำนวนสั่งฟ้องคดีของอัยการอีก 7คน
ต้องอย่าลืมว่า ประชาชนรอความยุติธรรมจากตำรวจและอัยการมาเกือบ 20 ปีแล้ว และตอนนี้รอแค่การควบคุมตัวตามหมายจับ และคำสั่งอัยการสูงสุด ซึ่งหากจับใครไม่ได้เลย คำสั่งศาลและคำสั่งอัยการสูงสุดของไทย ก็แทบจะไม่มีความหมาย
และอาจสะท้อนว่า ระบบนิติรัฐ ระบบกฎหมายไทย มีวิกฤตที่ต้องปฏิรูปด่วน และอาจต้องไปกดดันที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก่อนคดีหมดอายุความ เพราะนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อไม่ให้คดีนี้กลายเป็น มรดกเลือด
อย่างไรก็ตาม หากคดีนี้ ไม่สามารถนำจำเลยมาศาลได้ ก็เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายให้ คดีที่เจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ให้คดีไม่มีอายุความ
รายงาน : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้
อ่านข่าว : ส่องเบื้องลึก “คดีตากใบ” ปริศนา “ดองสำนวน” 19 ปี
อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหาคดีตากใบ
ศาลนราธิวาสออกหมายจับ 6 จำเลยคดีตากใบ หลังไม่มาตามนัด