ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สภาอุตฯ ชี้ดัชนีเชื่อมั่นปรับตัวลดลง ชงรัฐบาล ปรับค่าจ้างให้เหมาะสมตาม “ฝีมือ”

เศรษฐกิจ
18 ก.ย. 67
14:07
216
Logo Thai PBS
สภาอุตฯ ชี้ดัชนีเชื่อมั่นปรับตัวลดลง ชงรัฐบาล ปรับค่าจ้างให้เหมาะสมตาม “ฝีมือ”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สภาอุตฯ แนะปรับค่าจ้างขึ้น 400 บาท ให้พิจารณาเรื่องความเหมาะสม ตาม “ฝีมือ” หากปรับเท่ากันหมด SMEs ไปต่อไม่ได้ พร้อมขอเร่งสร้างความชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นผู้ประกอบการใน-ต่างประเทศ

วันนี้ (18 ก.ย.2567) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลง จาก 89.3 ในเดือน ก.ค.2567

7 เดือน “อุปสงค์รถยนต์” ลดลง

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ปัจจัยลบมาจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะรถยนต์ พบว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2567) อยู่ที่ 354,421 คัน หดตัว ร้อยละ 23.71 โดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุก

เนื่องจากความเข้มงวด ในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ขณะที่กำลังซื้อยังเปราะบาง จากความกังวลเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่สูงถึงร้อยละ 90.8 ต่อ GDP ในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งกดดันการบริโภคในประเทศ

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ ยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลดลง

“น้ำท่วม” กระทบภาคเกษตร “เหนือ-กลาง”

นอกจากนี้ ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง

ขณะที่การส่งออก อัตราค่าระวางเรือ (Freight) ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป จากการเร่งส่งออกของจีน และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น

ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว จากระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม 2567 เป็น 34.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนสิงหาคม 2567 ส่งผลให้สินค้าไทยแพงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

ขณะที่ปัจจัยบวกมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลาย นักลงทุนและผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และมีความคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

การเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ แม้จะเบิกจ่ายได้ตามกำหนดแต่ยังสามารถเร่งได้อีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

ภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นแรงสนับสนุนการบริโภคในประเทศ จากมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวของภาครัฐ

จี้รัฐบาลชัดเจนกระตุ้นเศรษฐกิจ-ช่วยน้ำท่วม

นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ โดยขอให้เร่งประกาศและสร้างความชัดเจน ในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงที่เหลือของปี 2567 เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนนอกจากดิจิทัลวอลเล็ต และการแจกเงินสดอีก 15 ล้านคน

พร้อมเสนอให้ปรับลดวงเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เพื่อเสริมสภาพคล่องในภาคอุตสาหกรรม และชะลอการเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม กรณีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในรอบปีสูงขึ้น ขอให้ทบทวนลดเพดานวงเงินการประกันการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสม ขณะนี้การไฟฟ้ามีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท หากลดได้ผู้ประกอบการจะมีสภาพการเงินที่คล่องตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ยังเสนอให้ปรับปรุง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดระยะเวลาการพิจารณาไต่สวน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสินค้าทุ่มตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว

และเสนอให้ออกมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เช่น การยกเว้นภาษีนิติบุคคล ขยายเวลาการยื่นภาษี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว

รวมถึงมีระบบการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งน้ำท่วมน้ำแล้ง เรียกร้องภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหา เหมือนตอนน้ำท่วมใหญ่ 2554 ที่เกือบจะทำได้สำเร็จ

“ค่าแรง” ให้ยึดตามอนุฯ พิจารณาค่าจ้าง

นอกจากนี้ นายเกรียงไกร กล่าวถึงการขึ้นค่าแรง 400 บาทว่า ขอเสนอให้ภาครัฐยึดมติคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด ในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ และปัจจัยที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน

ส่วนในวันที่ 1 ต.ค.ที่จะมีประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ส.อ.ท.เชื่อมั่นระบบกลไกตามกฎหมาย เป็นที่ยอมรับไตรภาคี ต้องเป็นการปรับราคาค่าจ้างที่เหมาะสม อนุไตรภาคีแต่ละจังหวัดตกลง ที่สำคัญการปรับค่าแรงให้เท่ากันทุกจังหวัดขอให้ดูการฟื้นตัว เอสเอ็มอีอาจจะไปต่อไม่ได้ ความเชื่อมั่นลดลง ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศกังวลและไม่เชื่อมั่น ต้องการความชัดเจน

กรณีที่นายจ้างไม่ไปประชุม จากการสอบถามกรรมการที่เป็นนายจ้างระบุว่า เป็นการเรียกประชุมเร่งด่วน ภายในไม่กี่วัน ซึ่งหลายคนมีภารกิจ และแจ้งแล้วว่า ไม่พร้อม บางคนเดินทางไปต่างจังหวัด ขอให้ไปใหม่ ซึ่งจะมีการนัดในวันที่ 20 ก.ย. ข่าวที่ออกมาว่านายจ้างไม่ไปไม่ถูกต้องยืนยัน ทุกคนมีงานทำ ขอให้ไม่เรียกปุ๊บปั๊บ

นายเกรียงไกร ยังขอยึดหลักการถูกต้องเหมาะสม เข้าใจทุกฝ่าย ทาง ส.อ.ท. เห็นใจ แต่เศรษฐกิจต้องขับเคลื่อนได้ ควรมีการมองทุกมิติ โดยความสามารถในการแข่งขัน ควรเป็น Priority รึเปล่า การขึ้นควรตามอนุไตรภาคี หวังว่าทุกฝ่ายจะคุยด้วยเหตุผล

และ ส.อ.ท. ขอพิจารณาการปรับค่าแรงให้เป็นแบบ Pay by skill อุตสาหกรรมครึ่งนึงเป็นการยกระดับไม่ได้ใช้แรงงานเข้มข้น พร้อมจ่าย 700-900 ต่อวันมานาน แต่หาคนไม่ได้ หน่วยงานที่มีหน้าที่ยกระดับฝีมือควรยกระดับฝีมือแรงงานที่คนต้องการ ผมมองว่า จะเป็นการแก้ปัญหาตรงจุด

ความชัดเจนไตรภาคีคือครอบคลุมทั้งจังหวัด แต่ควรเป็น Pay by skill บางทีจ่ายได้เป็นเท่าตัวขอให้มีคน ผมว่าต้องคุยเพื่อปรับจูน จะได้ไม่เป็นวิวาทะกัน

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ส.อ.ท.หารือหมดแล้ว แต่กลุ่มเปราะบางอาจไปต่อไม่ได้ อาจต้องเลิกกิจการ ได้อย่างแต่เสียเยอะคุ้มหรือไม่ สามารถชั่งน้ำหนักคำนวณได้หมด

ส่วนบางจังหวัดที่มีการประกาศไปแล้ว ข้อเท็จจริงที่ประกาศทุกวันนี้ ถ้าอุตสาหกรรมต้องการใช้คน เป็นการซื้อตัว ผู้ประกอบการจ่ายได้ เช่น โรงแรม 4-5 ดาวไม่มีใครจ่าย 400-500 บาท แต่การจ่ายที่เพิ่มขึ้น เป็นการสมยอมวิน-วิน สองทั้งสองฝ่าย แต่ช่วงเวลาการฟื้นตัวยังไม่เหมาะสมหรือไม่

ส่วนมาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต มองว่า มีการเปลี่ยนช่วงเวลาระบบการแจกเงินเปลี่ยนต้องติดตาม แต่จะทำอะไรก็รีบทำ และการแจกเงิน ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลวอลเล็ตหรือเงินสด มองว่า เป็นงบประมาณที่กันไว้แล้ว เป็นเรื่องที่ดี เศรษฐกิจฟื้นตัว

ส่วนการหารือ ระหว่าง รมว.พาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ขอให้ลดอัตราดอกเบี้ย มองว่า ต้นทุนการเงินเป็นต้นทุนที่สูง ภาวะเงินเฟ้อสหรัฐ ถึงเวลาที่เฟดอาจจะต้องประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ทิศทางดอกเบี้ยขาลงทั่วโลก และค่าเงินบาทแข็งค่าที่ไม่เป็นคุณกับการส่งออก การหารือขอให้ออกมาดี และขอให้ทุกภาคส่วนระดมสมองและช่วยกัน

 

อ่านข่าว :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง