ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คลิปเสียง “ลุงป้อม” โผล่ กับปมฝีมือใคร-หวังอะไร

การเมือง
12 ก.ย. 67
16:26
2,157
Logo Thai PBS
คลิปเสียง “ลุงป้อม” โผล่ กับปมฝีมือใคร-หวังอะไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การมีคลิปเสียง-คลิปภาพ โผล่ปรากฏในโลกโซเชียลในยุคสมัยปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องแปลก เรื่องคลิปเสียง “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เช่นเดียวกัน

แต่ที่แปลกคือมีคลิปเสียงถึง 4 คลิป แต่ละคลิปเป็นคนละเรื่อง คนละเหตุการณ์ กลับถูกเผยแพร่ในวันเดียวกัน แทบจะเวลาเดียวกัน ผ่านสื่อเดียว ไม่มีปรากฎในสื่ออื่นในช่วงเวลานั้น ถือเป็นเรื่องแปลก

ยังไม่นับข้อน่าสงสัย ใครอยู่เบื้องหลังการเผยแพร่คลิปดังกล่าว และด้วยจุดประสงค์ใด ซึ่งคำถามหลังน่าจะมีคำตอบเบื้องต้นอยู่แล้ว คือดิสเครดิตความน่าเชื่อถือของ “ลุงป้อม” เพราะแต่ละคลิป ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก

ถึงแม้ว่าคนในพรรคพลังประชารัฐ จะชิงออกโรงปฏิเสธ และอ้างว่าเป็นการใช้เอไอเพื่อเลียนแบบเสียง “ลุงป้อม” ไม่ใช่เสียงพูดจริงของ “ลุงป้อม” จริง แต่อย่างน้อย 1 คลิป เกี่ยวข้องกับเรื่องแต่งตั้งตำแหน่งในบางกระทรวงนั้น

นายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกมายอมรับกับสื่อแล้วว่า เป็นเสียงของตน สมัย พล.อ.ประวิตร กำกับดูแลฝ่ายความมั่นคง และดูแลกระทรวงมหาดไทย เป็นการรายงานก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่ง พล.อ.ประวิตรต้องให้ความเห็นชอบ

เท่ากับมีการพูดคุยกันจริงกับ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักแน่ ๆ ในการปล่อยเสียงทั้ง 4 คลิป

เป็นปฏิบัติการ “เอาคืน” พล.อ.ประวิตร ในช่วงจังหวะเวลาเจอกับมรสุมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ประดังประเดเข้าใส่ ทั้งจากเรื่องขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ กระทั่งแตกหักแบ่งเป็น 2 ฝ่าย 2 ขั้วชัดเจน โดยฝ่ายหนึ่งยังอยู่กับรัฐบาล แต่อีกฝ่ายหนึ่ง นำโดย “ลุงป้อม” ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน

และปมขัดแย้งภายนอกกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่มี “แค้นฝังหุ่น” กันมาก่อน ตั้งแต่เคยถูกแฉว่า “ลุงป้อม” เกาะโต๊ะขอตำแหน่ง ผบ.ทบ. และถูกแฉซ้ำต่อภาค 2 อีก เรื่องขอเป็นประธาน ป.ป.ช.เมื่อเกษียณอายุราชการ แต่ไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย

ยังไม่นับเรื่องถูกมองว่าอยู่เบื้องหลัง (อดีต) สว.40 คน ที่ยื่นคำร้องสอยนายเศรษฐา ทวีสิน ลงจากเก้าอี้นายกฯ หลังจากไม่ยอมไปร่วมโหวตเสียงให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ ในการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันเดียวกันกับที่นายทักษิณเดินทางกลับประเทศ

ที่สำคัญกว่านั้น ในวันประชุมโหวตเลือก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ทายาททางการเมืองของนายทักษิณ “ลุงป้อม” ก็ไม่ยอมไปร่วมประชุม เพื่อโหวตเสียงให้อีกเช่นเคย ทั้งที่เป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล

จนเป็นที่มาของการถูกขับจากพรรคร่วมรัฐบาล ไปเป็นฝ่ายค้าน และเป็นจุดเริ่มต้นของการยื่นเรื่องร้องสอย น.ส.แพทองธาร ทั้งผ่านทางกกต.และ ป.ป.ช.หลายวันติดต่อกันของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ หนึ่งในนักร้องเรียนชั้นแถวหน้าของไทย และเป็นหนึ่งในชุดที่ยื่นเรื่องร้องสอยนายทักษิณ ปมซุกหุ้นภาคแรก สมัยเป็นนายกฯ

แม้นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค มือกฎหมายคนสนิทของ “ลุงป้อม” จะอ้างในการตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า นายเรืองไกรยื่นร้องในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐและ “ลุงป้อม” แต่ใครจะเชื่อ เพราะนายเรืองไกรเป็นสมาชิกของพรรค พปชร.

นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่า การปล่อยคลิปเสียง “ลุงป้อม” เป็นหนึ่งในวิธีการต่อสู้กัน ระหว่างนายทักษิณกับ พล.อ.ประวิตร

โดยเฉพาะหลังจาก พปชร.ยื่นเรื่องร้องต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดการกับทั้ง น.ส.แพทองธาร และพรรคเพื่อไทย จึงเป็นการตอบโต้กลับจากฝ่ายอีกหนึ่ง และน่าจะเป็นฝีมือของคนใกล้ตัว พล.อ.ประวิตร แต่ต่อมาย้ายไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม

เป็นการหวังทำลายความน่าเชื่อถือ และสร้างความหนักใจให้กับ พล.อ.ประวิตร โดยตรง รวมทั้งส่งสัญญาณเตือนให้คิดอย่างรอบคอบ หากจะเคลื่อนไหวหรือยื่นเรื่องเอาผิดกับ น.ส.แพทองธาร หรือหวังยุบพรรคเพื่อไทย จะถูกตอบโต้ด้วยกลยุทธที่รุนแรงมากขึ้น ดังมีสัญญาณแจ้งว่า เตรียมจะมียื่นเรื่องร้องให้ตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร เช่นกัน

ขณะที่ฝ่าย พล.อ.ประวิตร ซึ่งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า อยากเป็นนายกรัฐมนตรี แต่บารมีและความเป็นไปได้ เรื่องเสียงสนับสนุนมีไม่เพียงพอ แต่ยังไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจ

ด้านหนึ่งจึงต้องใช้เงื่อนไขภายใต้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ดำเนินการและตอบโต้ โดยเฉพาะการยื่นเรื่องร้องเรียนหวังสอย น.ส.แพทองธาร จึงกลายเป็นทั้ง 2 ฝ่าย ต่างต้องงัดและสรรหาวิธีการกดดันและโต้ตอบกันต่อไปไม่รู้จบ

ซึ่งในทัศนะของนายพิชาย กลับมองว่า เป็นเพียงการสร้างความบันเทิงให้ประชาชน และสะท้อนให้เห็นธาตุแท้ในกระบวนการต่าง ๆ ของนักการเมือง ที่ออกไปทางชวนสมเพชไม่น้อยทีเดียว

เพียงแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฝ่ายการเมืองหรือคู่กรณี พึงจะรู้ตัวว่า ถูกมองเรื่องดังกล่าวนี้ด้วยความรู้สึกอย่างไร ในยุคสมัยที่ผู้คนเรียนรู้เท่าทันล่วงหน้าไปไกลแล้ว หรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง