"ยางิ" อ่อนกำลัง กรมชลฯ เร่งเก็บกักน้ำ สำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้า

ภูมิภาค
9 ก.ย. 67
17:20
307
Logo Thai PBS
"ยางิ" อ่อนกำลัง กรมชลฯ เร่งเก็บกักน้ำ สำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ยางิ" อ่อนกำลัง กรมชลฯ ตั้งรับบริหารจัดการน้ำสอดคล้องฝน ควบคู่ไปกับการเก็บกัก สำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้า ขณะที่กรมอุทกศาสตร์ คาดการณ์ 14 -22 ก.ย. น้ำทะเลหนุนอีกครั้ง ส่งผลระดับน้ำในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยกตัวสูงขึ้น

วันนี้ (9 ก.ย.2567) ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 49,392 ล้าน ลบ.ม. (65% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 26,945 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 15,006 ล้าน ลบ.ม. (60% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 9,865 ล้าน ลบ.ม.

ด้านสถานการณ์น้ำส่วนใหญ่ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝน ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า "พายุไต้ฝุ่นยางิ" ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเหนือมีฝนตกเพิ่มในช่วง 2 วันนี้ (9-10 ก.ย.67) โดยหลังจากนี้ปริมาณฝนทางตอนบนจะเริ่มลดลง จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ตอนบน พิจารณาเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝน เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า

เตือนอีสานตอนบน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ

ส่วนทางพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 13 -15 ก.ย.นี้ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก ให้พิจารณาพร่องน้ำตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ พร้อมแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดให้ได้มากที่สุด 

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา หลายพื้นที่สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยังคงเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางรวม 10 จังหวัด กรมชลประทาน ยังคงให้ความช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำในอัตราเดิม 1,498 ลบ.ม./วินาที

ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดเขื่อนเจ้าพระยาคงการระบายน้ำในอัตราเดิม 1,498 ลบ.ม./วินาที ต่อเนื่องมาแล้ว 1 สัปดาห์ เนื่องจากระดับน้ำทางตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะคงการระบายน้ำในอัตรานี้ พร้อมเร่งการระบายน้ำทางแม่น้ำสายหลักออกสู่อ่าวไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 14 -22 ก.ย.67 จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ จ.ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ยกตัวสูงขึ้น จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเฝ้าระวังระดับน้ำในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

"ชัยนาท" ชาวนาเร่งเกี่ยวข้าวรับมือน้ำหลาก

หลายจังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือ หลังเขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำท้ายเขื่อนอยู่ที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่อเนื่องเป็นวันที่ 7

ชาวนาใน อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เร่งเก็บเกี่ยวข้าวที่เข้าอายุเกณฑ์เพื่อเลี่ยงปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่เกษตร หลังกรมชลประทานมีแผนเตรียมผันน้ำเข้าทุ่ง เพื่อป้องกันความเสียหายกับพื้นที่เศรษฐกิจและกรุงเทพมหานคร

ชาวนา บอกว่า ปีนี้น้ำมาเร็วประกอบกับฝนตกชุกในพื้นที่ทำให้หลายคนเริ่มไม่วางใจสถานการณ์ จึงต้องรีบจองคิวรถเกี่ยวข้าว ก่อนที่ผลผลิตจะได้รับความเสียหาย

ขณะที่ สถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยา ที่ จ.ชัยนาท เช้าวันนี้ยังคงอัตราการระบายท้ายเขื่อน ไว้ที่ 1,500 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที ต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 และมีแผนปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำแบบขั้นบันได ถึงเกณฑ์ 1,700 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที เพื่อเตรียมรับมวลน้ำเหนือจากอิทธิพลของพายุยางิ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

"อ่างทอง" ประสบปัญหาน้ำท่วมแล้ว 7 หมู่บ้าน

ที่ จ.อ่างทอง ชาวชุมชน หมู่ที่ 9 ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ถูกน้ำในแม่น้ำน้อย หลากเข้าท่วมพื้นที่มานานเกือบ 2 สัปดาห์ สภาพน้ำเริ่มเน่า มีเศษขยะ และซากสัตว์ ลอยมาติดตามบ้านเรือนส่งกลิ่นเหม็นทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านยังกังวลสัตว์มีพิษที่หนีน้ำเพราะชุมชนมีทั้งเด็กและผู้สูงอายุ เกรงว่าจะได้รับอันตราย จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ สำหรับ จ.อ่างทอง มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมรวม 7 หมู่บ้าน ใน ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ จำนวน 220 หลังคาเรือน

ผู้ว่าฯสิงห์บุรี แจ้งเตือนให้ประชาชนรับมือน้ำหลาก

ส่วนที่ จ.สิงห์บุรี นายสุเมธ ธีรนิติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ยืนยันว่า ภาพรวมของจังหวัด ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากนัก แต่ได้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยติดริมน้ำ เตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะ บริษัท ห้างร้าน กระชังปลา ที่ประกอบกิจกรรมในลำน้ำ ให้เฝ้าติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

อ่านข่าว : ขีดเส้น 30 ก.ย. พนง.ตั้งฮั่วเส็ง ร้องจ่ายค่าจ้างค้าง-ชดเชย

มุมกลับ "HUB การศึกษา" ชาวต่างชาติ แห่เรียนมหาวิทยาลัยไทย

"ต้นโพธิ์" ต้นไม้แห่งการตรัสรู้ในยุคที่วิถีเมืองเปลี่ยนไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง