ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มุมกลับ "HUB การศึกษา" ชาวต่างชาติ แห่เรียนมหาวิทยาลัยไทย

สังคม
9 ก.ย. 67
14:03
2,155
Logo Thai PBS
มุมกลับ "HUB การศึกษา" ชาวต่างชาติ แห่เรียนมหาวิทยาลัยไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นับแต่ปี 2562 มีนักศึกษาจีน เลือกศึกษาต่อในอาเซียนมากกว่า 90,000 คน ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในสิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม และในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า ไทยกลายเป็น HUB ด้านการศึกษาแห่งหนึ่งในเอเซีย แต่ละปีจะมีนักศึกษาต่างชาติ เข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะชาวจีนที่นิยมส่งลูกหลานเข้ามาเรียนในไทย และติด 1 ใน 10 ประเทศ ถือเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจ ปัจจุบันยังพบ นักศึกษาประเทศอื่น ๆ รวมทั้งกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง สมัครเรียนในคณะต่าง ๆ ตามมหาวิทยาลัยของรัฐ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด แทบทุกปีการศึกษา

"ไทย" นอกจากเป็นหมุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวแล้ว พบในแต่ละปีจะมีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในประเทศไทยจำนวนมาก ข้อมูลเว็บไซต์สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา สำนักงาน วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เมื่อเดือน มี.ค.2566 ระบุว่ามีนักศึกษาต่างชาติกว่า 190 ประเทศเข้ามาเรียนในสถาบันอุดมศึกษาของไทย โดยในปีการศึกษา 2561 มีจำนวนรวม 23,257 คน ปีการศึกษา 2562 มีจำนวนรวม 24,934 คน ปีการศึกษา 2563 มีจำนวนรวม 27,897 คน ปีการศึกษา 2564 มีจำนวนรวม 27,625 คน

และปีการศึกษา 2565 มีจำนวนรวม 34,202 โดยชาวจีนคิดเป็นสัดส่วนของนักศึกษาต่างชาติในไทยเกินครึ่ง ปี 2565 มีชาวจีนที่เรียนศึกษาอยู่ในไทยจำนวน 21,419 คน อันดับ 2 เป็นนักศึกษาจากเมียนมา มีจำนวน 3,708 คน และอันดับ 3 เป็นนักศึกษากัมพูชา จำนวน 1,443 คน

"นักศึกษาจีน" เรียนมหาวิทยาลัยไทย "ทุกระดับปริญญา"

ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (วันที่ 21 มี.ค.2567) ระบุว่า ปีการศึกษา 2566 ภาคการเรียนที่ 1 มีจำนวนนักศึกษาทั่วประเทศ 1,728,143 คน จำนวนนี้ เป็นนักศึกษาจีนทุกระดับปริญญาจำนวน 23,770 คน ตามด้วยนักศึกษาจากเมียนมา จำนวน 7,036 คน, กัมพูชา จำนวน 1,499 คน, ลาว 643 คน, เวียดนาม 618 คน, ฟิลิปปินส์ 568 คน, อินโดนีเซีย 546 คน, มาเลเซีย 210 คน, สิงคโปร์ 60 และ บรูไน 8 คน

ขณะที่ข้อมูลจากสถานทูตจีน คาดการณ์ว่า อาจมีชาวจีนที่ถือพาสปอร์ตจีน เข้าศึกษาอยู่ในไทยทุกระดับชั้น อยู่ที่จำนวนกว่า 50,000 คน ส่วนใหญ่มาจาก มณฑลยูนนาน, เสฉวน และ มณฑลอานฮุย, กวางสี ที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน รองลงมาเป็นมณฑลซานตง กวางตุ้ง ปักกิ่ง

ข้อมูลจากเพจลุยจีน ชี้ว่า ปัจจุบันจีนมีข้อจำกัดในการเข้ามหาวิทยาลัยของนักศึกษา เนื่องจากที่นั่งที่มีจำนวนจำกัด โดยทุก ๆ ปี หลังการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจีนหรือ "เกาเข่า" 高考 จะมีนักศึกษาที่ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้จำนวน 2,000,000-3,000,000 คน ทำให้นักศึกษาบางส่วนต้องเลือกไปศึกษาต่อต่างประเทศ และไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกนั้น เพราะค่าครองชีพที่ครอบครัวของชนชั้นกลางจีนทั่วไป สามารถจ่ายได้

สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะตกปีละ 30,000 หยวน หรือประมาณปีละ 150,000 บาท นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรให้เลือกมากมาย ส่วนกฎระเบียบในมหาวิทยาลัย หากเปรียบเทียบกับระหว่างที่ศึกษาในจีนและไทยแล้ว นักศึกษามีความเป็นอิสระมากกว่า ข้อมูลยังระบุอีกว่า หากประเมินธุรกิจด้านการศึกษา มีการประมาณการณ์ว่า นักศึกษาจีน สร้างรายได้ให้ไทยขั้นต่ำปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท

ข้อมูลจาก อว.ระบุอีกว่า หลักสูตรที่นักศึกษาจีนนิยมศึกษาต่อ คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการค้า การจัดการ ธุรกิจระหว่างประเทศ การตลาด บัญชี ซึ่งสถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน หลายแห่งมีการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน 2 ปริญญา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ส่วน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และวิทยาลัยเอกชน เช่น วิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด รวมทั้งสถานศึกษานอกสังกัด เช่น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

โดยมหาวิทยาลัยไทยที่มีนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียนมากที่สุดเรียงตามลำดับ คือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC), มหาวิทยาลัยเกริก, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด, มหาวิทยาลัยชินวัตร, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

"กรุงเทพ-ปริมณฑล" พื้นที่ฮิต นักศึกษาต่างชาติ

รายงานการศึกษาเบื้องต้นว่าด้วย "นักศึกษาจีนในไทย" ของ ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ และ ดร.กรองจันทน์ จันทรพาหา นักวิจัยประจำศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่า กรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นพื้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากตั้งอยู่ศูนย์กลางของประเทศ สะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต และมีสถาบันการศึกษาที่มีเชื่อเสียงหลายแห่ง

ส่วนภาคเหนือเนื่องจากอยู่ใกล้จีน การเดินทางจึงสะดวกสบายทั้งทางบกและอากาศ และมีสภาพอากาศที่ดี ค่าครองชีพไม่สูงมาก และมีชุมชนชาวจีนอพยพตั้งรกรากในภาคเหนือ และสถาบันการศึกษาหลายแห่งมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีน ทำให้หลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยมของนักศึกษาจีน

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากภาคอีสานมีบทบาทสำคัญขึ้นจากการเป็นประตูสู่อาเซียน มีรถไฟเชื่อมไทย จีน และอาเซียน ถึงแม้จะไม่มีปัจจัยดึงดูดด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว แต่ก็เป็นพื้นที่สงบ ส่วนใหญ่ที่เลือกมาเรียนก็มาจากการชักชวน และมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีน

ขณะที่ภาคใต้มีนักศึกษาจีนน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงเพียงแค่ไม่กี่แห่ง อีกทั้งอยู่ไกลจากจีน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง และชาวจีนกังวลเรื่องความปลอดภัย

ในส่วนของสถาบันการศึกษาไทยหันมาเปิดรับนักศึกษาจีนเพิ่มมากขึ้นถึง 102 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น สถาบันในกรุงเทพฯ ปริมณฑล 50 แห่ง โดยพบนักศึกษาชาวจีน จำนวน 5,355 คน ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเอกชน 20 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80 ของจำนวนนักศึกษาชาวจีนจากมหาวิทยาลัยทุกสังกัดรวมกัน

ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สป.อว.) เปิดข้อมูลจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาไทยสังกัดกระทรวง อว. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551-2565 ภาคการศึกษาที่ 1 อัพเดตเมื่อเดือน มี.ค.2566 ข้อมูลปีการศึกษา 2566 ภาคการเรียนที่ 1 กำหนดการเก็บข้อมูล ณ วันที่ 10 พ.ย.2566 จำนวน 1,728,143 คน โดย 10 ประเทศที่มีจำนวนนักศึกษามาเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาไทยมากสุด ดังต่อไปนี้

หลากสาขา ค่าเรียนไม่แพง คุณภาพชีวิตดี

Yang Xiaofeng ผู้วิจัย "ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อนักศึกษาจีนในการเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาตรี" มหาวิทยาลัยเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประเทศไทย บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปีการศึกษา 2565 ระบุ ตอนหนึ่ง ว่า ปัจจัยการเพิ่มขึ้นของนักศึกษาชาวจีนในไทย เกิดจาก มหาวิทยาลัยของจีนมีข้อจำกัดในการรองรับนักศึกษา การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ ของประเทศจีนเป็นการแข่งขันที่สูงมาก โดยใช้ระบบ "Gaokao" ที่สอบเพียงปีละครั้ง โดยเฉลี่ยต่อปี จะมีผู้สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่เกิน 3,000,000 คน จึงยังมีผู้ต้องการเข้าเรียนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าเรียน

ค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่อในไทย ประมาณปีละ 30,000 หยวน ขึ้นไป ชนชั้นกลางในประเทศจีนจึงสามารถจ่ายได้ ส่วนไทยที่หลักสูตรมีให้เลือกเรียนหลากหลายด้าน โดยมีให้เลือกหลายภาษา เช่น จีน ไทย อังกฤษและมีหลายสาขา หลายหลักสูตร และไทยมีสถานที่ท่องเที่ยว สังคมวัฒนธรรม อาหาร หรือแม้แต่ดารา ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ของไทยที่ชาวจีนนิยมมาก เป็นแรงจูงใจให้นักศึกษาอยากมาเรียนในไทย นอกจากนี้เรายังชื่อเสียงในด้านคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย

การจัดการศึกษามี คุณภาพ และไทย-จีน มีความสัมพันธ์ยาวนาน ทำให้ผู้ปกครองของนักศึกษาชาวจีนส่วนใหญ่สนับสนุนให้ลูกหลานจีนมาเรียนต่อในประเทศไทย กฎระเบียบการทำวีซ่าของไทย ยังไม่เข้มงวดมากจนเกินไป หลังเรียนจบมีโอกาสในการประกอบอาชีพ อันเกิดจากความร่วมมือไทย-จีนภายใต้ ภายใต้ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) โดยนักศึกษาจีนที่มาจากภูมิภาค อื่นๆจะเลือกศึกษาในสถาบันของรัฐ  โดยพิจารณาจากชื่อเสียงของสถาบัน หลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอน โอกาสในการสำเร็จ การศึกษา และจังหวัดที่ตั้งของมหาลัยหลัก ขณะที่นักศึกษาจีนจากเขตเมือง จะเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน 

นักศึกษาจีนจะเข้ามาพักอาศัยและเรียนจนครบหลักสูตร 4 ปี เกือบทั้งหมดมีแหล่งทุนการศึกษาเป็นทุนส่วนตัว และส่วนใหญ่มีรายได้ที่ได้รับต่อเดือน มากกว่า 15,000 บาท

ในขณะที่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งของ ไทยพีบีเอสออนไลน์ พบว่า นอกจากการเข้ามาเรียนในระดับอุดม ศึกษาของนักศึกษาต่างชาติในไทยแล้ว สิ่งที่แฝงอยู่ คือ work permit คือ ใบอนุญาตทำงานหรือใบอนุญาตประกอบอาชีพสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นเอกสารสำคัญ เมื่อต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อทำธุรกิจ กิจการหรือแม้แต่การเป็นลูกจ้างตามระยะเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้ยังอีกว่า มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อย ที่เข้ามาประกอบอาชีพ ขายอาหาร นำเข้าสินค้าจากจีนเข้ามาจำหน่าย รับจ้างหิ้วของเข้ามา แม้จะมีการซื้อสินค้าไทยอยู่บ้าง แต่ก็มักจะใช้สินค้าของจีน ที่หาซื้อได้ง่ายในร้านซูเปอร์จีนมากกว่า

หลักสูตรอินเตอร์ รองรับนักศึกษาตะวันออกกลาง

ไม่เพียงนักศึกษาจีนเท่านั้น ปัจจุบันพบว่า ยังมีนักศึกษาต่างชาติอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาเรียนตามสถาบันอุดมศึกษาในไทย เช่น กลุ่มตะวันออกกลาง มี ชาวปากีสถาน ในปีการศึกษา 2565 มีผู้สำเร็จการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และเอกชน รวมทั้งสิ้น 34 คน อีกทั้งปัจจุบันยังมีชาวปากีสถานกำลังศึกษาอยู่ในประเทศไทย ทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ในมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ไทยและปากีสถานได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี พ.ศ.2494 ทั้ง 2 ฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น มีการเยือนระดับสูงทั้งในระดับราชวงศ์และในระดับผู้นำ และมีการขยายความร่วมมือครอบคลุมในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระดับประชาชน โดยปากีสถานเป็นคู่ค้าลำดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้

ในปีการศึกษา 2567 พบข้อมูลการสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาชาวปากีสถาน ในมหาวิทยาลัยรัฐบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ในหลักสูตรตามคณะต่าง ๆ เกือบ 300 คน โดยใช้วิธีการสมัครออนไลน์เข้ามา แต่หลังจากมีการตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้มีสิทธิสอบแล้ว จำนวนนี้สามารถสอบเข้าเรียนได้ 13 คน ในหลักสูตรที่เลือก และยังไม่พบความผิดปกติใด ๆ

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การเข้ามาของศึกษาต่างชาติในไทย หรือ นักศึกษาไทยเดินทางไปเรียนต่างประเทศ ไม่ใช่สิ่งปกติ กรณีนักศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปเรียนที่ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ หรือ ปากีสถาน

ไม่อยากให้เอามุมมองปัญหาความมั่นคงไปจับผิด แต่ควรมองเจตนาที่นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในไทยว่า อาจได้รับทุนการศึกษา หรือมีเหตุความไม่สงบในประเทศ การสู้รบ สงคราม จึงทำให้ไม่สามารถศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง ต้องหาทางมาเรียนในประเทศที่มีมาตรฐานการศึกษา

พญ. เพชรดาว กล่าวว่า สิ่งที่ควรติดตาม คือ หลังนักศึกษาจบการศึกษาไปแล้ว มีโอกาสได้เข้าทำงานที่ไหน มีใบประกาศวิชาชีพรองรับหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันระบบการศึกษาของไทยก้าวหน้าไปมาก มีหลักสูตรอินเตอร์รองรับนักศึกษาต่างชาติ มีการขยายหลักสูตรการศึกษาในคณะต่าง ๆ ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชน ถือเป็นโอกาสที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะได้รับด้วย

"ยกตัวอย่าง ตัวเองเลย แม้จะจบแพทย์จากมาเลเซีย แต่ทำงานที่มาเลเซีย ไม่ได้ ต้องสอบใบประกาศโรคศิลป์ก่อน เช่นเดียวกัน หากจะมาทำงานที่ไทย แพทย์ก็ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ เพราะแต่ละประเทศจะมีกฎระเบียบ กติกาแตกต่างกัน ถ้าเรามองว่า การเข้ามาของนักศึกษาจากประเทศต่าง ๆ จะกระทบเรื่องความมั่นคง มุมเดียว ประเทศก็จะเสียโอกาส” แพทย์หญิง เพชรดาว ระบุ

ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ตั้งข้อสังเกตว่า นักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่จะถือวีซานักศึกษา หรือวีซาครอบครัว ในกรณีที่มีผู้ปกครองมาอยู่ด้วยในระยะเวลา 5 ปี และสามารถต่อและขยายเวลาได้ อยู่นานไปจะได้ใบอนุญาตหรือ และถือโอกาสทำธุรกิจ ค้าขาย กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน

ส่วนนักศึกษาที่มาจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็น อียิปต์ ปากีสถาน จอร์แดน อินเดีย ก็มีเข้ามา แต่ยังมีไม่มากนัก ไม่มีการจับผิด หรือเข้าไปตรวจสอบ เขาอาจเข้ามาเป็นนักศึกษาโครงการแลกเปลี่ยน หรือเป็นนักศึกษาที่สมัครเข้ามาเรียนหลักสูตรอินเตอร์ปกติทั่วไป 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ฝ่ายความมั่นคงไม่ว่าจะเป็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ได้จับตามองอย่างใกล้ชิด โดยมีแผนปกติทั่วไป ในการควบคุมดูแลนักศึกษาไทยที่เรียนอยู่ต่างแดนอยู่ และนักศึกษาต่างแดนที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว

"ที่ผ่านมา ไทยจะถูกใช้เป็นแหล่งกบดานของคนร้ายที่เข้ามา เราไม่ได้มองเรื่องนักศึกษาที่เข้ามา แต่จะตรวจสอบเข้มข้นในเรื่องแหล่งเงินทุน ของกลุ่มที่ใช้ไทยเป็นฐานในการสร้างแหล่งทุนและผลิตเม็ดเงิน เป็นการเอาเงินมาลงทุน ซึ่งไม่ได้เข้ามาลงทุนในไทย แต่จะใช้เราเป็นฐานดำเนินการ และเอาเงินไปใช้ในการก่อการร้ายในประเทศอื่นมากกว่า” แหล่งข่าวระบุ

อ่านข่าวอื่น :

กลุ่มต่อต้านระบบทักษิณจองกฐินถาโถม "รัฐบาลแพทองธาร"

"แพทองธาร" ขนชุดโต๊ะทำงานมาเอง ปรับฮวงจุ้ยตั้งทิศใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง