ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รวบนักธุรกิจจีนฆ่าเมียบนเกาะสมุย รอดหมายจับนาน 12 ปี

อาชญากรรม
6 ก.ย. 67
17:45
1,123
Logo Thai PBS
รวบนักธุรกิจจีนฆ่าเมียบนเกาะสมุย รอดหมายจับนาน 12 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักธุรกิจชาวจีน ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมอำพรางหญิงชาวจีนวัย 35 ปี ในสระว่ายน้ำบ้านพักหรูแห่งหนึ่งบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนมกราคม 2556 ถูกตำรวจท้องถิ่นจับกุมที่เมืองเซินเจิน ประเทศจีน วันที่ 14 มี.ค. 2567 ข้อหาเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมภรรยาชาวสวีเดน และฆ่าหั่นศพคนใกล้ชิดสัญชาติจีน ในปี 2546 ที่เมืองสตอล์คโฮม ประเทศสวีเดน

แม้หลักฐานการเสียชีวิตของ นางหลิน หลิน เมื่อ 18 ม.ค. 2556 ชี้ไปที่คดีฆาตกรรม แต่ในปีนั้นมีตำรวจ 4 หน่วยงาน รับทำสำนวนการสอบสวน ก่อนเป็นคดีพิเศษ แต่ภายหลังพนักงานสอบสวนให้ความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” ทำให้นายหลิน โหย่ว หลุดพ้นกระบวนการยุติธรรม และเดินทางออกจากประเทศไทย

ครอบครัวชาวจีน ใช้เวลากว่า 3 ปีนับจากวันที่ลูกสาวเสียชีวิต เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมขอให้รื้อฟื้นคดี จนศาลจังหวัดเกาะสมุยประทับรับฟ้องคดีนักธุรกิจชาวจีนฆาตกรรมภรรยาอีกครั้งในปี 2558 โดยมีนายหลิน กั๋วเหิง พ่อของนางหลิน หลิน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาด้วยตัวเอง แต่กลับไม่พบนายหลิน โหย่ว ในวันนัดจำเลยมาให้การในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง

18 ม.ค.2556 
สถานที่เกิดเหตุ เกาะสมุย ประเทศไทย

18 ม.ค.2556 สถานที่เกิดเหตุ เกาะสมุย ประเทศไทย

 

คดีฆาตกรรมนางหลิน หลิน ถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง ในปี 2558 หลังจากครอบครัวผู้ตาย ทำจดหมายร้องเรียนส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรื่อง การดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ไม่เป็นธรรม

ครอบครัวชาวจีน เดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูกสาว หลังมั่นใจว่าคดีพลิก ไม่เป็นธรรม


เนื้อหาในข้อร้องเรียนตอนนั้น ระบุถึงความไม่เป็นธรรมที่ได้รับ เริ่มตั้งแต่พนักงานสอบสวน สภ.เกาะสมุย เจ้าของคดี แจ้งข้อกล่าวหานายหลิน โหย่ว ข้อหาฆาตกรรมนางหลิน หลิน กลับมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และก้าวก่ายสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนท้องที่

 

จดหมายร้องเรียน อ้างหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ทั้งสองหน่วยงานใช้งบประมาณของผู้ต้องหา นายหลิน กั๋วเหิง จึงร้องเรียนเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา

ในเวลาเดียวกัน นายหลิน โหย่ว เดินเรื่องขอโอนสำนวนการสอบสวนไปที่กองบังคับการตำรวจกองปราบปราม ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่นายหลิน กั๋วเหิง มองว่าผิดปกติ จึงทำหนังสือไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ทบทวนคำขอของนายหลิน โหย่ว

 

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น มีคำสั่งตั้งคณะทำงานร่วมสอบสวน โดยมีพล.ต.อ.รชต เย็นทรวง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน

 

จากนั้น นายหลิน โหย่ว ได้ร้องให้โอนสำนวนการสอบสวนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมี พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน เป็นพนักงานสอบสวน และสรุปสำนวน มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้นายหลิน โหย่ว ได้รับอิสรภาพตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2556

มีคำถามและข้อสงสัยจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า เหตุใดคดีฆาตกรรมที่ดูไม่มีเงื่อนงำ และมีพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าใครเป็นคนร้าย แต่กลับได้รับความสนใจจากพนักงานสอบสวนหลายหน่วยงานเข้าดำเนินคดี แม้เป็นการร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรมของแต่ละฝ่าย จนอาจเรียกได้ว่า แย่งกันทำสำนวนการสอบสวน

ปี 2546 นายหลิน โหย่ว ถูกหมายจับตำรวจสากล ข้อหาจ้างวาน สนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

 

นางเวโรนิก้า หลิน ภรรยาชาวสวีเดนของนายหลิน โหย่ว คนก่อนหน้านางหลิน หลิน เสียชีวิตจากการถูกมีดแทงหลายแผล ที่บ้านในเมืองสตอล์คโฮม ประเทศสวีเดน และพบศพ เพื่อนบ้านสัญชาติจีน ถูกหั่นศพฝังไว้บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุ

คดีฆาตกรรม 2 ศพ ถูกนำขึ้นในการพิจารณาคดีของศาลสูง ฐานจ้างวานฆ่า แต่คดีไม่คืบหน้า เพราะ ผู้ต้องหาหลบหนีประกันในชั้นศาล เดินทางออกนอกประเทศ ท่ามกลางการตั้งคำถามจากหลายฝ่ายถึงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งสำนักข่าวประเทศสวีเดนให้ความสนใจคดีฆาตกรรมนางหลิน หลิน ที่ประเทศไทย เนื่องจากรูปคดีคล้ายกัน ผู้ต้องสงสัยคนเดียวกัน และหลุดรอดการรับโทษไปได้เช่นเดียวกัน

“ เหตุใดผู้ต้องสงสัยคนนี้จึงหลบหนีการดำเนินคดีได้ มีอิทธิพลหรือไม่ หรือมีการเอื้อประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรม”

: สำนักข่าวประเทศสวีเดน

ส่วนการฟ้องร้องคดีแพ่ง ล่าสุดครอบครัวของนางหลิน หลิน ได้รับเงินส่วนแบ่งสินสมรสและรายได้ที่เกิดจากอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย คือ บ้านพักส่วนตัวบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี สถานที่เกิดเหตุ มูลค่าราว 60 ล้านบาท

นายหลิน โหย่ว เป็นผู้ต้องหาหมายแดงตำรวจสากล 3 ประเทศ คือสวีเดน จีน และไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมที่ศาลนครต้าเหลียน ประเทศจีน หลังจากมีข้อมูลว่านำสำนวนคดีฆาตกรรมอำพรางที่ประเทศไทยจากสำนักงานอัยการสูงสุดขึ้นประกอบการพิจารณาคดีในเดือนตุลาคม 2567

รายการเปิดปมตอน เงินซ่อนปมฆ่า ออกอากาศวันที่ 4 กันยายน 2559

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง