ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คว่ำบาตรสื่อ! สหรัฐฯ ออกมาตรการสกัด "รัสเซีย" ครอบงำเลือกตั้ง

ต่างประเทศ
6 ก.ย. 67
13:30
369
Logo Thai PBS
คว่ำบาตรสื่อ! สหรัฐฯ ออกมาตรการสกัด "รัสเซีย" ครอบงำเลือกตั้ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อสกัดรัสเซียไม่ให้แทรกแซงการเลือกตั้ง โดยพบว่าที่ผ่านมาสื่อของทางการรัสเซียได้แทรกซึมและใช้วิธีการต่าง ๆ ในการเผยแพร่ข่าวปลอมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับรัสเซีย

งานนี้สหรัฐฯ ใช้ไม้แข็งถึงขั้นดำเนินคดีกับชาวรัสเซียที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งสหรัฐฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่รอบนี้ถือว่าเป็นมาตรการชุดใหญ่ ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้รัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งได้อีก เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 8 ปีก่อน

วันนี้ (6 ก.ย.2567) มาตรการที่สหรัฐฯ ใช้ในครั้งนี้ ประกอบไปด้วยการตั้งข้อหาและคว่ำบาตรผู้บริหารอาร์ ที นิวส์ (RT News) 2 คน รวมถึงสื่ออื่น ๆ อีก 4 แห่ง ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรัสเซียและสื่อเหล่านี้ถูกสหรัฐฯ บังคับให้ขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนรัฐบาลต่างชาติ โดยผู้บริหารของอาร์ที นิวส์ ที่ถูกตั้งข้อหายังอยู่ในระหว่างการหลบหนี โดยใช้ตัวตนปลอม นอกจากนี้ยังระงับวีซาพนักงานของบริษัทและหน่วยงานด้านสื่อมวลชนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรัสเซียอีกด้วย

สำนักข่าว RT News ของรัสเซีย

สำนักข่าว RT News ของรัสเซีย

สำนักข่าว RT News ของรัสเซีย

มาตรการต่อมาคือการอายัดชื่อโดเมนอินเทอร์เน็ต 32 รายชื่อ ที่เผยแพร่ข่าวปลอมและโฆษณาชวนเชื่อในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งก่อนหน้านี้รัสเซียใช้ช่องทางดังกล่าวสร้างความชอบธรรมให้กับรัสเซียในการยกกำลังบุกยูเครนเมื่อเดือน ก.พ.2565 และคาดว่าจะแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วย

นอกจากนี้ยังตั้งเงินรางวัลนำจับ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 350 ล้านบาท เพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มแฮกเกอร์ที่มีชื่อว่า Russian Angry Hackers Did it ที่เคยเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งในหลายประเทศมาแล้วและถือเป็นคุกคามการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในปีนี้

แมร์ริค การ์แลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ แถลงถึงวิธีการแทรกแซงของรัสเซียในรอบนี้ว่าผู้บริหารของอาร์ที นิวส์ ได้ว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งในรัฐเทนเนสซีอย่างลับ ๆ เพื่อให้ทำหน้าที่เผยแพร่คลิปวิดีโอที่เผยแพร่ข่าวปลอมที่เอื้อประโยชน์ให้กับรัสเซียผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ยูทูบ ติ๊กต็อก อินสตาแกรม และ เอ็กซ์ เป็นต้น แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าการใช้วิธีนี้จะได้ผลแค่ไหน แต่พบว่าบางคลิปที่เผยแพร่ในยูทูบมียอดคนดูสูงถึง 16 ล้านวิว

แมร์ริค การ์แลนด์ รมว.ยุติธรรมสหรัฐฯ

แมร์ริค การ์แลนด์ รมว.ยุติธรรมสหรัฐฯ

แมร์ริค การ์แลนด์ รมว.ยุติธรรมสหรัฐฯ

เนื้อหาที่เผยแพร่ ได้แก่ การสร้างความชอบธรรมให้กับรัสเซียในการบุกยูเครน การชักจูงให้ชาวอเมริกันรู้สึกว่าสหรัฐฯ ไม่ควรให้การสนับสนุนยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ควรให้ความสำคัญกับปัญหาในประเทศตัวเองมากกว่า

แน่นอนว่าตลอดเวลาที่ผ่านมารัสเซียไม่เคยยอมรับว่าแทรกแซงการเมืองและการเลือกตั้งในสหรัฐฯ แม้แต่ในปี 2559 ที่ฮิลลารี คลินตัน พ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีให้กับ "โดนัลด์ ทรัมป์" ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งในตอนนั้นด้วย

โดนัลด์ ทรัมป์

โดนัลด์ ทรัมป์

โดนัลด์ ทรัมป์

ตามปกติแล้ว ผู้นำจะไม่วิจารณ์หรือแสดงความเห็นต่อผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำของประเทศอื่น แต่ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซียไม่เป็นเช่นนั้น เขามักจะพูดถึง โดนัลด์ ทรัมป์, โจ ไบเดน และ คามาลา แฮร์ริส อย่างเปิดเผย ซึ่งก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่าปูตินสนับสนุนไบเดน

เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ปูตินกล่าวในระหว่างการประชุมเรื่องความมั่นคงที่คาซัคสถาน โดยเอ่ยถึงทรัมป์ที่เคยพูดว่าหากเขาชนะการเลือกตั้ง สงครามในยูเครนจะต้องยุติลงภายใน 24 ชั่วโมงและทรัมป์มีข้อเสนอหลายอย่างที่ปูตินเชื่อว่าทรัมป์มีความจริงใจในเรื่องนี้

แต่ล่าสุดปูตินกลับเปลี่ยนท่าทีอีก มาในรอบนี้ปูตินบอกว่าจะสนับสนุนแฮร์ริสในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

คามาลา แฮร์ริส

คามาลา แฮร์ริส

คามาลา แฮร์ริส

คำพูดของปูตินในครั้งนี้ หลายฝ่ายยังไม่แน่ใจว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร ปูตินสนับสนุนแฮร์ริสจริง ๆ หรือเป็นแค่การประชดประชัน แต่ที่แน่ ๆ คำพูดของปูตินอาจจะถูกนำไปใช้ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ด้วย

ทั้งนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมรับว่าประเทศที่เป็นภัยคุกคามการเลือกตั้งและสถาบันประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ไม่ได้มีแค่รัสเซียเท่านั้น ยังมีอิหร่านและจีนที่พยายามเจาะข้อมูลจากทีมหาเสียงของทรัมป์

เทคนิคการเผยแพร่ข่าวปลอมที่ได้ผล คือ การทำเว็บไซต์ข่าวปลอมที่ออกแบบให้ดูเหมือนสำนักข่าวของจริง อย่างวอชิงตัน โพสต์ วิธีนี้ทำให้คนเชื่อข่าวปลอมได้ง่ายขึ้น

วลาดิเมียร์ ปูติน

วลาดิเมียร์ ปูติน

วลาดิเมียร์ ปูติน

แม้ว่าเป้าหมายของการแทรกแซงการเลือกตั้งคือชาวอเมริกัน แต่คนไทยที่ติดตามข่าวสารต่างประเทศก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของขบวนการเผยแพร่ข่าวปลอมได้เช่นกัน ดังนั้นควรเพิ่มความระมัดระวัง ไม่ควรโพสต์หรือแชร์ ข้อมูลที่น่าสงสัยใด ๆ ต่อ

อ่านข่าวอื่น :

"ทรงศักดิ์-ซาบีดา" ติดโควิด "อนุทิน" แจงนายกฯ ยังไม่แบ่งงานรองนายกฯ

“พิจิตร-พิษณุโลก” เร่งอพยพหนีน้ำยม-น่าน “ปลากระชัง” น็อกน้ำตายอื้อ

"มารีญา" กับแนวคิดสีเขียว One Health เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง